ยูร กมลเสรีรัตน์
นวนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” เป็นนวนิยายชิ้นเอกของพนมเทียน ครองใจผู้อ่านร่วม 60 ปีขึ้นไป เขาเริ่มเขียนบทแรกเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2507 จบบทสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 เวลา 02.45 น. ใช้เวลาเขียนทั้งสิ้น 27 ปี 7 เดือน 2 วัน
“เพชรพระอุมา” ได้รับการจัดพิมพ์หลายวาระ จาระไนไม่หวาดไม่ไหว นั่นก็คือ พิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ้คครั้งแรกจำนวน 98 เล่ม โดยสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา หลังจากนั้นได้เขียนต่อจากเล่มที่ 98 ตีพิมพ์ในนิตยสารจักรวาลปืนที่พนมเทียนเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ ต่อมา ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อื่นอีก รวมทั้งตีพิมพ์ภาคสมบูรณ์คือ ภาคแรก ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และนำมาตีพิมพ์ซ้ำในจักรวาลปืน หลังจากนั้นก็วางปากกาเป็นเวลา 7-8 ปี เพราะสุขภาพไม่อำนวย จึงกลับมาเขียนภาค 3 อันเป็นภาคสุดท้าย ตีพิมพ์ในจักรวาลปืนระหว่างปี 2525 ถึงปี 2533
นวนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” ถือว่าเป็นนวนิยายที่ยาวที่สุดในโลก เปรียบได้กับภูเขาวรรณกรรม ไม่ทราบว่า มีการบันทึกไว้ในกินเนสส์ บุ้คหรือยัง ผมได้อ่าน “เพชรพระอุมา” ครั้งที่เรียนอยู่ชั้นมัธยม มีในห้องสมุดของโรงเรียนเล่มละ 1 ก๊อปปี้ ต้องเวียนกันอ่านตามคิวและต้องอ่านให้จบคืนนั้น ก็ไม่ต่ำกว่าตี 2-3 เพราะมีเพื่อน ๆ รอคิวอยู่ เด็กสมัยก่อนไม่มีเครื่องบันเทิง แม้กระทั่งทีวี มีแต่หนังสือนี่แหละที่ช่วยให้ความบันเทิงเริงใจ
หลังจากเรียนจบ ก็ไม่ได้ติดตามอ่านอีก กระทั่งปี 2534 ตอนทำงานที่กรมสามัญศึกษา(ชื่อใหม่คือ สพฐ. สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ) เห็น “เพชรพระอุมา” ฉบับสมบูรณ์คือ มีภาคสุดท้ายด้วยวางขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดอยู่ข้างคุรุสภา
เดิมนวนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” พิมพ์รวมเล่มเป็นปกแข็งทั้งหมดจำนวน 53 เล่ม แต่ละเล่มมีความหนาประมาณ 33 ยก เมื่อนำมารวมกันทั้งหมดจะมีความหนาประมาณ 1,749 สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรมนำมาพิมพ์ใหม่ บรรจุใส่ตู้ไม้สักอย่างดีจำนวน 48 เล่ม แบ่งเป็นสองภาคคือภาคแรก จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน ภาคสมบูรณ์ จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน ได้ข่าวว่ารับค่าเรื่องไปนับล้านบาท ถือว่าเป็นบำเหน็จในการทำงานในบั้นปลายชีวิตของนักเขียน
นวนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” นี้พนมเทียนนำเค้าโครงเรื่องมาจากนวนิยายเรื่อง King
Solomon’s Mines ของเซอร์ เอช ไรเดอร์ แฮกการ์ด (Sir H. Rider Haggard) เป็นเรื่องราวการผจญภัยในความลี้ลับของป่าดงดิบในทวีปแอฟริกา พนมเทียนได้อ่านตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เป็นหนังสืออ่านประกอบวิชาภาษาอังกฤษ นวนิยายเรื่องนี้แปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า “สมบัติพระศุลี” เคยสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน
จากหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่พนมเทียนได้อ่าน เขานำมาขยายอย่างยาวเหยียด ผูกเรื่องให้ชวนติดตามเรื่องราวและเหตุการณ์ในเรื่อง เขาได้เปรียบตรงที่เป็นนักผจญภัยในป่ามาก่อน บุกตะละยไปจนถึงชายแดนพม่า ประกอบกับมีความรู้เรื่องปืนผาหน้าไม้อย่างทะลุปรุโปร่ง ทำให้ช่วยเพิ่มสีสันและความเข้มขันของเรื่องราวมากยิ่งขึ้น
เมื่อปี 2535 พนมเทียนฟ้องสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งในคดีละเมิดลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” ผู้ซื้อบทประพันธ์กับวิทยา เวสสวัฒน์ ซึ่งซื้อบทประพันธ์ไปสร้างภาพยนตร์ครั้งแรกและเข้าใจไปเองว่าลิขสิทธิ์ที่ซื้อมาตกเป็นของตน ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 คดีประวัติศาสตร์นี้พนมเทียนต้องหมดเงินถึง 5 แสนบาทและใช้เวลาสู้คดีถึง 6 ปี เพื่อพิสูจน์ความชอบธรรม จนกระทั่งชนะคดี
สำหรับนามปากกา พนมเทียน ซึ่งใช้เขียนนวนิยายทุกประเภทนั้น เคยถามว่า ทำไมไม่เปลี่ยนนามปากกาใหม่เป็นชื่อผู้หญิงใช้เขียนเรื่องรัก เพื่อแบ่งแนวการเขียนตามนามปากกาเหมือนนักเขียนหญิงบางคน เขาตอบว่า
“สมัยนั้นมีแต่นามปากกาผู้หญิงเขียนนวนิยายเยอะแล้ว สำนักพิมพ์เขาไม่ยอมให้เปลี่ยน นามปากกา ‘พนมเทียน’ติดตลาดแล้ว”
นามปากกา “พนมเทียน” ดังเป็นพลุขนาดนั้น เขียนเรื่องแนวไหน ก็ขายได้และขายดีด้วย ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนให้เปลี่ยนนามปากกาใหม่หรอก มีหวังขายไม่ออก แล้วถามด้วยความสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมนามปากกา “พนมเทียน”ซึ่งเขียนเรื่องแนวโลดโผนและแนวผจญภัยในป่า จึงสามารถเขียนเรื่องรักหวาน ๆ ได้อย่างเข้าถึงอารมณ์ของผู้หญิง ถึงแม้นักเขียนชายบางคนเขียนเรื่องรักได้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาอรรถาธิบายให้ฟังอย่างละเอียดว่า...
“อันนี้เป็นเรื่องความอัศจรรย์ใจของนักอ่านผู้หญิงทั่ว ๆ ไป คือเมื่อผมจะเขียนเรื่องรักหวาน ๆ ของผู้หญิงที่เอาผู้หญิงมาเป็นตัวเอกของเรื่อง ผมถอดชีวิตจิตใจวิญญาณของตัวเองสมมุติ
กลับไปเป็นผู้หญิง ที่สมมุติกลับไปเป็นผุ้หญิงได้ เพราะผมคบผู้หญิงในวัยที่เราจะคบกันได้มามาก เราก็ถ่ายทอดความรู้สึกอันนั้นออกมา เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมเองรู้สึกประหลาดใจตัวเองนิด ๆ เหมือนกันว่าทำไมตัวเองเขียนได้ ที่เขียนได้ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะผมคบเพื่อนผู้หญิงมาก เราก็เอาจิตใจของเขามาใส่ในใจของเรา นักเขียนชายจะเขียนไม่ถึงอารมณ์ผู้หญิง ผมจะเขียนออกมาชนิดที่เรียกว่าเป็นตัวแทน
ผู้หญิงได้อย่างดีที่สุด ที่นักเขียนชายเขียนเรื่องรักหวาน ๆ มักไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเหตุว่าเขาไม่สามารถแทนตัวเขาเองเป็นผู้หญิงได้ เขาบรรยายความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงไม่ออก ถ้อยคำคำพูดอะไรก็ตามไม่เป็นผู้หญิง แต่ผมเขียนออกไป ผมจะถอดชีวิตจิตใจวิญญาณของเขามาใส่ในตัวเรา มันเหมือนกับผู้หญิงเป็นคนเขียน”
นักเขียนนามอุโฆษเปรียบเปรยให้ฟังว่า ในการสวมวิญญาณของผู้หญิงถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นตัวละครผู้หญิงในหลายบทบาทเช่นนี้ เป็นยิ่งกว่าผู้กำกับภาพยนตร์เสียอีก ซึ่งจะต้องถอดวิญญาณของผู้หญิงออกมาให้ได้
เมื่อถามว่า นวนิยายแต่ละเรื่องที่เขียน มีเค้ามาจากเรื่องจริงมากน้อยแค่ไหน อย่างเช่นเรื่อง ละอองดาวและสกาวเดือน ที่เอาชื่อลูกสาวทั้งสองคนมาตั้งเป็นชื่อนวนิยาย เขาตอบว่า.....
