ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

 

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปดูหนังเรื่อง 4 Kings มาครับ...

ดูเผินๆหนังเรื่องนี้อาจเป็นแค่หนังบู๊ของเด็กช่างยุค 90 ตีกันหรือหนังดราม่าเรื่องหนึ่ง แต่เอาจริงๆแล้ว ถ้าวิเคราะห์กันให้ดี หนังเรื่องนี้ คือหนังที่สะท้อนความจริงบางอย่างของสังคมที่น่าสนใจและน่าตั้งคำถามอย่างมาก ที่สำคัญที่สุด เรื่องราวในหนังยังคง “เป็นความจริงอยู่ในปัจจุบัน”

สิ่งที่สะท้อนใจผมมากที่สุด คือประเด็นของ “เด็กบ้าน”ครับ ซึ่งหากใครได้ดูหนังเรื่องนี้ จะเข้าใจว่า เด็กบ้าน คือเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ อยู่ในชุมชนต่างๆ บ้างขายยาเพื่อประทังชีวิต และมักรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนที่บางครั้งก็มีเรื่องมีราวกันทั้งกับกลุ่มเด็กบ้านอื่นๆรวมถึงเด็กช่าง

ถ้าท่านผู้อ่านได้ดูหนังเรื่องนี้ จะมีตัวละครอยู่ตัวหนึ่งชื่อว่า “เค BU” หรือ “เค บุรณพนธ์” ซึ่งเป็นตัวละครหลักตัวหนึ่งของภาคนี้ ผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับคุณ “เค BU” นี่แหละครับ แต่ไม่ใช่ในหนังนะครับ แต่คือ คุณ ชิษณุชา นวลปาน หรือ “เค บุรณพนธ์” ตัวจริงเสียงจริง ที่ยังมีชีวิตอยู่ และทำให้ผมทราบว่า เด็กบ้านที่เราเห็นในหนัง ปัจจุบันผ่านมา 30 กว่าปี ก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน

เมื่อคุยกันต่อถึงต้นตอของปัญหาเด็กบ้านนั้น พบว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่ปัญหาของระบบการศึกษาอย่างที่หลายๆคนคิด แต่กลับเป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆโดยเฉพาะปัญหาของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งปัญหาปากท้อง โอกาสในการทำงาน หรือแม้แต่ปัญหายาเสพติด เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านประสบปัญหาต่างๆเหล่านี้ ย่อมทำให้ลูกหลานขาดโอกาสในการเข้าเรียน ขาดความเคารพนับถือ หลายต่อหลายคนจำเป็นต้องหาเลี้ยงตนเอง และแน่นอนว่าหลายต่อหลายคนเดินเข้าสู่เส้นทางยาเสพติด

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือ การที่เยาวชนเหล่านี้พึ่งพาเพื่อนฝูงและรุ่นพี่เป็นหลักแทนพ่อแม่ เป็นทั้งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเพื่อนคู่คิดทั้งในยามสุขและทุกข์ และมีการหล่อหลอมส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้หลายต่อหลายคนเลือกทางเดินที่ไม่ใช่การเรียนหนังสือ แต่กลับกลายเป็นการหาเงินเลี้ยงชีพ และการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆทั้งถูกและผิดกฎหมาย

ในส่วนของเด็กช่างนั้น ปัจจุบันก็ยังคงมีปัญหาการทะเลาะวิวาทกันอยู่ หากแต่ในยุค 90 นั้น ตีกันบ่อยแต่ไม่สูญเสียมากเท่าปัจจุบัน ปัจจุบันนั้นตีกันไม่บ่อย แต่ความเสียหายสูงกว่า ด้วยเพราะหลายต่อหลายครั้งใช้อาวุธที่มีความรุนแรงในการวิวาท ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่คุณ เค BU ได้เคยศึกษาวิจัยมาเช่นกัน ว่าความรุนแรงนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการหล่อหลอมผ่านกระบวนการที่เป็นระบบ ละม้ายคล้ายกับการหล่อหลอมของทหารจึงทำให้เกิดการรักในหมู่คณะและสถาบันในระดับสูง เป็นการสร้าง อิสซึ่ม (ism) ซึ่งเป็นระบบความเชื่อที่แข็งแรง บวกกับการถูกป้อนข้อมูลบางอย่างลงในกระบวนการ จึงส่งผลให้เกิดความเป็นอริระหว่างสถาบันและนำไปสู่การวิวาทที่เป็นมหากาพย์อย่างที่เราๆเข้าใจกัน

