เสือตัวที่ 6
ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกการปกครองให้เป็นอิสระจากรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้แบบคู่ขนานที่ใช้ทั้งการก่อเหตุร้ายรายวันเพื่อสร้างบรรยากาศของความไม่สงบโดยชนพื้นถิ่นเพื่อสื่อไปถึงประชาคมโลกให้เข้ามาสนับสนุนการแยกตนเองเป็นอิสระในการปกครองกันเองในที่สุด ควบคู่กับการต่อสู้ทางความคิดด้วยการสร้างฐานแนวร่วมมวลชนให้เข้มข้น เป็นระบบและแพร่กระจายไปในวงกว้างทั้งในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้และต่อขยายไปสู่พื้นที่อื่นทั่วทุกพื้นที่ของรัฐโดยเฉพาะกลุ่มคนในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐแห่งนี้และเป็นแหล่งที่อยู่ของคนระดับนำของรัฐในทุกภาคส่วนทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคม รวมทั้งคนที่มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายระดับชาติอย่างแท้จริง
และเมื่อสถานการณ์การต่อสู้ด้วยอาวุธจากการใช้ความรุนแรงของกองกำลังติดอาวุธของขบวนการร้ายแห่งนี้ได้ถูกการตอบโต้อย่างเท่าทัน ส่งผลให้การขับเคลื่อนการต่อสู้ด้วยอาวุธที่หมายเป็นตัวเร่งให้การต่อสู้ทางความคิดระดับชาติเหล่านั้น มีความจำกัดลงจนแทบจะเดินหน้าตามแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงทางอาวุธอย่างที่เคยทำมานั้นไปต่อไม่ได้ตามเป้าหมาย ล้วนเป็นตัวเร่งให้แกนนำขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐกลุ่มนี้ จำต้องปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้มาใช้การต่อสู้ทางความคิด ขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมืองระดับชาติอย่างเข้มข้น เป็นระบบ เพื่อให้ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของพวกเขายังคงเดินหน้าไปสู่เป้าหมายสุดท้ายนั่นคืออิสระในการอยู่กันเองของคนในพื้นถิ่นตามวิถีที่กลุ่มตนต้องการให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่วิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน วิถีความเชื่อตามหลักศาสนาที่ตนนับถือศรัทธา วิถีการศึกษาตามหลักความเชื่อทางศาสนา วิถีการปกครองตามหลักกฎหมายที่คงยึดหลักความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งวิถีการแต่งกายแบบพื้นถิ่นที่สืบต่อกันมา ให้เป็นที่รับรู้และยอมรับแบบฉบับของกลุ่มตนให้แผ่ขยายไปในวงกว้าง
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดห้วงตั้งแต่ขบวนการแห่งนี้ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ไปเป็นการต่อสู้ทางความคิด ด้วยการขับเคลื่อนการต่อสู้ระดับชาติจึงถูกร้อยเรียงต่อกันอย่างกลมกลื่นด้วยการต่อสู้ที่แทรกปนไปกับแนวคิดของอิสรภาพในหลากหลายรูปแบบ อาทิ อิสรภาพ เสรีภาพในการแต่งกายชุดมลายูที่แอบซ่อนความหมายของการต่อสู้ให้เกิดการยอมรับวิถีชีวิตของคนพื้นถิ่นในระดับชาติ รวมทั้งเพื่อเป้าหมายการต่อสู้ให้สังคมประเทศได้ยอมรับในอัตลักษณ์ของคนในพื้นถิ่นที่ปรากฏให้เห็นทางการแต่งกายในชัดมลายูในหลากหลายโอกาสโดยเฉพาะในรัฐสภาซึ่งเป็นเวทีการต่อสู้ทางความคิดระดับชาติบนเวทีการเมืองที่สำคัญยิ่ง
เมื่อกลางเดือนมกราคม นักการเมืองแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหนึ่ง ได้แต่งกายด้วยชุดมลายูเข้าสภา และได้ขออภิปรายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ความตอนหนึ่งว่า ความย้อนแย้งคือเรากำลังสร้างสันติภาพแบบยั่งยืน แต่ว่าการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำต่อนักกิจกรรม กลุ่มที่ทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และแสดงออกสิทธิพลเมืองการเมือง กลับโดนหมายเรียก ทั้งที่ความจริงแล้วคนที่ถูกหมายเรียกเหล่านั้นเป็นกรณีอื่นที่คนกลุ่มนั้นเคยกระทำมา หาใช่เรื่องการแต่งกายไม่ หากแต่เป็นข้อกล่าวหาในคดีความมั่นคงที่กลุ่มคนดังกล่าวอาจมีความเกี่ยวข้อง และปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดรับกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรมจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันเดียวกัน ที่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องที่อาคารรัฐสภา ในขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เคยออกมาชี้แจงแล้วว่า นายซาฮารี จากเพจชมรมพ่อบ้านใจกล้าเพื่อรับระดมเงินบริจาคนั้นไม่ได้ถูกดำเนินคดีเรื่องเปิดบัญชีระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม หรือเสียชีวิตจากการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ เพราะไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมาย แต่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง และกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นักกิจกรรมที่จัดรวมตัวชุมนุมแต่งชุดมลายู ก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีเรื่องการแต่งกายตามอัตลักษณ์ แต่มีการดำเนินคดีเรื่องการปราศรัยบนเวทีในลักษณะปลุกระดม และมีการโบกธงบีอาร์เอ็นของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ประเด็นการแต่งกายชุดมลายูอย่างเอิกเกริกในที่ประชุมระดับชาติ กลับถูกหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขในการแบ่งแยกความคิดของผู้คนในสังคมประเทศที่อ้างว่าต้องการสื่อถึงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นที่สืบทอดมาจากประวัติศาสตร์ของตนเอง แต่นั่นกลับตอกย้ำถึงความแตกต่างทางกายภาพที่มุ่งไปสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งแยกผู้คนในสังคมให้ออกห่างจากกันมากขึ้นเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในความเป็นตัวตนของกลุ่มพื้นถิ่นจนนำไปสู่การยอมรับในการปกครองกันเองของพวกเขาในที่สุด นับเป็นการต่อสู้ทางความคิดด้วยการต่อสู้ทางการเมืองระดับชาติที่ชาญฉลาดยิ่งนับเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐที่น่ากังวลยิ่ง หากรัฐไม่ตระหนักรู้ และไม่เท่าทันกับยุทธศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐที่กำลังขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นในห้วงเวลานี้ เพราะนอกจากการพยายามสื่อถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของคนในพื้นที่แห่งนี้ที่แตกต่างกับคนนอกพื้นที่อย่างชัดเจนผ่านคำว่าอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่สืบต่อกันมาที่รัฐต้องให้เสรีภาพในการแต่งกายตามที่กลุ่มคนต้องการ หากแต่ชุดที่สวมใส่นั้นหาใช่เป้าหมายให้เกิดการยอมรับในการแต่งกายประจำถิ่นเท่านั้น หากแต่หมายให้เกิดการยอมรับระดับชาติว่าคนกลุ่มนี้มีความเป็นชาติพันธุ์ที่ต้องให้อิสระในการอยู่กันเองจนลุกลามไปสู่การต่อสู้ให้รัฐไทยยอมรับธงบีอาร์เอ็น เหล่านี้คือกระบวนการรุกระดับยุทธศาสตร์ของขบวนการที่รัฐต้องตามให้ทัน