หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาเบียดตัวเข้ามาเป็นประเทศตะวันตกที่ไทยใกล้ชิดสนิทชิดเชื้อมากที่สุด อังกฤษกับฝรั่งเศสผู้ชนะสงครามนั้น เรียกร้องเอาค่าเสียหายจากไทยหนักหนาสาหัสมาก ซึ่งถ้าสหรัฐอเมริกาไม่ยับยั้งเอาไว้บ้าง ข้อเรียกร้องของอังกฤษและฝรั่งเศสจะร้ายแรงมากกว่าที่เราต้องจ่ายไปจริง ความรู้สึกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นมหามิตรของไทยจึงเกิดขึ้นไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่สนับสนุนสหรัฐอเมริกาทำสงครามเกาหลีต่อมาไทยก็สนับสนุนสหรัฐอเมริกาทำสงครามในเวียดนาม กัมพูชา และลาว อย่างเต็มที่
คือไทยอยู่ค่ายเสรีนิยม ทำตัวเป็นแนวป้องกันปิดล้อมประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ กระทั่งไทยมีการปกครองเป็นประชาธิปไตย จึงเกิดการเรียกร้องให้อเมริกาถอนฐานทัพ ซึ่งก็ประจวบกับถึงเวลาที่อเมริกาจำต้องยอมถอนตัวออกจากสงครามอินโดจีนพอดี อเมริกาถอยไป สามประเทศอินโดจีนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ เวียดนาม กัมพูชา และลาว ตึงเครียดอยู่นาน จนสถานการณ์โลกเคลื่อนคล้อยเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ หมดยุคสงครามเย็นระหว่างลัทธิทุนนิยมกับลัทธิสังคมนิยม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนาม กัมพูชา และลาว จึงดีขึ้น
จนเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย สิงคโปร์สะกิดชวนไทยเปลี่ยนงานของ “อาเซียน” ที่แต่เดิมเป็นเพียงองค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์ ให้หันไปทำงานด้านเศรษฐกิจ หวังตั้งกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็น “ประชาคมอาเซียน”
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกานั้น ก็ยังจัดว่าแนบแน่นตลอดมา สัมปทานทรัพยากรพลังงานใต้ทะเลอ่าวไทย อภิทุนอเมริกันก็ได้ขุดเจาะกันเต็มอ่าวไทย อเมริกามีอิทธิพลเหนือรัฐไทยมานาน ปัจจุบันแสดงท่าทีกดดันรัฐบาล เพราะไม่แน่ใจว่าทหารไทยจะช่วยอเมริกาปิดล้อมจีนหรือไม่ จะยอมอ่อนข้อเรื่องพื้นที่ทับซ้อนแหล่งพลังงานในอ่าวไทยกับกัมพูชาหรือไม่
ยุทธศาสตร์สหรัฐทุกรัฐบาลคือ รักษาสถานะความเป็นมหาอำนาจในเอเชียแปซิฟิค ซึ่งห่วงโซ่สำคัญที่อเมริกาขาดไม่ได้คือ “ประเทศไทย” ความช่วยเหลือทุกอย่างที่อเมริกาให้ไทยนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ล้วนรับใช้ยุทธศาสตร์นี้
สำหรับการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการอบนี้ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะได้ใครเป็นประธานาธิบดีก้ตาม ยุทธศาสตร์ของสหรับอเมริกาต่อประเทสไทยก็จะคงเหมือนเดิมก่อนการเลือกตั้ง