ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

นับจากวันที่ได้รับจดหมายจากบรรณาธิการรุ่นครู-อาจินต์ ปัญจพรรค์  ทำให้เสถียร ยอดดี มีกำลังใจสร้างสรรค์ผลงานออกมา มีเรื่องสั้นตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, สกุลไทย และ นิตยสารฉบับอื่น ทั้งในชื่อจริงและนามปากกา

ปี 2538 เขามีผลงานวรรณกรรมเยาวชนเล่มแรกเรื่อง “อ้อมสร้อย” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช  ปี 2540 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เดียวกันชื่อ “ถนนสายนั้นสีดำ” วรรณกรรมเยาวชนเล่มที่สามคือ “เพลงโหวดกล่อมนา” เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมตอนต้น  เขาเล่าถึงวรรณกรรมเยาวชนที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นว่า...

“อ้อมสร้อย เป็นเรื่องเกี่ยวกับครูคนหนึ่งสอนในโรงเรียนขยายโอกาส ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจและแรงทรัพย์ เพื่อตั้งวงแคนในโรงเรียน โดยว่าจ้างช่างทำแคนมาสอนนักเรียนและชาวบ้านทำแคน ฝึกเป่าแคน จนตั้งเป็นวงแคน แสดงในงานของโรงเรียนและอำเภอได้ โดยมีเด็กหญิงอ้อมสร้อยเป็นตัวเอกของเรื่อง มีพ่อเป็นหมอแคน เป่าแคนได้ทุกลาย ส่วนเรื่อง เพลงโหวตกล่อมนา เป็นเรื่องของดนตรีอีสานที่เป็นมหกรรมของเด็กชนบทอีสานที่ให้ความสดใส โดยสอดแทรกความเชื่อว่า ถ้าเล่นโหวตในหน้าฝน จะทำฝนแล้ง”

ในปี 2545 เสถียร ยอดดี ได้ส่งนวนิยายเข้าประกวดรางวัลสุภาว์ เทวกุล เรื่อง “ไทเผีย” ได้รับรางวัลชนะเลิศ  สร้างความภูมิใจให้กับเขามาก เพราะเป็นรางวัลที่มีชื่อเสียงรางวัลหนึ่ง โดยเอานามปากกาของนักเขียนชื่อดังในอดีตคือ สุภาว์ เทวกุล มาตั้งเป็นชื่อรางวัล

“ไทเผีย เป็นเรื่องของชนเผ่าหนึ่ง พวกเขาอาศัยอยู่บนเขาสูง” เขาเล่าถึงเรื่องราวของนวนิยายเรื่องนี้ “ มีภาษาพูดเหมือนคนหลวงพระบาง  ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า เผีย  ซึ่งเป็นเอกพจน์ แต่ถ้าใช้ว่า ไทเผีย เป็นพหูพจน์ พอเกิดทุพภิกขภัย แห้งแล้ง หนาวจัด ทำให้พวกเขาอพยพหนีภัยธรรมชาติ พวกหนึ่งข้ามโขงไปอนู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง  อีกพวกหนึ่งกระจัดกระจายไปอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในภาคอีสาน บางพวกไปอยู่ทางพิษณุโลกก็มี

สีทาเป็นเด็กที่พ่อแม่พามาอยู่แถบลุ่มน้ำห้วยดาน หนองบัวลำภู ตลอดหนึ่งปีเขาผ่านชีวิตมามากมาย บ้านแตก โรคระบาด พลัดพรากจากครอบครัวมาหลายครั้ง แต่สีทาก็ยืนหยัดต่อสู้มาได้ตั้งแต่สมัยยุครัชกาลที่ห้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งสุขและทุกข์ เรื่องไทเผียดำเนินเรื่องอยู่หนึ่งร้อยปี โดยมีตัวละครเอกชื่อสีทา ผู้ปฏิเสธลูกที่เกิดจากหญิงที่ลักลอบได้เสียกัน ทำให้เสือผ่านซึ่งเป็นลูกชายตามหาพ่อ วันสุดท้ายที่ผ่านออกจากคุกมาอยู่กับสีทาและท้องร่วงตาย เขาก็ยังไม่บอกว่า แท้จริงเขาคือพ่อของผ่าน”

เสถียร ยอดดีสรุปในตอนท้ายว่า เรื่องราวในนวนิยายเรื่อง “ไทเผีย” จบลงเมื่อสีทามีอายุได้ 100 ปีและแรงจูงใจที่ทำให้เขาเขียนนวนิยายเรื่องนี้ เนื่องจากแม่ของเขาเป็นชนเผ่าไทเผีย ชนเผ่าเก่าแก่นี้สืบทอดสายเลือดมา 2-3 ชั่วอายุคนแล้ว

