19 ก.ค.2566 คือวันที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถูกศาลรัฐธรมนูญ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สส. ภายหลังเมื่อศาลฯมีมติรับคำร้อง กรณีถือหุ้นไอทีวีเอาไว้พิจารณาวินิจฉัย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ กินระยะเวลายาวนานกว่า 6เดือน ที่พิธา ไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่ได้ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ดูเหมือนว่า ทั้งตัวพิธาและพรรคก้าวไกล ไม่ยอมให้เขาหลุดไปจากกระแสการเมือง
เหลือเวลาอีกเพียง 1วันคือวันที่ 24 ม.ค.67 นี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย กรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ พิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
สืบเนื่องจากพิธา ในฐานะผู้ถูกร้อง ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ตลอดห้วงเวลาที่พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่สส. ได้ส่งผลกระทบต่อ พรรคก้าวไกล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่า ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.2566 ที่ผ่านมา ด้วย กระแส ของพิธา นั้นมีความแรงมากพอที่จะทำให้พรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้งได้สส.เข้าสภาฯ มาเป็น อันดับ 1 แซงหน้า พรรคเพื่อไทย ชนิดหักปากกาเซียน ผู้สมัคร ของพรรคก้าวไกล จำนวนไม่น้อยที่แม้ไม่เป็นที่รู้จัก แต่สามารถโค่นคู่ต่อสู้ จนฝ่าด่านเข้าสภาฯมาได้อย่างฉลุย !
ดังนั้นชะตากรรมของพิธาที่ยังต้องรอลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 ม.ค.นี้ จึงถูกเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกับ ความเป็นไป ของพรรคก้าวไกล อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
แม้วันนี้พรรคก้าวไกล จะมี ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ ก้าวขึ้นมารับไม้ในตำแหน่ง หัวหน้าพรรค แทนพิธา แต่ต้องยอมรับว่าชัยธวัช คือ นักคิด นักยุทธศาสตร์ แต่ไม่อาจปลุกกระแส ให้เกิด ฟีเวอร์ ต่อพรรคได้ ด้วยเหตุนี้ ชัยธวัช เองก็อ่านเกมออก จึงเคยบอกว่าเมื่อพิธา รอดจากคดีหุ้นไอทีวีและมีโอกาสได้กลับเข้าสภาฯอีกครั้ง เขาเองก็พร้อมที่จะ ถอยให้
เวลานี้มีหลากหลายมุมมองที่ประเมินแนวคำวินิจฉัย ในคดีหุ้นไอทีวี ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไรในวันที่ 24 ม.ค.นี้
สำหรับพรรคก้าวไกล แสดงความเชื่อมั่นใจว่า พิธา รอด ด้วยการเผยแพร่คลิปมีความยาว 7 นาทีผ่านเพจเฟซบุคพรรค โดยยก6เหตุเพื่ออธิบายว่าเหตุใดพิธา จึงรอด เพราะไอทีวีไม่ใช่สื่อมวลชนแล้ว
หรือหากศาลฯชี้ว่ายังเป็นสื่อมวลชน แต่พิธาก็มีหลักฐานว่าไม่ได้ครอบครองหุ้นตั้งแต่วันสมัคร สส. ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เมื่อตอนเป็นสส.ปี 2562 โดยแจ้งชัดเจนว่า ถือหุ้นดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดก หรือหากศาลมองว่าถือหุ้นสื่อจริง แต่หุ้นดังกล่าวก็มีสัดส่วนเพียง 0.00348% ไม่สามารถครอบงำ สั่งการ ให้ทำการใดๆ หรือไม่ทำการใดๆ ได้
การเดินหน้าต่อของพิธา บนถนนสายการเมือง อาจไม่ได้ลุ้นแค่การฝ่าด่าน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 ม.ค.นี้เท่านั้น เพราะในวันที่ 31 ม.ค.นี้ อย่าลืมว่า พรรคก้าวไกล ยังมีคดีใหญ่ต้องลุ้นว่าจะถูก ยุบพรรค หรือไม่ จากคดีล้มล้างการปกครอง ด้วยการเสนอนโยบายแก้กฎหมาย มาตรา 112 ในการหาเสียงที่ผ่านมา