ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

 

จากตอนที่แล้วที่เราว่ากันด้วยเรื่องของการ “ปลูกพืชหมุนเวียนและการทำเกษตรผสมผสาน” ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะลดต้นทุนการเกษตรให้พี่น้องเกษตรกรได้ เมื่อเราลดต้นทุนแล้ว คราวนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง “เพิ่มรายได้” กัน

สิ่งสำคัญประการแรก คือ ความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายอันเดียวกัน คือการพลิกเอาการเกษตร ให้ขึ้นมามีบทบาทสำคัญของชาติให้ได้ เพราะการเกษตรคือจุดแข็งที่แท้จริงของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของเอกชนที่จะเข้ามาจับมือกับภาคการเกษตร

ทำไมต้องเอกชน? เพราะเอกชนไทยนั้นมีความสามารถมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวางแผนกลยุทธ์ การเพิ่มมูลค่า ทำแพ็กเกจกิ้ง หรือแม้แต่การทำการตลาด ซึ่งต้องยอมรับกันว่า ภาครัฐสู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภาครัฐจึงควรปรับบทบาทมาเป็นผู้สนับสนุน (Facilitator) ในขณะที่ดึงภาคเอกชนเขามามีส่วนร่วมแบบจริงจังในฐานะ “ผู้ร่วมทาง” ไม่ใช่แค่นายหน้าหรือพ่อค้าคนกลางที่มากดราคาหน้าไร่แล้วไปขายต่อหรือส่งออก

แต่! มีแต่ตัวใหญ่ๆนะครับ การจะนำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่การไปขอความร่วมมือ หรือรณรงค์ ตามแบบที่เคยทำๆกันมา แต่ต้อง “สร้างกลไก” ที่จูงใจ และทำให้ภาคเอกชนเห็นประโยชน์ร่วมกันในการเดินร่วมทาง และทำให้อยากเข้ามาร่วมมือด้วยตนเอง จึงจะทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่ฉาบฉวย มาแล้วไป เหมือนในอดีต

ทำยังไงล่ะ? งานนี้ก็ต้องพิจารณาดูครับ ว่ากลไก มาตรการอะไรใช้ได้บ้าง กลไกทางภาษี กลไกรางวัล รวมถึงรัฐควรต้องช่วยหาตลาด สร้างตลาดใหม่ๆ รวมถึงในต่างประเทศด้วย สิ่งเหล่านี้แน่นอนว่าจะทำให้เอกชนกล้าที่จะเข้ามาร่วมมือมากขึ้น เมื่อเอกชนร่วมมือแล้วการพลิกประเทศครั้งนี้จะเร็วอย่างติดจรวด เพราะเอกชนไทยมีศักยภาพมาก และที่สำคัญจะไม่ยอมล้มง่ายๆ

แต่สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกอยู่เสมอ คือการสร้างตลาดและผลักดันสินค้าเกษตรที่มีความหลากหลาย อันเป็นผลลัพธ์ของการปรับตัวของเกษตรกร พยายามลดการทำเกษตรเชิงเดี่ยวลงเพื่อให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้

ต่อมาสิ่งที่รัฐสามารถทำได้ คือการบริหารจัดการสต๊อค (Stock) ของสินค้าเกษตร ในหลายๆประเทศทั่วโลกจะมีหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ศึกษาและวิจัยตลอดจนควบคุม Demand และ Supply ของสินค้า อาทิ ในออสเตรเลียก็มีหน่วยงานที่ดูแลด้านขนแกะ ซึ่งหน่วยงานนี้จะทำการศึกษาวิจัยและคาดการณ์ Demand และ Supply ของขนแกะล่วงหน้า จนทำให้ทราบว่า ในปีหน้าจะมีความต้องการและมีสินค้าคงคลังอยู่เท่าไร ต่อมาก็จะทำการประสานกับเกษตรกรทั่วประเทศ ว่าปีหน้ามีความต้องการเท่านี้นะ ถ้าเกินกว่านี้จะล้นตลาดนะ

เกษตรกรก็จะรู้ได้ว่า เอ้อ สำหรับปีหน้า เราต้องผลิดเท่าไร และถ้าเกินโควตาแล้ว มีผลิตภัณฑ์อะไรที่ยังมีความต้องการในปีหน้า เช่นนี้ เกษตรกรจะวางแผนชีวิตตัวเองได้ ว่าเห้ย อ้อ ขนแกะปีหน้าเต็มแล้วเว้ย งั้นเราไปปลูกอย่างอื่นดีกว่า เป็นต้น สิ่งที่จะได้มาคือเกษตรกรจะไม่แห่กันปลูกอย่างใดอย่างหนึ่งจนสินค้าล้นตลาดเหมือนที่เราเห็นกันบ่อยๆ ที่สำคัญเราสามารถผลักดันสินค้าเกษตรได้หลากหลายมากขึ้นและมีมูลค่ามากขึ้นผ่านบทบาทของภาคเอกชน

นอกจากนี้ ประเทศไทยของเรายังเป็นประเทศ 1 ใน 10 ของผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก เราสามารถใช้บทบาททางการทูตสร้างความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตอาหารทั่วโลก เป็นการสร้างความริเริ่มใหม่ในเวทีระหว่างประเทศที่จะสร้างบทบาทความเป็นผู้นำของไทย และที่สำคัญ จะสามารถสร้างกลไกในด้านการค้าขายร่วมกับประเทศผู้ผลิตอาหารอื่นๆ ให้มีอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน

“เปลี่ยนสนามการแข่งขันเป็นความร่วมมือ และถือโอกาสเป็นผู้นำไปเลย” เช่นนี้ ก็จะช่วยในเรื่องของการค้าขายและราคาสินค้าเกษตรได้อย่างมีนัยสำคัญ

สุดท้าย ปัจจุบันยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสงคราม ประเทศไทยสามารถผลักดันการเป็นผู้นำด้านการแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารได้เช่นกัน โดยให้การช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาต่างๆ เรามีทั้งสินค้า องค์ความรู้ และพี่น้องเกษตรกร ที่สามารถออกไปช่วยเหลือประเทศต่างๆได้มากมาย

สิ่งนี้จะนำมาซึ่งความรู้สึกอันดีต่อประเทศไทย เราสามารถแฝงการค้าขายเข้าไปได้ และจะทำให้บทบาทในทางการเมืองระหว่างประเทศดีขึ้น และสิ่งนี้แหละครับ ที่จะเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่มีพลังมากๆของไทย คล้ายคลึงกับการที่จีนเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านสาธารนูปโภคในประเทศต่างๆ เข้าทำนองว่า เมื่อเราช่วยใครเวลาลำบาก เราจะได้รับการยอมรับมากกว่า และแน่นอน มันจะมี “พลังอำนาจ” มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

เสียดายที่เนื้อที่มีจำกัด แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็ได้เล่าให้ท่านผู้อ่านได้พอเห็นภาพ ว่า การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรนั้นสามารถทำได้ ทั้งการลดต้นทุนและการเพิ่มรายได้ ที่สำคัญ สามารถเชื่อมโยงได้กับหลายภาคส่วน ทั้งภาคเกษตร ภาคเอกชน ไปจนถึงภาครัฐและการต่างประเทศที่จะมีบทบาทสำคัญในการปูทางให้เกษตรกรไทย

ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่ขีดๆเขียนๆไปจะมีผู้มีอำนาจมาได้อ่านพบเจอบ้าง และน่าจะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองไม่มากก็น้อยครับ

เอวัง