ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้เห็นการอภิปรายเรื่องงบประมาณกันมาอย่างชนิดที่เรียกว่า ดุเด็ด เผ็ดมัน หลายท่านที่ติดตามการบ้านการเมืองก็คงจะเข้าใจเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีหลายๆท่านที่ยังไม่เข้าใจว่ามันมีความสำคัญอย่างไร จึงกลายเป็นหัวข้อหนึ่งที่ทางบ้านเรียกร้องกันเข้ามา วันนี้ผมจะมาเล่าให้อ่านกันแบบเข้าใจง่ายๆ ครับ

งบประมาณแผ่นดิน ก็คือ เงินที่ใช้บริหารประเทศ มาจากเงินภาษีประชาชนนี่แหละครับ ที่มีการเก็บรวบรวมจากผู้เสียภาษีและภาษีต่างๆในแต่ละปี รวมถึงรายได้อื่นๆ เมื่อรวบรวมแล้วก็จัดสรรมาเป็นเงินที่รัฐบาลจะใช้จ่ายเพื่อดำเนินการบริหารประเทศในปีนั้นๆ ซึ่งก็จะรวบรวมเอารายจ่ายที่อยู่ในระบบทั้งหมดมานำเสนอแก่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ได้รับการเห็นชอบ (หาได้เยอะ เก็บได้เยอะก็มีเงินเยอะ เศรษฐกิจและการหาเงินเข้าประเทศจึงสำคัญ)

คำถามคือ ทำไมต้องให้สภาเห็นชอบ? คำตอบง่ายๆ ก็คือว่า “สภา คือประชาชน” ครับ เพราะสส.ทั้งหลายคือตัวแทนของประชาชนที่อยู่นอกสภา สส.แต่ละคนก็จะมี “เงา” ของประชาชนเดินตามหลังเข้าไปในสภาจำนวนมาก รวม สส.ทั้งสภาก็เท่ากับคนไทยทั้งประเทศนั่นเอง

โดยหลักการแล้วในการเลือกตั้งแต่ละครั้งพรรคการเมืองก็จะต้องนำเสนอนโยบายที่ตนศึกษามาแล้วว่าจะสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาประเทศได้ นำมาเสนอให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ เมื่อประชาชนชอบใจหรือคิดว่านโยบายของพรรคนั้นๆดี ก็จะทำการ “ซื้อ” นโยบายนั้น เพียงแต่ใช้บัตรเลือกตั้งซื้อแทนการใช้เงิน เมื่อได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล สิ่งที่นำเสนอไปนั้นจึงกลายเป็น “สัญญาประชาคม” ที่รัฐบาลต้องทำตามที่หาเสียงไว้

ดังนั้น เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็จะต้องจัดทำแผนการใช้เงิน แล้วนำมาเสนอแก่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็คือ “ประชาชน” สส.ในสภาก็มีหน้าที่ถกเถียงกันว่า ดี ไม่ดี มีตรงไหนที่ควรต้องปรับแก้ และจะเห็นชอบหรือไม่ ถ้าสภาลงมติว่า “ไม่เห็นชอบ” ก็เท่ากับว่า ประชาชนทั้งประเทศไม่เห็นชอบ รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องลาออกตามมารยาททางการเมือง เพราะนั่นเท่ากับว่า ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินและอำนาจไม่โอเคกับการใช้เงินแบบนี้

ฝ่ายค้านก็จะต้องอภิปรายอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน พยายามขุดคุ้ยการใช้งบประมาณด้านต่างๆมาตีแผ่ เพื่อที่จะคอมเมนต์และแสดงให้ประชาชนดู แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายและตรงไปตรงมาเหมือนตำราหรอกครับ เพราะหลายต่อหลายครั้งฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่เพื่อผลลัพธ์ทางการเมือง จนหลายต่อหลายครั้งกลายเป็นความพยายามล้มรัฐบาลไป คนเสียประโยชน์ก็คือประชาชน

งบประมาณในแต่ละปีของแต่ละกระทรวงก็จะประกอบไปด้วย งบในการทำโครงการต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่ได้หาเสียงไว้ งบประมาณที่ผูกพันกันมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ (โดยมากเป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่) การดูแลรักษาระบบและโครงการเดิมๆ ไปจนถึง เงินดาวเงินเดือนของข้าราชการ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งหากไปดูในงบประมาณของแต่ละกระทรวงจะพบว่า งบประมาณก้อนใหญ่ของแต่ละกระทรวงมักหมดไปกับ “คน” ซึ่งก็จะเป็นเรื่องของค่าตอบแทน เงินเดือน และหรือสวัสดิการ เพราะแต่ละกระทรวงมีข้าราชการจำนวนมากที่ต้องทำงานให้กับกระทรวง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความยากในการปรับลดงบประมาณ เพราะงบประมาณส่วนนี้มักจะต้องถูกล็อกไว้ให้กับข้าราชการเสียก่อน ทำให้งบประมาณด้านกำลังคนไม่สามารถปรับลดได้โดยง่าย ก็แหงล่ะครับ จู่ๆจะไปปลดเค้าได้ยังไง มันไม่ง่ายเหมือนบริษัทเอกชน หลังจากนั้นจึงมาว่ากันเรื่องโครงการพัฒนาต่างๆตามนโยบาย ดังนั้นการปรับลดงบประมาณก็มักจะมุ่งเป้าไปที่โครงการต่างๆ เครื่องไม้เครื่องมือที่จะใช้ และอื่นๆยิบย่อยที่ตัดได้

