เสือตัวที่ 6
สถานการณ์การสู้รบที่มีเหตุมาจากความขัดแย้งในประเทศเมียนมาร์ยังคงดุเดือดรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาสถานการณ์การสู้รบออกไปยังพื้นที่อื่นที่มีประเทศไทยเป็นดินแดนที่อยู่ใกล้สถานการณ์การสู้รบมากที่สุด ด้วยการห้ำหั้นกันของกำลังทหารระหว่างเมียนมาร์กับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่มีฐานที่มั่นอยู่ตามแนวชายแดนไทย ซึ่งแน่นอนว่าการสู้รบดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อไทยทั้งเรื่องผู้ลี้ภัย ศูนย์ผู้อพยพที่เคลื่อนย้ายเข้ามาฝั่งดินแดนไทยทั้งที่รัฐไทยควบคุมได้ตลอดจนการทะลักเข้ามาของผู้อพยพหลบหนีเข้าไทยที่ไม่อยู่ในการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ไทย นับได้ว่าเป็นปัญหากระทบต่อความมั่นคงของไทยที่ใกล้ตัวที่สุดทั้งปัจจัยและในอนาคตอันใกล้
การใช้กำลังทหารเข้าโจมตีฝ่ายตรงข้ามของกองทัพเมียนมาร์อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการใช้กำลังทางอากาศเข้าโจมตีด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าใส่ฐานที่มั่นของกองกำลังทหารกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้อพยพในเขตรัฐคะยา กว่า 5 พันคนทะลักหนีตายเข้าสู่ศูนย์อพยพบ้านใหม่ในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้มีผู้อพยพหลบหนีภัยสงคราม เข้ายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คาดการณ์กันว่าในขณะนี้มีผู้ลี้ภัยสงครามกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาฝั่งไทยมากกว่า 6,000 คน และมีแนวโน้มจะมีมากขึ้นเป็นลำดับ อันจะเป็นปัญหาของไทยในการดูแลให้ที่พักพิงตลอดจนการอำนวยความสะดวกตามหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แม้จะมีองค์กรระหว่างประเทศมาร่วมดูแล หากแต่ว่าไทยจะเป็นรัฐเจ้าภาพหลักในการดำเนินการดังกล่าวที่ไทยเคยแบกรับมาแล้วจากกรณีการสู้รบอันเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในกัมพูชาเมื่อครั้งอดีต
การโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาร์โดยโจมตีไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะเป็นสถานที่เป็นโบสถ์ วัด โรงเรียน บ้านเรือนพลเรือน ทำให้ผู้คนเหล่านั้นต้องหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ตามป่าจำนวนมาก ที่อพยพมาตามแนวชายแดนก็อีกส่วนหนึ่งที่ยังค้างอยู่อีกหลายจุด โดยขณะนี้ก็ยังตกค้างอยู่จำนวนประมาณ 1 แสนคนซึ่งยังไม่ได้รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่ประชิดชายแดนไทยทั่วไปซึ่งคนกลุ่มนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมผู้อพยพของเจ้าหน้าที่ไทยและเป็นช่องว่างให้กลุ่มผลประโยชน์ของไทยฉกฉวยโอกาสลักลอบนำผู้หลบลี้ภัยสงครามเหล่านั้นมาใช้แรงงานฝั่งไทยโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนอาจเป็นแรงงานนอกระบบหรือทำมาหากินกันเองแบบไม่อยู่ในระบบของรัฐ ซึ่งนั่นย่อมกระทบต่อความมั่นคงของรัฐไทยโดยรวมในที่สุด
