ความคืบหน้าการล่ารายชื่อ สมาชิกวุฒิสภา ให้ได้ 84เสียง เพื่อขอยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 153 ล่าสุด เสรี สุวรรณภานนท์ สว. ออกมาเปิดเผยว่า บัดนี้ได้ชื่อในมือ 80 คนแล้ว จะขาดก็เพียงอีก 4 สว.เท่านั้น


 แน่นอนว่าปฏิบัติการ ซักฟอกรัฐบาล ด้วยมือของ สภาสูง ในครั้งนี้ คือการบทบาทการตรวจสอบรัฐบาลโดยใช้เวทีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ 250 สว. ชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงในเดือนพ.ค.นี้ 


 แม้วันนี้ การเคลื่อนไหวนัดสุดท้ายของสว. ชุดที่มาจาก คสช. ที่พุ่งเป้าไปยังรัฐบาล ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง  ต่างมีท่าทีที่แบ่งออกเป็นสองฝั่ง สองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ประสงค์จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะไม่มีการโหวตลงมติ กับฝั่งที่มองว่า รัฐบาลชุดนี้เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศผ่านพ้นไปได้เพียง 3เดือนเศษเท่านั้น ยังไม่มีประเด็นที่มีน้ำหนักมากพอ ที่จะ ซักฟอก กันแต่อย่างใด 


 ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของสว.ชุดที่มาจากคสช. กำลังถูกจับตามอง ว่ามี นัยสำคัญ ทางการเมือง อื่นใด ที่สำคัญมากไปกว่าการทำหน้าที่ ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบ ฝ่ายบริหาร เท่านั้นหรือไม่  เพราะพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็น เป้าใหญ่ ของการโจมตีย่อมประเมินได้ว่า แม้สว.จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ และใช้เวลาชำแหละนโยบายแต่จะไม่สามารถทำให้รัฐบาล บอบช้ำแต่อย่างใด 


 ในทางตรงกันข้าม เวทีสภาสูง ยังอาจกลายเป็น โอกาสให้รัฐบาลได้ชี้แจง และตอบคำถาม ต่อสังคมแทนไปโดยปริยาย แต่ประเด็นที่พรรคเพื่อไทย กังวลมากไปกว่าการตอบคำถามเรื่องนโยบาย ทั้งการเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินหมื่น หรือการแก้ปัญหา หนี้นอกระบบ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ แล้วย่อมไม่พ้นวาระที่เชื่อมโยงกับ ประเด็นของ ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกฯ ที่นอนรักษานอกเรือนจำ อยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจเกือบ150 วันแล้ว ตามคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์ 


 ด้วยเกรงว่าเรื่องอดีตนายกฯทักษิณจะกลายเป็น ปัญหาใหญ่ที่พัวพัน และทำให้รัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯเศรษฐา  ต้อง พลาดพลั้ง   ยิ่งเมื่อเวลานี้ การเคลื่อนไหวของม็อบคปท. ไปปักหลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯเพื่อกดดันให้รัฐบาล ส่งทักษิณ กลับเข้าไปที่เรือนจำ กำลังเริ่มนับหนึ่งในโหมดการเมืองบนท้องถนน ดังนั้นการที่จะปล่อยให้สว.ใช้เวทีสภาฯ ปั่นกระแส ติดคุกทิพย์ แล้วเปิดทางให้ ม็อบคปท. ดึงเกมลงถนน จนบานปลาย ย่อมไม่ใช่ สถานการณ์ที่จะปล่อยให้เป็นไป !