“ไม่รู้อดีต ไม่เข้าใจปัจจุบัน ก็ไม่เห็นอนาคต”
ถ้อยความนี้น่าจะสอดคล้องกับ “วิธีคิด” หรือ การอรรถาธิบายถึง “ปรากฏการณ์ของสิ่ง” ตามหลักการสำคัญของพระพุุทธศาสนา กล่าวคือ สอดคล้องกับหลัก “ปฏิจจสมุปบาท” ที่ว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี”
หลัก “ปฏิจจสมุปบาท” ของพระพุทศาสนานั้นเป็นทั้ง “กระบวนทัศน์” (Paradign) และ “วิธีวิทยา” (Methodology) ในการอธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวแก่สิ่งต่างๆที่ล้วนเป็น “อนิจจัง” (Impermanent)
การรู้ว่า “สิ่งใดจะเกิด” (ตามเหตุปัจจัยที่มีมาก่อนแล้ว)นับว่าเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิตอยู่ ทั้งของปัจเจกชน ของเมือง ของประเทศ และของสังคมชาวโลก เป็น “กฎ” ความเนื่องเกี่ยวสัมพันธ์กันอย่างที่ไม่มีใครสามารถยกเลิกได้ เพราะเป็นกฏของ “สภาวธรรม” (Natural conditions)
กฎดังกล่าวนี้ได้รับการพิสูจน์อธิบายแล้วอย่างแจ่มแจ้งทั้งโดย “วิธีวิทยา” ของ “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” (Natural Science)และโดยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น (Lord Buddha)
เราดำลังจะพูดถึงหนังสือปกแข็งเล่มหนาเล่มหนึ่งที่มีชื่อปก (แบบเต็มๆ) ยาวเหยียดว่า “สมุดภาพ 180 ปี เมืองสงขลา พ.ศ.2385 - พ.ศ.2565 บันทึกเหตุการณ์” และ “ประมวลภาพเก่าของสงขลา” ซึ่งต่อไป เราจะเรียกหนังสือสำคัญเล่มนี้เพียงย่อๆสั้นๆว่า “สมุดภาพ 180 ปี เมืองสงขลาฯ”
แต่ที่คงต้องให้ “เครดิต” กันก่อน สำหรับหนังสือเล่มนี้ ก็คือบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการก่อเกิดอันได้แก่ คุณวุฒิชัย เพชรสุวรรณ บรรณาธิการ คุณจรัส จันทร์พรหมรัตน์ ภาพและคำบรรยาย คุณเอนก นาวิกมูล ที่ปรึกษา (เนื้อและรูปแบบ)และ คำนิยม และท้ายสุด(แต่สำคัญมาก)คือคุณรังสี รัตนปราการ ที่ปรึกษาการจัดทำ ขอขยายความเกี่ยวกับ 2 ชื่อหลัง คือ คุณอเนกฯ กับ คุณรังสีฯสักเล็กน้อย
คุณเอนก นาวิกมูล นั้น คนในวงการหนังสือและวงการ “พิพิธภัณฑ์” ย่อมทราบ และ รู้จักกันดีว่า คือผู้ก่อตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์” และ “นักเขียน” ผู้เป็นเจ้าของผลงานทรงคุณค่ามากมาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเสาะหาสืบค้นทั้งเรื่อง และ ภาพเกี่ยวกับเรื่องราว และ “สิ่งของ” ในสังคมไทย เพื่อนำมาประมวลผลหาคำตอบในเรื่อง “คุณค่า” ที่เกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์สังคม”และ “วัฒนธรรม” ไทย ในทำนอง “จดหมายเหตุสังคม” ประเด็นต่างๆ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องย่อย
เขาจึงได้รับฉายาว่า “คนเก็บอดีตและปัจจุบันเพื่ออนาคต”!