การสู้รบอย่างดุเดือดจากการรุกไล่ของกองทัพโดยเปลี่ยนมาเน้นที่การโจมตีทางอากาศแบบไม่เลือกเป้าหมาย ได้บีบบังคับให้กองกำลังฝ่ายตรงข้ามเมียนมาร์ต้องผนึกกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จากหลากหลายกลุ่ม โดยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลัก 8 กลุ่ม ได้แก่ชาวพุทธพม่า คะฉิ่น ไทใหญ่ ชิน ยะไข่ กะยา กะเหรี่ยงและมอญซึ่งผนึกกำลังให้เป็นหนึ่งเดียวในนามกองกำลังกลุ่มพันธมิตรพี่น้องชาติพันธุ์ (Brotherhood Alliance) นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในสมรภูมิการสู้รบแห่งนี้ เริ่มขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 เมื่อกองกำลังกลุ่มพันธมิตรพี่น้องชาติพันธุ์ (Brotherhood Alliance) ประกอบไปด้วยกองกำลัง 3 กลุ่มกองกำลังพันธมิตรภาคเหนือคือ 1.กองทัพโกก้าง (MNDAA; Myanmar National Democratic Alliance Army) 2.กองทัพตะอั้ง (TNLA; Ta'ang National Liberation Army) 3.กองทัพอาระกัน (AA; Arakan Army) ซึ่งรวมตัวกันในนามพันธมิตรภาคเหนือ ได้เปิด ปฏิบัติการ 1027 (Operation 1027) บุกโจมตี และสามารถยึดฐานที่มั่นของทหาร ตำรวจพม่า หลายจุด หลายเมือง ทั่วพื้นที่ภาคเหนือของรัฐฉาน
การรุกโต้กลับกองทัพเมียนมาร์ภายใต้ชื่อกองกำลังพันธมิตรภาคเหนือนับจากที่เปิดปฏิบัติการ 1027 ก็สามารถยึดพื้นที่ภาคเหนือของพม่าได้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าทึ่ง ด้วยอาวุธสงครามที่ทันสมัยนานาชนิด ทั้งเครื่องยิงระเบิดอาวุธยุทธภัณฑ์สงครามโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม และที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ กองกำลังพันธมิตรภาคเหนือที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้น มีการใช้โดรนโจมตีทิ้งระเบิดเป้าหมายทางทหารของกองทัพเมียนมาร์ได้อย่างแม่นยำและเหลือเชื่อ ซึ่งโดรนโจมตีติดอาวุธแบบนั้น ยังไม่เคยมีในกองทัพอากาศของไทยเลยทำให้ปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มชาติพันธุ์ภายหลังการผนึกกำลังนั้นมีคำถามใหญ่ทั้งกองทัพไทยและมียนมาร์ว่าอาวุธและอุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยที่พันธมิตรภาคเหนือมีใช้มีจำนวนมากนั้นได้รับการสนับสนุนจากใคร
ปรากฏการณ์การสู้รบอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐเมียนมาร์กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานอยู่ตามแนวชายแดนไทยนั้น ล้วนมาจากรากเหง้าความขัดแย้งตั้งแต่ครั้งอดีตเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ทั้งสองฝ่ายต่างรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนโดยมีประเทศมหาอำนาจอยู่เบื้องหลังของทั้งสองฝ่าย และพัฒนามาสู่การสู้รบในสงครามครั้งใหม่ล่าสุดที่มีแนวโน้มรุนแรงและจะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะประเทศไทยที่อยู่ใกล้พื้นที่ความขัดแย้งนี้มากที่สุด ซึ่งผลกระทบต่อไทยไม่เฉพาะการต้องรับภาระการดูแลตามหลักมนุษยธรรมต่อผู้หลบหนีภัยสงครามที่มีจำนวนมหาศาลแล้ว ยังต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่จะสร้างความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทย รวมทั้งศักยภาพทางทหารของกองกำลังทหารไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม ที่มียุทโธปกรณ์สงครามที่ทันสมัย อาทิโดรนติดอาวุธซึ่งปัจจุบันกองทัพไทยยังไม่มีใช้ทั้งยังไม่มีระบบต่อต้านโดรนติดอาวุธทั้งหลายเหล่านี้ย่อมเป็นภัยใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐอย่างน่ากังวลยิ่ง