“มีส่วนของชีวิตจริงที่พบเห็นมาบ้าง แล้วเอาจินตนาการประกอบเข้าไปจินตนาการเป็นสุดยอดของความเป็นนักเขียน แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ทิ้งประสบการณ์ที่ผ่านมา นักเขียนจำเป็นที่จะต้องรู้ในสิ่งที่เขียนให้ตลอด พูดง่าย ๆ การจะเป็นนักเขียนมันจำเป็นต้องเป็นผู้รอบรู้ไปแทบทุกอย่าง ว่างั้นเถอะนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างที่ตัวเองเขียน”
ในการเอาชีวิตจริงมาเขียนเป็นนวนิยาย “พนมเทียน”ได้ให้ข้อแนะนำว่า ให้หยิบเอาประเด็นที่สำคัญหรือส่วนใดส่วนหนึ่งที่กสำคัญมาผูกเป็นนวนิยาย แต่...
“ถ้าสำคัญทั้งสองส่วน ก็เอามาทั้งหมด ถ้าพอใจก็เอามาเป็นส่วนมาก แต่ไม่เอาชีวิตจริงทั้งดุ้น ถ้าเอาชีวิตจริงทั้งดุ้นมาเขียนจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะชีวิตของคนจริง ๆ ทั้งดุ้น มันไม่สนุกเหมือนกับการจินตนาการเข้าไปตกแต่งขัดเกลา ชีวิตจริงทั้งดุ้นบางทีทำท่าจะไปได้ดี ลงท้ายก็ไม่ดีบ้าง อะไรบ้าง หรือส่วนประกอบทำให้มันเสื่อมคุณค่าไปบ้าง เพราะฉะนั้นต้องเอามาบางส่วน”
พนมเทียนกลับมาเขียนนวนิยายอีกครั้งเมื่อปี 2541 เมื่ออายุ 70 ปี หลังจากวางมือไปเป็นเวลายาวนาน นั่นก็คือนวนิยายเรื่อง “คิมหันต์สวรรค์หาย”ตีพิมพ์ในนิตยสารขวัญเรือน ซึ่งถือว่าเป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิตนักเขียนของเขา
“เป็นเรื่องไม่ยาวนักขนาด 20 ตอน ถ้าไปเขียนเรื่องยา ว ๆ แบบ ‘เพชรพระอุมา’ มันหนักเกินกำลัง อายุมากแล้ว สุขภาพก็ไม่อำนวย สุดท้ายจะล้า ทำไม่สำเร็จ”
นวนิยายเรื่อง “คิมหันต์สวรรค์หาย” ไม่เป็นที่กล่าวขวัญนัก อาจเป็นเพราะเป็นเรื่องสมจริงหรือเรียลลิสติก ไม่ใช่แนวโรแมนติก เพราะเขาเอาชีวิตคนในวงการหนังสือพิมพ์มาเขียน เพื่อสะท้อนเล่ห์กลในวงการและกมลสันดานของมนุษย์ หลังจากเขียนนวนิยายเรื่องนี้จบ พนมเทียนก็ไม่ได้เขียนนวนิยายอีกเลย เขาให้เหตุผลว่า
“ยังไม่มีพล็อตจะเขียน ถ้ามีพล็อตเมื่อไหร่ก็จะเขียน ผมเป็นนักประพันธ์ที่มีกำหนด กฎเกณฑ์ว่า เรื่องที่จะเขียนจะต้องมีพล็อตที่สมบูรณ์แล้ว จึงจะเขียนออกมาได้ ไม่ใช่ว่ามีที่ลงพิมพ์ก็ เขียนไปก่อน พล็อตจะเป็นยังไงช่างมัน”
ในฐานะเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงอันเกริกไกร “พนมเทียน” ได้ฝากข้อคิดสำหรับผู้ที่อยากเป็นนักเขียนและผู้ที่เป็นนักเขียนใหม่เอาไว้ว่า
“การจะเป็นนักเขียนได้จะต้องมีจินตนาการที่ดี มีความขยันในการเขียนและจะต้องมีความละเอียด ละเมียดละไม” แม้ว่านักเขียนนามอุโฆษผู้นี้จากไปแล้วเมื่อปี 2563 ด้วยวัย 89 ปี หากนามปากกา“พนมเทียน” เปรียบประดุจแสงเทียนที่ยังคงส่องสว่างอยู่ในใจของนักอ่านตราบนานเท่านาน จึงขอจบด้วยบทกลอนสั้น ๆ ที่แต่งขึ้นด้วยความรำลึกถึงท่าน...
นามปากกา“พนมเทียน”เด่นสง่าจารึกไว้ บนหลักชัยวรรณกรรมไม่แปรเปลี่ยน คือนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่คือ “พนมเทียน” คือนักเขียนผู้อยู่เหนือกาลเวลา
“ผมขอตายไปกับความหลงใหล ดีกว่าตายไปกับความเบื่อหน่าย”(วินเซนต์ แวน โก๊ะ)