ก่อนที่นักเขียนสายเลือดไทเผียผู้นี้จะส่งนวนิยายเข้าประกวดรางวัลสุภาว์ เทวกุล ในปีเดียวกันนี้เขาได้เขียนนวนิยายประจำนิตยสารบางกอกแล้วเรื่อง “ดับพญายม” ใช้นามปากกา “ชาญ นาวัง” หลังจากเขาใช้เขียน 3 เดือนจบ หลังจากนั้นเขาได้เขียนนวนิยายเรื่อง “หมัดตะลุมพุก” เป็นเรื่องต่อมา กระทั่งปี 2545 เขาสร้างนามปากกา “ยอด เดชา” ไปแสดงฝีมือในนิตยสารทานตะวัน เครือบางกอก ด้วยนวนิยายเรื่อง “อบต.เดือด” ตามด้วย “นักเลงหล่มสัก” และอีกมากมาย เมื่อถามว่าทำไมชอบเขียนเรื่องบู๊ เขาตอบว่า

“จะว่าบู๊ก็ไม่น่าจะใช่ ลุงศรี(ศรี ชัยพฤกษ์หรืออรชร)บอกว่าเรื่องแนวนี้เป็นเรื่องแนวต่อสู้ชีวิต ผสมบทตื่นเต้นมากกว่า เพราะตัวท่านเองก็ไม่ถนัดเรื่องบู๊เหมือนกัน การเขียนเรื่องยาวทำให้เราสามารถพูดสิ่งที่อยากพูดได้มากกว่า ไม่ถูกกรอบบีบบังคับ สามารถให้ตัวละครพูดแทนเราได้ ที่ผมหันมาเขียนเรื่องยาวในนิตยสารเป็นส่วนใหญ่ จะว่าเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพก็ได้”

เขาเปิดใจว่าที่จริงเขามีเรื่องเชิงสร้างสรรค์เขียนไว้แล้วหลายเรื่อง แต่ยังไม่ขัดเกลาหรือพิมพ์รวมเล่ม เพราะการนำไปพิมพ์รวมเล่มในยุคนี้ รู้สึกเบื่อหน่าย มีเสียงหัวเราะต่อท้าย โดยเขาไม่ได้ขยายความต่อว่าเพราะอะไร แต่ก็เดาออก

เสถียร ยอดดี มีผลงานรวมเล่มดังนี้ นวนิยาย-ไทเผีย รวมเรื่องสั้น-นิยายแห่งโลกตะวันออก คนนอกระบบ วรรณกรรมเยาวชน-อ้อมสร้อย ถนนสายนั้นสีดำ เพลงโหวดกล่อมนา กว่าจะเป็นหมอเพลง นิทานสายรุ้ง นวนิยายแนวโลดโผย-นักเลงหล่มสัก,ดับดาวแดง,อินทรีหิมาลัย ฯลฯ รวมบกวี-วสันตมหรสพ(ใช้นามปากกา “วชิรญาโณ”) สำหรับเล่มหลังนี้เขาบอกว่า...

“วชิรญาโณ เป็นฉายาตอนเป็นพระ บวชเรียนเป็นมหาเปรียญ แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพเกือบทั้งเล่ม มีฉันท์แค่ 3-4 บท นามปากกานี้เคยเขียนลงในมติชนรายวันแบะมติชนสุดสัปดาห์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ขวัญเรือน  มติครู  แนวหน้า แล้วก็เขียนเรื่อง ใต้เงื้อมเงากรรมกับเรื่องอื่น ๆ 2-3 เรื่องในหนังสือแนวกรรม จำชื่อหนังสือไม่ได้ครับ”

นอกจากใช้เสถียร ยอดดีในการเขียนแล้ว เขามีนามปากกาต่าง ๆ ดังนี้- วชิรญาโณ,แตงโม สีขาว(เขียนนิทานเด็กในนิตยสารขวัญเรือนและกุลสตรี) เฉิดฉันท์,อินทนิล(สองนามปากกานี้ใช้เขียนเรื่องสั้น) นกหัวขวาน(เขียนบทความในสยามรัฐรายวันและหนังสือพิมพ์อีสานเพรส) กำพร้า นาวัง(เขียนสารคดีในเนชั่นสุดสัปดาห์) สร้อยอินทนิล(เขียนบทความเชิงสารคดีในคู่สร้าง-คู่สม) ขวัญกระเจิง(เขียนเรื่องผีในนิตยสารคนเห็นผี) เปรียญธรรม เขียนเรื่องแนวกรรม) ท้าวส้อล่อ(เขียนในราบสูงของสมคิด สิงสง) ยอด เดชา ,ชาญ นาวัง(สองนามปากกานี้เขียนนวนิยายในบางกอกและทานตะวัน) ชาติ ชายชาญ(เขียนนิยายในเริงสาร)

