ทีมข่าวคิดลึก เมื่อการต่อสู้ของสองขั้วอำนาจยังไม่ยุติ และมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์จึงเกิดขึ้น หลายครั้งหลายครา ! แม้เวลานี้ ทุกๆฝ่ายน่าจะประเมินกันได้ชัดเจนมากขึ้นแล้วว่าโรดแมป ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่วางกรอบทั้งในเรื่องวันเวลาและการคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน โดยการเลือกตั้งครั้งใหม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอความชัดเจนในบรรทัดสุดท้าย ด้วยเหตุนี้ นักการเมือง จึงพากันอยู่ในโหมด wait and see เพราะยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่มีการขยับออกไป แต่ถึงกระนั้นเมื่อหันกลับมามองที่การขับเคี่ยวระหว่าง คสช. กับ "ขั้วอำนาจเก่า" ของ"ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรีแม้วันนี้ดูจะชัดเจนว่าเหลือเพียงพรรคเพื่อไทยยังคงทำหน้าที่เป็น "กลไก"ทางการเมือง ต่อกรกับ คสช. ที่มี "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งคล้ายกับว่าเหลือเพียงบรรดา "แกนนำ" ของพรรคที่ออกแรงออกโรงดูแลปกป้อง "ยิ่งลักษณ์ชินวัตร" อดีตนายกฯ ทั้งในแง่มุมของการต่อสู้จากคดีทุจริตในโครงการรับจำข้าว และในเวลาเดียวกันยังกลายเป็นว่ายามนี้เกิดรายการ "บอลเข้าทาง" เมื่อรัฐบาล ของ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังอยู่ในสภาพที่วุ่นวายพัลวันอยู่กับการหาทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ นั่นหมายความว่า "โอกาส" จึงตกเป็นของฝ่ายที่กำลังเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองอย่างยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยให้มีช่องทาง "ตีตื้น" พลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่าย "โจมตี" รัฐบาล จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาปราบว่าขอทำงานและไม่ต้องการตอบโต้กับใคร ถึงกระนั้น การเขย่า คสช. ซึ่งถือเป็นขั้วอำนาจที่ก้าวขึ้นมาผงาด แทนเครือข่ายของทักษิณ ย่อมไม่ได้เจาะจงหรือโฟกัสไปที่การติดตาม ตรวจสอบไปจนถึงการโจมตีรัฐบาล คสช. เมื่อมีจังหวะเท่านั้น หากแต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ยังต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ คสช.และสังคมกำลังรับมือในทางใต้ดิน คือการเคลื่อนไหวของ "ขบวนการหมิ่นสถาบัน" ที่ฉวยจังหวะในยามที่บ้านเมืองเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านรัชสมัย แม้กระทรวงหลักๆ ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ และสกัดการเผยแพร่ข้อความต่างๆ ในลักษณะของการหมิ่นสถาบัน เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 112 กฎหมายอาญา พยายามออกมาขยับด้วยการประสานทั้งในและต่างประเทศแล้วก็ตาม ล่าสุด "บิ๊กต๊อก"พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ออกมาระบุถึงความคืบหน้าการประสานขอความร่วมมือกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งหลบหนีอยู่ในต่างประเทศนั้นได้พูดคุยกับทูตไทยที่ประจำการอยู่ในประเทศอื่นให้ข้อ มูลมาว่าเขาให้ความร่วมมือดีขึ้น และเข้าใจถึงความรู้สึกของคนไทย แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นได้ว่า ประเทศที่ให้ที่พำนักกับผู้ที่กระทำผิดมาตรา 112 จะส่งตัวกลับมายังประเทศไทยหรือไม่ อย่างไรก็ดี ปัญหาในลักษณะดังกล่าวนี้ดูเหมือนว่าจะยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนาน และยังไม่พบว่ารัฐบาลยุคใดสมัยใดจะสามารถดำเนินการได้อย่างเด็ดขาด ขณะการเผยแพร่ข้อความ ข้อมูลอันเป็นเท็จจริงซึ่งมีลักษณะของการจาบจ้วงสถาบันยังคงแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้นทุกขณะ !