จุดนี้เองที่เป็นจุดละเอียดอ่อนอีกจุดหนึ่ง หากงบประมาณที่จะต้องถูกใช้ตามนโยบายหรือโครงการถูกตัดทอนไป ก็เท่ากับงบประมาณที่จะทำสิ่งต่างๆให้ประชาชนหายไป นี่ยังไม่นับการคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทางหลังจากงบประมาณได้รับอนุมัติแล้วอีก หลายครั้งการตัดงบก็ดีเพราะป้องกันคอร์รัปชัน แต่หลายครั้งก็ไม่ดีถ้าโครงการนั้นๆเป็นโครงการที่ดี เราก็ได้แต่หวังว่า ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จะเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ขะมักเขม้นแต่จะเล่นเกมการเมืองหรือคอร์รัปชัน จนประชาชนเสียประโยชน์

ย้อนกลับมาที่การอภิปรายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายคนถามมาว่าให้วิพากษ์วิจารณ์เสียหน่อย ผมก็ต้องบอกว่า พรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดีมาก เข้มข้น ตีแผ่งบประมาณออกมาได้ลึก และทำให้คนเข้าใจได้ง่าย แต่ก็ยังมีข้อเสีย ตรงที่หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ “ยากจะทำได้ในความเป็นจริง” และเป็น “หนังม้วนเดิม” ที่เห็นกันมาหลายสิบปี ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการปรับลดกำลังพลของกระทรวงกลาโหม หรือ เรื่องการศึกษา ฝ่ายค้านที่ผ่านมาทุกยุคก็พูดเรื่องนี้ ว่าทำไมไม่ลด? ทำไมยังเหมือนเดิม? ซึ่ง “คำตอบคลาสสิกของทุกรัฐบาล” ก็คือ จู่ๆจะไปไล่เขาออกได้ยังไง? แล้วครอบครัวเค้าจะอยู่ยังไง? นั่นเอง

ส่วนระบบการศึกษา ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ยากจะแก้และต้องใช้เวลา เพราะระบบนี้มันถูกสร้างมาหลายสิบปี มีความเทอะทะค่อนข้างมาก จะไปแก้ในเวลาอันสั้นก็เห็นจะเป็นเรื่องเพ้อฝัน และเชื่อว่าต่อให้พรรคฝ่ายค้านเป็นรัฐบาลก็ “ยากที่จะทำได้ในความเป็นจริง” เพราะการหักโค่นระบบที่แข็งแรงมานาน จะมีคนเจ็บมากมาย และคนเหล่านั้นก็คือ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ที่จะต้องมาเลือกตั้งในโอกาสต่อไป จึงต้องใช้เวลากันมากพอสมควรที่จะเปลี่ยนได้อย่างละมุนละม่อม

เราได้เห็นการพูดเรื่องพวกนี้มาทุกรัฐบาล เพราะพูดแล้วหล่อ ด่าง่ายได้คะแนน เพราะคนโดนด่าก็จะลิ้นจุกปากเถียงไม่ได้ เพราะรู้ว่าแก้ยากสุดๆ สุดท้ายอยู่ที่ใครจะรูปหล่อ พูดเก่ง ทำให้คนฟังเคลิ้มได้อย่างไร และใครจะได้รับบทบาทในการด่าหรือถูกด่า เท่านั้นเอง

อภิปรายครั้งนี่ก็ยังเป็น “หนังม้วนเดิม” ที่เราได้เห็นกันมานานนม ยังไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่อยากเห็นในฐานะคนรุ่นใหม่ ยังไม่ได้เห็นการเมืองใหม่ที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมมือกันทำงานเพื่อผลประโยชน์ประชาชน ยังคงเห็นภาพของการเป็นเกมการเมืองอยู่...เหมือนเดิม

ส่วนฝ่ายรัฐบาล ไม่มีอะไรจะพูดมาก รัฐบาล ก็คือ รัฐบาล ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้งบประมาณที่ตนเองต้องการ...เป็น หนังคลาสสิกม้วนเดิม ตลอดมาและน่าจะตลอดไป ก็ได้แต่ภาวนา ว่างบประมาณเหล่านี้จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และหดหายไประหว่างทาง...น้อยที่สุด

เอวัง