รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

วันครูปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 16 มกราคม 2567 คุรุสภาจึงได้กำหนดจัดงานวันครู เพื่อ “ระลึกถึงพระคุณครู กลับไปคารวะครู” ซึ่งเป็นการจัดงานวันครูครั้งที่ 68 ธีม “ครูดีสอนดี ศิษย์ดีเรียนดี มีความสุข” โดยจัดพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในรูปแบบผสมผสานทั้ง Onsite และ Online ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานงานวันครู ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) และ Online ทาง YouTube และ Facebook แฟนเพจคุรุสภา และ TBL Suandusit  ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยมีล่ามภาษามือด้วย

ขณะเดียวกันสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ก็มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมงานวันครูผ่านการสำรวจความคิดเห็นประชาชนหัวข้อ “ความเชื่อมั่นครูไทย” ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่ 19 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 3,676 คน (ทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 16-26 ธันวาคม 2566 เน้นตัวชี้วัดสำคัญ 20 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อครูไทยทั้งด้านส่วนตัว การพัฒนาตนเอง และการพัฒนาวิชาชีพในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนเต็ม 10
ผลสำรวจพบว่า

1. ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น “ดัชนีครูไทย” ปี 2566 อยู่ที่ 7.90 คะแนน เมื่อเทียบกับปี 2565 ได้ 7.52 คะแนน หรือคะแนนความเชื่อมั่นปีนี้สูงขึ้น 0.38 คะแนน

2. จากตัวชี้วัด 20 ประเด็น ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น “ดัชนีครูไทย” ใน 5 อันดับแรก (จากคะแนนมากที่สุด) คือ มนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับผู้อื่นได้ 8.20 คะแนน (อันดับ 1) บุคลิกภาพดี แต่งกายเหมาะสมกับอาชีพ 8.19 คะแนน (อันดับ 2) มีความเมตตา มีจิตใจโอบอ้อมอารี 8.16 คะแนน (อันดับ 3) สามารถทำงานเป็นทีมได้ 8.07 คะแนน (อันดับ 4)  และใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม 8.02 คะแนน (อันดับ 5) เมื่อเทียบกับปี 2665 พบว่า อันดับ 1 2 และ 5 ไม่แตกต่างกัน

3. จากตัวชี้วัด 20 ประเด็น ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น “ดัชนีครูไทย” ใน 5 อันดับท้าย (จากคะแนนน้อยที่สุด) คือ ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้เป็นสิน 6.78 คะแนน (อันดับ 20)  ควบคุมอารมณ์ได้ดี แสดงออกอย่างเหมาะสม 7.64 คะแนน (อันดับ 19) ดูแลตนเองทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ 7.79 คะแนน (อันดับ 18) มีความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าเปลี่ยนแปลง 7.84 คะแนน และอบรมพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 7.84 คะแนน (อันดับ 16 เท่ากัน) และปรับตัวได้เร็ว แก้ปัญหาได้ดี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 7.85 คะแนน (อันดับ 15) เมื่อเทียบกับปี 2665 พบว่าประชาชนคิดเห็นสอดคล้องกันในประเด็นประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้เป็นสิน และควบคุมอารมณ์ได้ดี แสดงออกอย่างเหมาะสม

4. “จุดเด่น” ครูไทย วันนี้  คือ ใช้เทคโนโลยีในการสอน 58.29% (อันดับ 1) ขยัน อดทน  ทุ่มเท  เสียสละ 54.70% (อันดับ 2) และทักษะการสอนดี สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ 48.67% (อันดับ 3) เมื่อเทียบกับปี 2665 พบว่าอันดับ 1 และ 2 เหมือนกัน ส่วนอันดับ 3 แตกต่างจากปี 2565 คือเข้าใจเด็ก เข้าใจยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 44.63% 

5 “จุดด้อย” ครูไทย วันนี้ คือ มีปัญหาหนี้สิน 66.56% (อันดับ 1) ภาระงานมาก ไม่มีเวลา 63.49% (อันดับ 2)  และขาดงบประมาณสนับสนุน 56.96% (อันดับ 3) เมื่อเทียบกับปี 2665 พบว่ามีจุดด้อยที่ตรงกันคือ ภาระงานมาก

6. ความคิดเห็นเกี่ยวกับ “เรียนดี มีความสุข” มีความสำคัญต่อคุณครูและนักเรียนอย่างไร พบว่าทำให้บรรยากาศการเรียนเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน 69.61% (อันดับ 1) ช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น 60.73% (อันดับ 2) และมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่เครียด ไม่กดดัน 58.74% (อันดับ 3)

7. ความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘ความเปลี่ยนแปลงของครูไทย’ ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่าสามารถทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น 64.22% (อันดับ 1) ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอนได้ดีขึ้น 61.56% (อันดับ 2) และพัฒนาตนเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ทันยุคสมัย 60.30% (อันดับ 3)

เมื่อพิจารณาภาพรวมคะแนนดัชนีครูไทย พบว่าคะแนนความเชื่อมั่นปี 2566 มีคะแนนสูงขึ้น และสูงที่สุดเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2566 ได้ 7.90 คะแนน ปี 2564 ได้ 7.75 คะแนน และปี 2565 ได้ 7.52 คะแนน) สะท้อนว่าวิชาชีพครูยังเป็นวิชาชีพที่ประชาชนศรัทธา ไว้วางใจ เคารพ นับถือ และยกย่อง แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์ทำให้วิชาชีพครูเสื่อมลงไปบ้าง แต่ที่สำคัญกว่าคือปัญหาเก่าเรื้อรังของครูที่แก้ยังไม่ “รอด” ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมารวมถึงในปีนี้ด้วย คือ “ปัญหนี้สิน” และ “ภาระงานมาก”

หากอยากให้ ‘ครูดี’ ทำหน้าที่สอนหนังสือ(ได้)ดี และเด็กเรียน(ได้)ดี และมีความสุข สถาบันผลิตครูต้องผลิตครูเก่ง ครูดีเข้าสู่ระบบ และระหว่างการทำงานที่โรงเรียน สถาบันที่ทำหน้าที่ดูแลครูก็ต้องมีกระบวนการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องและโปร่งใส พร้อมให้ความมั่นคงและความมั่นใจทางวิชาชีพ รวมถึงลดหรือตัดภาระงานที่ไม่จำเป็นออกบ้าง เพื่อมอบคืนความสุขให้ครู แล้วครูส่งต่อความสุขให้ศิษย์ผ่านการเรียนการสอนที่ดี สนุก และมีคุณภาพ เมื่อนั้นศักยภาพทางการศึกษาไทยก็จะดีดกลับ ไม่รั้ง “บ๊วย” อีกต่อไปครับ !!!