เมื่อหันมามองที่ฟากฝั่งของการแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาในทั้งสองเรื่องนี้ ยังคงทำแบบลูบหน้าปะจมูก เมื่อเกิดปัญหาก็ตื่นตัวกันทีหนึ่ง จากนั้นก็เงียบหายไป เข้าใจได้ว่าก็เพราะภาคการเมืองต่างๆ ไม่อยากลงไปแตะเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะแน่นอนว่าพี่น้องนักเรียนช่างนั้นก็เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งก้อนใหญ่ไม่เบา การแก้ปัญหานี้จึงอาจถูกมองเป็นการแก้ปัญหาสังคมที่เปลืองตัว “ได้ไม่คุ้มเสีย” ทำให้มองข้ามความสำคัญของปัญหานี้ไป

ท่านผู้อ่านครับ ปัญหานี้มองเผินๆอาจมองว่าเป็นปัญหาของคนกลุ่มเล็กๆของประเทศ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้วจะพบว่า ปัญหานี้มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปอย่างมหาศาล

หากมองในมิติของเด็กบ้าน จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เห็นชัดเจนที่สุด คือปากท้อง โอกาสในการทำมาหากิน ยาเสพติด สภาพสังคม การหล่อหลอมของรุ่นพี่ นี่ยังไม่นับผลกระทบที่ตามมาอีก เช่น การสูญเสียกำลังสำคัญของชาติ การทะเลาะวิวาท และอื่นๆ ทั้งๆที่เยาวชนเหล่านี้คือพลังสำคัญของชาติไทยในการพัฒนา

เช่นเดียวกันกับเด็กช่าง เยาวชนเหล่านี้คือพลังสำคัญของชาติ ที่จริงๆหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ผู้ที่จบสายอาชีวะ หรือสายช่าง สามารถถูกส่งออกไปทำงานยังต่างประเทศ กอบโกยเงินมหาศาลกลับมายังประเทศไทยได้ เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่ดีเยี่ยม (ใครเคยไปอยู่เมืองนอกจะรู้ว่า ช่างไทยเก่งและได้รับการยอมรับ แถมค่าตัวแพงหูฉี่) การสูญเสียของเด็กช่างไปกับการวิวาทไม่ได้มีผลกระทบแค่ครอบครัวของเขาเท่านั้น แต่มองได้ว่าสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจของชาติไปไม่น้อย ยังมินับหากเกิดลูกหลงกับผู้อื่น

การผลักดันให้สายอาชีวะ เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจสำคัญของชาติ ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางแก้ปัญหาที่ดีเช่นกัน เป็นการทำให้เยาวชนเห็นถึงคุณค่ามหาศาลหลังจากเรียนจบของตน เป็นการใช้เทคนิคทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วย ทำให้เยาวชนเล็งเห็นได้ว่า การสูญเสียจากการวิวาทนั้นเป็น “ต้นทุนที่สูงมาก” เพราะการงานที่จะได้ทำหลังจากเรียนจบนั้นมีมูลค่ามหาศาล มนุษย์จะคำนวณต้นทุนและกำไรของต้นและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการของรัฐบาลแล้วครับ ว่าจะหาตลาด สร้างตลาด ให้สายอาชีวะเหล่านี้อย่างไร

วันนี้ผู้มีอำนาจ ควรเลิกลูบหน้าปะจมูกได้แล้ว หยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาแก้ไขกันที่ต้นตอเสียที แต่การจะแก้ไขที่ต้นตอให้ได้นั้น ต้องเปลี่ยนมุมมองเป็นอันดับแรก

เราต้องมอง “ปัญหาเด็กช่างเด็กบ้าน” เหล่านี้ เป็น “ผลลัพธ์ที่เกิดจากปัญหาสังคม” หรือ “เป็นเหยื่อของปัญหาสังคมที่มันฝังรากลึกในสังคมไทย” ไม่ใช่ไปมองว่าเขาเป็น “ปัญหาสังคม”

การมองสองมุมนี้เป็นมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ และแน่นอน เมื่อเรามองปัญหาต่างไป วิธีการแก้ไขปัญหาก็จะต่างออกไป หากมองว่าเด็กช่างเด็กบ้าน เหยื่อของปัญหาสังคม เราก็จะได้ไปแก้กันที่ปัญหาที่อยู่ลึกๆของสังคม เป็นโจทย์ที่แก้ต้นตอของปัญหาจริง แต่หากมองว่าเขาเหล่านั้น เป็นปัญหาสังคม สุดท้ายทางแก้ก็หนีไม่พ้น การปิดโรงเรียน หรือเรียกครูบาอาจารย์มาพูดคุยกัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่มีประสิทธิภาพ...ที่กล้าพูดว่าไม่มีประสิทธิภาพ เพราะทำกันมาหลายสิบปี ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

ก็หวังว่า จะมีสักรัฐบาลที่กล้าลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง กล้าที่จะลงทุนกับปัญหาที่หลายคนมองว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” ลงทุนกับการแก้ที่ต้นตอของปัญหา ไม่ใช่มัวแต่ลูบหน้าปะจมูก

ลูบกันมาหลายสิบปี สงสัยป่านนี้ลูบไปถึงท้ายทอย แล้วกระมัง...

เอวัง