ผลงานที่ได้รับรางวัล นอกจากนวนิยายเรื่อง “ไทเผีย” ได้รับรางวัลสุภาว์ เทวกุลแล้ว  เขาได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดต้นฉบับวรรณกรรมเยาวชนเรื่องมรดกคุณย่า รางวัลบุญพริ้ง ต.สุวรรณของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช เมื่อพิมพ์รวมเล่มเปลี่ยนชื่อเป็น “กว่าจะเป็นหมอเพลง” และเรื่อง “นิทานสายรุ้ง” ได้รับรางวัลจากการประกวดนิทานไทยของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช นอกจากนี้เขาได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นศิลปินมรดกอีสานจากสภาวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2560

สำหรับนวนิยายเรื่องสุดท้ายที่เขียนลงในนิตยสารทานตะวัน ก่อนจะปิดตัวลงคือเรื่อง “โลกกว้างทางเถื่อน”ในนามปากกา “ยอด เดชา” เป็นนวนิยายยาวเหยียดหลายร้อยตอน ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว แต่ยังไม่จบจึงโยกไปลงในนิตยสารบางกอก พอจบภาคแรก บางกอกก็ปิดตัวอีก เขาเล่าถึงนวนิยายเรื่องนี้ที่ยุคโซเชียล เน็ตเวิร์คเข้ามารุกราน จนต้องซัดเซพเนจรอย่างไรบ้าง...

“โลกกว้างทางเถื่อน ที่ยาวเพราะโครงเรื่องยาว คนอ่านชอบมาก พอจบภาคหนึ่ง ผมไปเขียนต่อลงในแปลก สเปเชี่ยล ชื่อเรื่อง วิถีคนเถื่อน ใช้ตัวละครชุดเก่า จบแล้ว เขียนเรื่อง โลกกว้างทางเถื่อน ภาคจบ แปลกก็ปิดตัวลง ตอนนี้เขียนต่อลงอีบุ้ค”

อดีตครูชำนาญการพิเศษผู้นี้เปิดเผยความในใจว่า เขาเขียนนวนิยายลงในบางกอกและทานตะวันไม่น้อยกว่า 20 เรื่อง บางเรื่องยาวมาก กว่าจะจบใช้เวลา 2-3 ปี สำหรับนวนิยายเรื่อง “โลกกว้างทางเถื่อน” เขาตั้งใจจะเขียนไปเรื่อย ๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เขาพูดถึงผลงานชิ้นใหม่และไม่ใหม่ว่า...

“ผลงานที่กำลังเตรียมทำอีบุ้ค โลกกว้างทางเถื่อน หงอกมหากาฬ  วันวาน เหลียวหลังแลอีสาน เคยเขียนลงคู่สร้าง-คู่สม นวนิยายเรื่องโลกกว้างทางเถื่อนที่จะเขียนต่อ จนกว่าจะจบเรื่อง ตอนนี้เขียนไปแล้วกว้าห้าพันหน้ากระดาษเอสี่ เป็นเรื่องค่อนข้างยาว มีชีวิตเป็นเดิมพัน ใครจะจบก่อนกันระหว่างนิยายกับชีวิต”เสียงหัวเราะต่อท้าย

เสถียร ยอดดี คิดว่าตนเองเดินทางมาถึงช่วงท้ายของชีวิตแล้ว จะเขียนหนังสือด้วยความรักต่อไปและกล่าวอย่างออกตัวว่า

“คิดว่าตัวเองไม่มีความชำนาญสักอย่าง เขียนได้หมดทุกประเภท แต่ไม่ดี ไม่เก่ง เขียนยากทั้งหมด ไม่ถนัดเรื่องสั้น เขียนงานแบบไม่พิถีพิถัน เขียนรอบเดียว ใส่พิมพ์ดีดพิมพ์ไปเลย ไม่เคยขัดเกลา ไม่เคยร่าง งานจึงไม่ละเมียดละไม แต่ก็ภูมิใจกับทุกเรื่องที่เขียนเสร็จ แล้วได้ลงตีพิมพ์และได้รางวัล ใครที่รักการเขียน ลงมือเขียนเลยครับ สร้างโลกส่วนตัวให้ได้ ประสบการณ์ทั้งทางตรง และทางอ้อม คือวัตถุดิบอย่างดีสำหรับงานเขียน”

 

 

“คุณจงเขียนเพื่อเขียน ไม่ใช่เขียนเพื่อจะเป็นนักเขียน”(เออร์วิง วอลเลซ นักเขียนชาวอเมริกัน)