ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

 

สัปดาห์ที่แล้วผมได้เล่าสู่กันฟังกันท่านผู้อ่านไปแล้ว ในเรื่องปัญหาของโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี นับจากนี้ ในสัปดาห์นี้ผมจะพาไปพบกับ 5 อันดับแรกของปัญหาโลกที่คาดว่าจะมีความรุนแรงใน 10 ปีนับจากนี้ โดย World Economic Forum

ในรายงาน The Global Risks Report 2024 ที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,500 คนทั่วโลก นอกจากจะคาดการณ์ปัญหาของโลกที่จะรุนแรงขึ้นภายใน 2 ปี ซึ่งเป็นระยะสั้น ก็ยังได้คาดการณ์ถึงปัญหาของโลกที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในระยะเวลา 10 ปีหลังจากนี้ ได้แก่ 1) สถานการณ์ที่เกิดจากสภาพอากาศที่เลวร้าย (Extreme weather events) 2) เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของระบบต่างๆบนโลก (Critical change to Earth systems) 3)  การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและความล้มเหลวของระบบนิเวศ (Biodiversity loss and ecosystem collapse) 4) การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ (Natural resource shortages) และ 5) ข้อมูลที่ผิดพลาดและการบิดเบือนข้อมูล (Misinformation and disinformation)

จะเห็นได้ว่าที่ลำดับที่ 1-4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมล้วนๆ และล้วนมีความเกี่ยวโยงกันทั้งสิ้น เรียกได้ว่า เป็นทั้งสาเหตุและผลลัพธ์ของกันและกัน สถานการณ์ที่เกิดจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ต่างเป็นทั้งเหตุและผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของระบบต่างๆบนโลก และนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดความล้มเหลวของระบบนิเวศ ในขณะที่ความล้มเหลวของระบบนิเวศนก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆอย่างรุนแรงและก่อให้เกิดสภาพอากาศที่เลวร้ายได้เช่นกัน เรียกว่า ทับถมกัน พอกพูนกันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนส่งผลให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ

เมื่อมาถึงการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ สิ่งที่อาจตามมา คือการแข่งขันเพื่อช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ การแข่งขันทางการค้า การแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมืองอาจทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ทั้งในระดับบุคคล ระดับชุมชน หรือแม้แต่ในระดับระหว่างประเทศ

ในอีกมิติหนึ่ง ก็อาจเกิดการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆเพื่อทดแทนทรัพยากรที่ร่อยหรอลง ซึ่งก็อาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นทางเทคโนโลยี

ในลำดับที่ 5 พบว่า ข้อมูลที่ผิดพลาดและการบิดเบือนข้อมูล ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเด็นนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อผนวกเข้ากับการแข่งขันกันที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อโจมตีซึ่งกันและกันในทางการเมืองและเศรษฐกิจ อาจยิ่งเพิ่มรอยร้าวให้กับสังคมมนุษย์ที่เปราะบางอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ให้ยิ่งร้าวลึกลงไปถึงระดับบุคคล

ในโลกยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปฏิเสธได้ยากว่าเรื่องการบิดเบือนข้อมูลไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะมันดลบันดาลให้เกิดได้แทบทุกอย่าง ทั้งด้านดีและไม่ดี ทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ สังคมมนุษย์ที่แยกไม่ขาดกับเทคโนโลยีจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรเป็นเรื่องที่น่าคิดอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้ชีวิตมนุษย์ “ง่ายขึ้น” กลับก่อให้เกิด “ความยุ่งยาก” ที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เฒ่าท่านหนึ่ง ผมถามท่านว่า “สมัยก่อนชีวิตคนเป็นอย่างไร?” ท่านหัวเราะแล้วบอกว่า “สมัยนั้นไม่มีหรอก ไลน์เลย ตื่นเช้ามาก็ไปทำงาน ใครทำไร่ก็ไปไร่ ใครทำราชการก็ไปราชการ เย็นกลับบ้าน กินข้าวกับพ่อแม่ลูกหลาน เด็กๆปีนต้นไม้เล่นก็สนุกแล้ว ชีวิตไม่มีอะไรให้เล่นเยอะ”

ผมฟังแล้วก็คิดตาม แอบคิดในใจว่าสมัยก่อนที่ยังไม่มีเทคโนโลยีนั้น ก็ดูน่าจะสบายๆดี ไม่เครียด ไม่วุ่นวาย ไม่แข่งขันกันเยอะเหมือนสมัยนี้

ผมถามต่อว่า “แล้วสมัยก่อนกับสมัยนี้อะไรสบายกว่ากัน?” ผู้เฒ่าตอบว่า “สมัยก่อนเดินทาง ติดต่อกัน ไปไหนมาไหนลำบากกว่าสมัยนี้เยอะ แต่รวมๆแล้วสบายกว่า เพราะโลกมันหมุนช้า เราเดินก็ไม่ได้ว่าช้า สมัยนี้โลกมันหมุนเร็ว ถ้าเดินก็ไม่ทันกิน”

ฟังๆดูแล้ว สมัยก่อนดูท่าจะมีความสุขมากกว่าสมัยนี้.... “ถ้าให้เลือก อยากให้โลกเป็นเหมือนเดิม หรือทันสมัยแบบปัจจุบัน?” ผมถามต่อ...

“ถ้านึกย้อนกลับไปในอดีต ก็คงจะบอกว่าอยากให้ทันสมัยแบบนี้นะ สมัยที่เราไม่มีความสบาย เราก็อยากสบาย...” ผู้เฒ่าตอบ...สวนทางกับคำตอบที่ผมคาดไว้

“อ้าว ตา อย่างนี้ แบบไหนดีกว่ากันล่ะเนี่ย?” ผมถามต่อด้วยความงงๆกับคำตอบ….

สรุปได้ว่า Nothing is perfect อะไรเกิดขึ้นแล้วมีดีและมีผลลัพธ์เสมอ ก็ต้องรับผลกันไป สิ่งดีเกิดขึ้นก็ปรบมือ สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นก็รับมือ มีแค่นั้นล่ะครับท่านผู้อ่าน

ก็หวังว่า รัฐบาล จะได้เตรียมรับมือกับปัญหาเหล่านี้ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของพวกเรา แต่อย่าลืม เตรียมตัวรับมือด้วยตัวท่านเองด้วยนะครับ

รู้ทันปัญหา แล้วหาทางป้องกันครับ

เอวัง