ผลงานที่ปรากฏเป็นหนังสือเล่มสำคัญเล่มแรกซึ่งสะท้อนถึงความวิริยะอุตส่าห์และความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ในการเสาะค้นสืบหา และ การประมวลความคิดจัดดระบบทางความรู้อย่างโดดเด่นยิ่งก็คือหนังสือเรื่อง “เพลงนอกศตวรรษ” ที่ได้รับรางวัล “หนังสือสารคดีดีเด่น” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ.2521
ที่จริง เอนก นาสิกมูล เริ่มชอบงานขีดเขียนเชิงสร้างสรรค์ (Creative Writing) มาตั้งแต่เป็นนักเรียน ใครที่อยู่ในแวดวง “นักอยากเขียน” ที่เป็น “วัยนักเรียน” และ ผู้สนใจการอ่านในช่วงต้นๆทศวรรษ 2510 อาจจำได้ว่า ชื่อ “เอนก นาวิกมูล” นักเรียนมัธยมต้นแห่งโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ปรากฏเป็นชื่อของผู้ได้รับ “รางวัลชนะเลิศ” ในการประกวดเรื่องสั้นของนิตยสาร “ชัยพฤกษ์” ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับเยาวชนที่โดดเด่นที่สุดในยุคสมัยนั้น
ถ้าจำไม่ผิดเรื่องสั้นของเอนกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนั้น(น่าจะประมาณพ.ศ.2510-2511) มีชื่อเรื่องว่า “นาล่ม” แน่ละ เมืองระโนด เมืองริมทะเลสาบแห่งจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขานั้น นับเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของภาคใต้ในอดีต และฟังมาว่า ที่ระโนด(ในอดีตที่การทำนายังอิงอยู่กับธรรมชาติ)มักเกิดกรณี “นาล่ม” ให้ได้เห็นได้ยินอยู่บ่อยๆ
นั่นอาจจะเป็นที่มาของ “เรื่องสั้นชนะเลิศนิตยสารชัยพฤกษ์” เรื่อง “นาล่ม” ของท่านศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์(พ.ศ.2563) ที่ชื่อ “เอนก นาวิกมูล” ก็ได้!
จริงเท็จอย่างไรก็คงต้องไปสืบเรื่องหาความเอาจากคุณอเนกฯ เองก็แล้วกัน แต่ไม่เคยเห็นท่านเคยพูดถึงรางวัลนี้ไว้ในที่ที้ได บังเอิญนึกย้อนอดีตจำขึ้นได้พอเลาๆ จึงอยากบันทึกถึงความ “เก่งกาจ” มาตั้งแต่ตั้งวัย “นมยังไม่แตกพาน” ของนักเขียน นักค้นคว้า และ นักรวบรวมของเก่าลือนามแห่งยุคสมัยไว้เสียอีกสักเรื่องก็แล้วกัน
เก่งไม่เก่ง ฉกาจไม่ฉกาจ ก็ลองพิจารณาข้อมูลจากผลงานดูเอาเถิด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจาก Google บอกเราว่า เอนก นาวิกมูล มีผลงานเป็นหนังสือเล่ม (ส่วนใหญ่เป็นหนังสือประเภทสารคดี)แล้วถึงกว่า 200 ชื่อเล่ม!
และต้องเข้าใจให้ตรงกันด้วยว่า ในแต่ละเล่มนั้นส่วนใหญ่อัดแน่นไปด้วยข้อเท็จจริง(ทั้งเรื่องและภาพ)และบทสังเคราะห์ของผู้เขียน ที่ก่อประโยชน์ทั้งในแง่ “จดหมายเหตุสังคมไทย” และ ความรู้สึก “อิ่มงาม” ของผู้นิยมรสแห่งความจริง “ความดี และความงาม” เป็นอย่างยิ่ง!
บางทีการเป็นบัณฑิตทางรัฐศาสตร์ (จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) ของ เอนก นาวิกมูล ก็อาจคือพื้นฐานสำคัญ ที่ทำให้เขาสามารถจัดระบบ จำแนกแยกแยะข้อมูล เชื่อมโยง และ “ให้ความเห็น” (Commentary) ได้อย่างแจ่มชัดและแหลมคม ไม่ใช่เพียงแค่การนำเสนอข้อมูลภาพและบรรยายภาพเฉยๆ(ก็อาจเป็นได้)
กล่าวเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่อง “เมืองสงขลาเก่า” นั้น(สงขลาคือบ้านเกิดของเขา) ก็ต้องถือได้ว่า เอนก นาวิกมูล อยู่ในฐานะ “กระบี่มือหนึ่ง” ด้านการเสาะหาศึกษาค้นคว้าเรียบเรียงทีเดียว ค่าที่เขาเป็นคนแรกๆที่แสดงความสนใจ และ มีผลงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
เมื่อเขาดูแลเป็นที่ปรึกษาและเขียน “คำนิยม” ให้ ก็ควรเชื่อถือเป็นเบื้องต้นได้เลยว่า หนังสือเล่มนี้จะมี “คุณค่า” ในการเติมเต็มข้อมูลเกี่ยวกับเมืองสงขลา ทั้งด้านกว้างและด้านลึกยิ่งขึ้น
ทั้งชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหนังสือเล่มนี้(ดังเอ่ยมาแต่จ้น) ก็ล้วนการันตีได้ว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญและเกี่ยวข้องโดยตรงมายาวนานเกี่ยวกับการมุ่งหมายผลักดันและนำเสนอให้เมืองสงขลาเป็น “เมืองมรดกโลก” อย่างเอาการเอางานยิ่งมาโดยตลอด!!