ทองแถม นาถจำนง
สมัยข้าพเจ้ายังเด็ก ๆ ได้ยินคำว่า “พระเจ้าเหา” บ่อย ใช้กันในความหมายว่า ครั้งโบร่ำโบราณ เก่าเสียจนไม่รู้จะนึกย้อนไปได้อย่างไร เช่นพูดกันว่า “ครั้งพระเจ้าเหา......” ในทางประวัติศาสตร์โบราณคดี มีชื่อเรียกตำหนักหนึ่งในพระราชวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ว่า “ตึกพระเจ้าเหา”
ข้าพเจ้าเคยเปิดหาคำอธิบาย “พระเจ้าเหา” ในกูเกิ้ล พบคำอธิบายของ คุณลิขิต ฮุนตระกูล (หนังสือ ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างชาติไทยกับชาติจีน) กับของ กรมพระยาดำรงฯ (หนังสือ “บันทึกรับสั่ง”)
ข้าพเจ้าขอฟันธงว่า เลิกเชื่อสมมุติฐานของคุณลิขิตเสียเถิด เรื่องจักรพรรดิเหลือง “หวงตี้” มันเป็นเพียงตำนานเก่าแก่(ก่อนประวัติศาสตร์) ไม่อาจจะอ้างอิงเป็นตัวบุคคลได้ ถึงแม้จะมีสุสานหวงตี้อยู่ แต่ก็คงเป็นสิ่งที่คนในยุคต่อ ๆ มาสร้างขึ้นภายหลัง
คำอธิบายเรื่องพระเจ้าเหา ที่ลากไปโยงทับกับเรื่องของจีนเขา ตามข้อเขียนของคุณลิขิต ฮุนตระกูล มีดังนี้
“พระเจ้าเสียวเหา หรือ พระเจ้าเหา(น้อย)
เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าหว่างตี้ ราชวงค์ที่1 ปฐมกษัตริย์ของจีน
ครองราชย์ 2145-2055 ปี ก่อนพุทธศักราช
อยู่ในราชสมบัติ 100 ปี มีพระอัครชายา 5 องค์
พระนางชีเลงสี พระมารดาพระเจ้าเหา(น้อย) เป็นพระอัครชายาที่1
มีพระโอรส 3 องค์ คือ
1. ชังฮี
2. พระเจ้าเหา(น้อย)
3. หล่งเมี้ยว
พระเจ้าเหา(น้อย)เป็นพระโอรส อันดับที่ 2 พระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อปีมะโรง 2045 ปี ก่อนพุทธศักราช และสวรรคตเมื่อ ปีเถาะ 1971 ปี ก่อนพุทธศักราช พระองค์เป็นต้นตระกูลไทย ในบันทึกประวัติศาสตร์จีน มีชัดแจ้งอยู่ว่า เชื้อพระวงศ์พระเจ้าเหานี้ ได้รับพระราชทานตราตั้ง ราชกูล "ไทไท" เป็นฐานันดรศักดิ์ประจำตระกูล
ฉะนั้นพระเจ้าเหาจึงนับว่าทรงเป็น ต้นตระกูลไทย และว่าเป็น บรรพบุรุษของไทย ดังที่บรรพบุรุษไทยแต่โบราณกาล มักอ้างเสมอว่า “ คนไทยนี้เป็นลูกหลานพระเจ้าเหา ” ที่น่าสังเกตคือ มีคำพูดอันหมายถึงเก่าแก่เหลือเกิน ติดปากคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “ โอ๊ย เก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาโน่น ”
“พระเจ้าเหา” นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า อย่าไปลากเอาเรื่องจีนมาเป็นไทย เพราะแค่มีคำว่า “ไทไท” อะไรตรงกับเสียงเรียกชื่อคนไทยเลย
“เหา” ยอร์ช เซเดต์ บอกว่าเป็นภาษาเขมร สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง “บันทึกรับสั่ง” ว่า
“ตึกพระเจ้าเหาที่เมืองลพบุรีที่ได้ชื่อว่า ‘เหา’ นั้น นึกไม่ออกอยู่นาน วันหนึ่งไปลพบุรีกับศาสตราจารย์เซเดส์ ถามถึงคำว่า ‘เหา’ แกบอกว่าเป็นภาษาเขมร แปลว่า ที่พระเจ้าแผ่นดินตรัสเรียก
เคาน์ซิลออฟเชมเบอร์ (Council of Chamber) มาประชุม ในตอนที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต ก็มีการประชุมที่นั่น”
ปัญหาเรื่องพระเจ้าเหาเป็นใคร “คุณรักษ์ม้า” ตั้งคำถาม ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างท้าทายในคอลัมน์ “ตอบปัญหาประจำวัน” ของสยามรัฐ ว่า
“ถ้าหม่อมตอบคำถามเหล่านี้ได้ครบถ้วน ผมขอยกให้หม่อมเป็นขงเบ้งบวกบังทองแห่งประเทศไทย”
“คึกฤทธิ์ ปราโมช” อธิบายเรื่องพระเจ้าเหาว่า
“คำว่า “พระเจ้าเหา”นี้ มาจากตึกหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้มีพระราชวิจารณ์ว่า ‘คำว่าเหานี้ สันนิษฐานว่าเป็นภาษาเขมร แปลว่า เรียก หมายความว่ารับสั่งให้เข้าาหา หรือเข้ามาประชุม นึกสงสัยต่อไปว่า จะมีศาลพระเจ้าเหาหรืออย่างไรทำนองเดียวกันแต่โบราณมาแล้ว เป็นแต่เอาชื่อเดิมมาเรียก มิใช่คิดขนานใหม่ สำหรับตึกที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงสร้างที่ในพระราชวังเมืองลพบุรี
ตึกพระเจ้าเหาจึงแปลได้ว่า “ตึกพระเจ้าเรียก” เป็นที่สำหรับขุนนางประชุมปรึกษาราชการ ถ้าจะแปลเป็นฝรั่งก็แปลได้ตรง ๆ ตัวว่า “Convocation Hall” คือตึกเรียกประชุม Con = มารวมกัน Vocare = เรียก Convocare = เรียกให้มารวมกัน
ในสมัยปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ได้กระทำรัฐประหารในตึกนี้ กล่าวคือในขณะที่ขุนนางทั้งปวงประชุมกันอยู่พร้อมเพรียง ก็ให้ทหารเอาหอกดาบและปืนสอดเข้าไปตามช่องหน้าต่างประตูโดยรอบ แล้วพระเพทราชาก็ประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ขุนนางทั้งหลายกระทำสัตย์สาบาน ณ ที่นั้น หลังจากรัฐประหารครั้งนี้แล้วเหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาและระเบียบวิธีปฏิบัติราชการคงจะเปลี่ยนไปมาก ของอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ ถ้ามีคนถามว่าเกิดขึ้นเมื่อไร ก็คงจะตอบกันว่า “แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา” ราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้นก็เกิดขึ้น “แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา” ต่อมาคำว่า “ตึก” เห็นจะหายไป คงเหลือแต่คำว่า “ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าเหา” แปลว่า “ตั้งแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง” หรือ “ตั้งแต่ครั้งรัฐประหาร” อย่างไรเล่า”
เป็นอันว่าปัญหาเรื่อง “พระเจ้าเหา” ไม่ใช่เรื่องทางจีน ไกลถึงลุ่มแม่น้ำฮวงโห แต่ “เหา” เป็นคำศัพท์ภาษาแขมร์ ตึกพระเจ้าเหา ก็คือสถานที่ประชุมขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช