แสงไทย เค้าภูไทย วันนี้ทั่วโลกคงจะได้ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเบื้องต้นกันแล้ว สิ้นสุดความกังวลในฐานะปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ 2 รองจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย โดยแนวโน้มนางฮิลลารี่ คลินตัน แห่งพรรคดีโมแครตจะได้รับชัยชนะ ขณะที่โดแนลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน ที่ทำท่าจะแซงเมื่อวันศุกร์จากข่าวที่เอฟบีไอแถลงว่ามีข้อมูลที่จะดำเนินคดีกับนางคลินตันเรื่องใช้อีเมลส่วนตัวส่งข้อมูลที่อาจจะเป็นความลับของทางราชการเนื่องจากเธอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ยุโรปทุกตลาด เอเชียทุกตลาดรวมถึงไทย ตกกันระนาว ค่าดอลลาร์สหรัฐอ่อนยวบ พากันหวาดผวาว่าทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดี จนเมื่อเอฟบีไอออกมาแถลงใหม่ว่าไม่มีข้อมูลใหม่ที่จะเอาผิดนางคลินตันได้ สถานการณ์ก็กลับมาดีเหมือนเดิม เช้าวันจันทร์ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์ก ยุโรป เอเชีย ไทย ดีดกลับกันเป็นแถวๆ แม้ขณะนี้ จะยังไม่ได้รับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 อย่างเป็นทางการ แต่โพลล่าสุด ชี้ว่านางคลันตันชนะ ตามลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่วันลงคะแนนจนถึงวันประกาศผล เป็นไปตามตารางเวลาดังนี้ 6.00 -7.00 น.วันที่ 8 พ.ย.(อังคาร) ตรงกับ 16.00-17.00 น. ของไทยเป็นช่วงลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนพรรค (popular vote) 538 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงอายุเกิน 18 ปีขึ้นไปจำนวน 120 ล้านคน ตัวแทนพรรคที่ได้รับเลือกตั้ง จะไปทำหน้าที่โหวตเลือกประธานาธิบดีอีกครั้ง พรรคใดได้คะแนนเสียงถึง 270 เสียงก่อน คือได้เกินกึ่งหนึ่ง(คะแนนครึ่งหนึ่ง 269 เสียง)ถือเป็นผู้ชนะโดยเด็ดขาด แต่ถ้าได้ตัวแทน 269 เสียงพอดี สภาคองเกรสจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าใครควรจะได้เป็นประธานาธิบดี 19.00-20.00 น.วันที่ 8 พ.ย.(อังคาร) ตรงกับ 5.00 น.วันที่ 9 ของไทย) ปิดการลงคะแนนเสียง 19.00 น.เวลาท้องถิ่นตรงกับ 6.00 น.เช้า 9 พ.ย.exit poll ที่เก็บตัวเลขและสุ่มตัวอย่างสัมภาษณ์ผู้ลงคะแนนเสียงที่ออกจากคูหาเลือกตั้ง เริ่มประเมินและแสดงผลเลือกตั้ง ซึ่งค่อนข้างแม่น 23.00 น.เวลาท้องถิ่นของวันที่ 8 พ.ย.ตรงกับ 9.30-10.00 น.วันพุธที่ 9 พ.ย.ของไทย เริ่มทะยอยประกาศผลการนับคะแนนเสียงแต่ละรัฐ จะทราบคะแนนรวม 51 รัฐพร้อมรวมคะแนนผู้ที่ลงคะแนนเสียงล่วงหน้าในช่วงหลังเที่ยงคืน 0.01 น.ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ( พุธที่ 9 พ.ย. 11.00 น.ของไทย) ประกาศผลคะแนนเสียงเมืองดิกซ์วิลล์ อันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีผู้ลงคะแนนเสียง 40 คน คนสุดท้ายลงคะแนนเสียงเสร็จสามารถนับคะแนนได้ทันที เมื่อได้ประกาศผลคะแนนเสียงทั้งหมด ก็จะได้ตัวแทนพรรค 538 คน รู้ผลเบื้องต้นว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีกันแล้ว จากนั้น จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตัวประธานาธิบดี (Electoral Vote) ในวันที่19 ธันวาคม 2559 สภาคองเกรสจะรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการวันที่ 3 มกราคม 2560 ประธานาธิบดีคนใหม่จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งวันที่ 20 มกราคม 2560 จากไทม์ไลน์หรือลำดับเหตุการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมริกานี้ ช่วงที่จะมีประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการจึงเป็นช่วงที่ผ่านพ้นปี 2559ไปแล้ว ผ่านพ้นการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลาง(เฟด) งวดเดือนธันวาคม 2559 ที่เศรษฐกิจทั่วโลกพากันใจจรดใจจ่อว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ เพราะมีผลต่อตลาดทุนและต่อการเงินทั่วโลก ตลาดทุน ตลาดหุ้นสหรัฐพากันเรียกร้องให้ลงคะแนนเสียงให้นางคลินตัน เพราะหากทรัมป์ชนะ ตลาดทุน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ การลงทุน การค้าโลกจะเป็นผู้แพ้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นนิวยอร์ก ถึงขนาดเตรียมคำเรียกหากเกิดปรากฎการณ์นี้ว่าโลกาพินาศ(catastrophe) แต่เมื่อนางคลินตันกลับมานำทรัมป์ใหม่ ค่าดอลลาร์สรอ.แข็งรับข่าวดีขึ้นมาทันที เช่นเดียวกับค่าดอลลาร์แคนาดาและเปโซ เม็กซิโก สิ่งที่ตลาดการเงิน ตลาดหุ้นรวมทั้งเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกกังวล หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ก็คือ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกครั้งใหญ่ นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์มุ่งเน้นปกป้องการค้าและอุตสาหกรรมในประเทศ โดยจะใช้นโยบายกำแพงภาษี ขึ้นภาษีขาเข้า ขณะที่ลดภาษีเงินได้บุคคลและนิติบุคคลเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ ดึงบริษัทอเมริกันกลับประเทศ จากที่ไปลงทุนผลิตนอกประเทศเพื่อผลจากค่าแรงถูกและภาษีลดหย่อนดึงดูดการลงทุนของประเทศเจ้าบ้าน ทั้งนี้ทรัมป์หวังจะสร้างงานให้คนอเมริกันเพิ่มขึ้น อีกด้านหนึ่ง ทรัมป์จะปกป้องตำแหน่งงานของคนอเมริกันจากแรงงานอพยพจากต่างแดนโดยเป้าหมายหลักคือชาวเม็กซิกัน ทรัมป์ประกาศว่าจะสร้างกำแพงกั้นตลอดแนวชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก เพื่อป้องกันชาวเม็กซิกันลักลอบเข้าเมืองมาหางานทำในสหรัฐที่มีค่าแรงสูงกว่าเม็กซิโกหลายเท่าตัว ทำให้ชาวเม็กซิกันเป็นเดือดเป็นแค้นทรัมป์เป็นอย่างมาก ถึงกับมีการทำหุ่นผ้ารูปทรัมป์ให้เด็กเตะต่อย จึงเมื่อมีแนวโน้มว่า นางคลินตันชนะ ค่าเงินเปโซจึงแข็งขึ้นมาทันที เช่นเดียวกันกับดอลลาร์แคนาดา ทั้งนี้เพราะนโยบายเศรษฐกิจของนางคลินตันจะไม่ต่างไปจากของประธานาธิบดีบารักโอบามา คือเน้นความร่วมมือในภูมิภาคอเมริกาเหนือ สำหรับไทยนั้น หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี จะมีผลกระทบแรงมาก เพราะสหรัฐเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของไทย คือ 11.00% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด รองจากจีนและญี่ปุ่น ไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว 10,100 ล้านดอลลาร์รอ. (ประมาณ 356,000 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐคือ รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ดี แม้ทรัมป์จะใช้นโยบายกำแพงภาษี ทว่าก็มีส่วนดีอยู่ด้านหนึ่ง คือการต่อต้านนโยบายการค้า TPP หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าเอเชีย-แปซิฟิก ( Trans-Pacific Partnership Trade Accord) ที่นางคลินตันสนับสนุน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ลงนามร่วมความตกลงทีพีพี เพราะเห็นว่าไทยจะเสียเปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสิทธิบัตรในสินค้าภูมิปัญญา สินค้าเกษตรกรรม และผลกระทบต่อข้อตกลงทางการค้ากลุ่มอาเซียน เวียดนามที่ลงนามเป็น 1 ใน12 ชาติสมาชิก TPP โดยหวังประโยชน์ทางการค้าที่ชาติสมาชิกกลุ่มนี้นำโดยสหรัฐครองอยู่ถึง 40% ของโลกนั้น ขณะนี้เริ่มเห็นผลกระทบดังที่ไทยกังวลแล้ว และกำลังพิจารณาลาออกจากสมาชิกภาพในการประชุมพิจารณาข้อตกลงรอบใหม่ ในประเด็น TPP นี้ ไม่ว่านางคลินตันหรือทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดี ก็ไม่มีผลกระทบต่อไทยอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้เป็นสมาชิก เว้นเสียแต่ว่า การเจรจารอบใหม่มีประเด็นใหม่ๆที่เป็นผลดีต่อไทยเท่านั้น