ยูร กมลเสรีรัตน์
เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนเคยเลียงเคียงถามว่า มีประสบการณ์จากการทำงานในโรงงานมาก่อน คิดจะเขียนนวนิยายเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานหรือไม่ เพราะมุมชีวิตแบบนี้ไม่มีนักเขียนคนไหนเขียนได้ ในเวลานั้นศรีดาวเรืองบอกว่าได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานกว่า 20 ปีมาแล้วและเป็นนวนิยายเรื่องแรก แต่ยังไม่พอใจ...
“ต้องเอามาอ่านอีกรอบและขัดเกลาใหม่ คุณสุชาติก็บอกเหมือนกันว่าน่าจะทำได้แล้ว”
ตอนที่ศรีดาวเรืองเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ถือว่าเป็นมือใหม่ ฝีมือของเธอยังไม่แก่กล้าพอ เพราะเธอถนัดในการเขียนเรื่องสั้น เมื่อมีความสามารถในการเขียนสูง ได้นำนวนิยายเรื่องนี้มาปรับปรุงใหม่จนสมบูรณ์ขึ้น ปี 2552 นวนิยายเรื่องนี้จึงปรากฏสู่สายตาของผู้อ่านนั่นก็คือนวนิยายเรื่อง “ซ่อนกลิ่น”
ผลงานรวมเล่มของศรีดาวเรืองมีดังนี้ รวมเรื่องสั้น-แก้วหยดเดียว บัตรประชาชน มัทรี ภาพลวงตา แม่สาลู ชาวยักษ์และชมรมวันศุกร์ ราษฎรดำเนินและในวาระครบ 500 ปีความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส ได้มีการแปลเรื่องสั้น “มัทรี”เป็นภาษาโปรตุเกส โดยประโลม บุญรัศมี อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาโปรตุเกส ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นวนิยาย-เนินมะเฟือง เจ้ากาเหว่าเอย เด็กบินได้ หมอก ซ่อนกลิ่น บุหงา บรรพสตรีศรีดาวเรือง รวมบทความ-ละครแห่งโลก วิถีชาวบ้าน ละครแห่งรัก โลกชาวบ้าน บ้านเล็กในเมืองใหญ่ ไพร่สนทนา ผลงานที่พิมพ์ออกมาในวาระ 30 ปีศรีดาวเรืองเมื่อปี 2547 คือสารคดีชุด “สี่แผ่นดินอื่น”และรวมเรื่องสั้น 2 ภาษาชุด “ราษฎรดำเนิน” เป็นเรื่องสั้นแปลของเธอที่คัดมาเพียงบางส่วน และนิทานแอนเดอร์สัน สำหรับรวมเรื่องสั้น 2 ภาษาชุด “ราษฎรดำเนิน” ส. ศิวรักษ์ได้เขียนคำนำว่า...
“แม้ว่าศรีดาวเรืองจะมิใช่ผู้นำมวลชนชั้นแนวหน้า แต่พิจารณาจากประวัติและงานแล้ว จะเห็นว่าเธอมีความแนบแน่นอยู่กับขบวนของผู้ใช้แรงงานมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516...เพราะเหตุนี้เธอจึงเลือกเริ่มต้นผลงานชิ้นแรก ๆ ด้วยการสะท้อนภาพชีวิตของคนงานโรงงานทำแก้วออกมา มีชื่อว่า “แก้วหยดเดียว” แต่สิ่งที่ถือว่าแผกไปจากวรรณกรรมประเภทชูธงที่มีสะพัดกันจนเกร่อในยุคกระโน้นและแม้ในยุคต่อมาก็คือ นอกจากจะเป็นการสะท้อนความทุกข์ยากในวิถีชีวิตคนทำงานจากประสบการณ์โดยตรงแล้ว
งานเขียนของศรีดาวเรืองยังส่องให้เห็นและตั้งคำถามเกี่ยวกับแบบแผนคุณค่าทางจริยธรรมศาสนธรรมที่แปรเปลี่ยนไปอย่างตรงกันข้ามกันของไพร่กับกระฎุมพี ชนบทกับเมืองหลวง เกษตรกับอุตสาหกรรม ถือเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีถึงสายตาอันแหลมคมของเธอที่สามารถแทงทะลุทฤษฎีการต่อสู้ทางชนชั้น...
ยิ่งเมื่อเราพิจารณาถึงกลวิธีในทางวรรณศิลป์ด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่าอินทรีย์ของศรีดาวเรืองในด้านนี้แก่กล้าในทางกุสุมรสยิ่งขึ้น ๆ ตามความล่วงกาลผ่านวัยของชีวิตและการงานอย่างต่อเนื่องและเสมอต้นเสมอปลายของเธอ ในอันที่จะถ่ายทอดเรื่องราวการดำเนินของไพร่หรือราษฎร ซึ่งต้องเผชิญกับความทุกข์ยากเดือดร้อนให้ผู้คนในโลกหนังสือได้รับรู้ตลอดมา”
ดังที่กล่าวในตอนที่แล้วว่า ศรีดาวเรืองเป็นผู้ที่ขวนขวายเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และหมั่นเสาะหาความรู้ใส่ตัว โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เธอเรียนจากหนังสือเก่งภาษาอังกฤษใน 75 ชั่วโมงและเรียนภาษาอังกฤษทางไปรษณีย์ด้วยความพากเพียร ในเวลาต่อมาเธอจึงได้จับงานแปลวรรณกรรมเยาวชนและด้วยความเป็นนักเขียน เธอจึงถ่ายทอดออกมาด้วยเสน่ห์ของภาษาที่ชวนอ่าน ส่วนในเรื่องไวยากรณ์ จะมีผู้ตรวทานให้อีกครั้งหนึ่ง ดังที่เธอบอกเล่า...
“ถนัดแปลวรรณกรรมเยาวชน ใช้ภาษาไม่ยากเกินไปเหมือนวรรณกรรมผู้ใหญ่ อ่านเข้าใจง่าย”
ผลงานวรรณกรรมเยาวชนแปลมีดังนี้-การผจญภัยของลุงป๋วย หนังสือปกเขียว ดอนกีโฮเต้ ฉบับอนุบาล นิทานฮาวาย แม่ถ้อยน้ำคำ ลึกมั้ยนะ แม่ไม้ ยุคสมัยไวกิ้ง ผืนดินออกลูกเป็นเสื้อ เด็กข้างทางรถไฟ ความลับในห้องหมายเลข 342 สำหรับผลงานแปลเล่มสำคัญของศรีดาวเรืองคือ ผลงานแปลชุด อมตะนิทาน 2 เล่มของ 2 นักเขียนระดับโลกคือ นิทานของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอดร์เซ่น ชาวเดนมาร์ก และนิทานของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ ชาวเยอรมัน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่อดีตผู้ใช้แรงงานได้รับการยกย่องเกียรติคุณอย่างมากมาย กระนั้น ครั้งที่ศรีดาวเรืองได้รับเชิญให้ไปร่วมงานเทศกาลงานวรรณกรรมเอเชีย-แอฟริกา 2007 ณ เมืองจอนจู ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 7-14 พฤศจิกายน 2550 เธอได้แสดงปาฐกถาในงานประชุมนักเขียนเอเชีย-แอฟริกาในตอนหนึ่งด้วยความถ่อมตนว่า...
“...ฉันเป็นเพียงนักเขียนเล็ก ๆ คนหนึ่งและไม่ได้ตั้งเป้าไว้ที่การขายผลงานและให้ได้จำนวนมาก แต่อยู่ที่การได้เขียนหนังสือตามใจปรารถนา รายได้จากงานเขียนแต่ละครั้งน้อยมาก เมื่อเทียบกับนักเขียนขายดีที่มีชื่อเสียงอยู่ในประเทศ เรื่องสั้น นวนิยายและบทละครของฉันไม่เคยถูกทำเป็นละครทีวี...เพราะส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความหดหู่ของชีวิต...”
แม้ว่าศรีดาวเรืองจะถูกมองเมินจากคณะกรรมการศิลปินแห่งชาติที่ไม่รู้จักนามปากกานี้ หากยังมีองค์กรที่เห็นความสำคัญและให้คุณค่ากับศรีดาวเรือง นั่นก็คือ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้
ประกาศเกียรติและมอบรางวัลปิติศิลป์สันติภาพเมื่อปี 2556 และกองทุนศรีบูรพาได้มอบรางวัลศรีบูรพา ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลอันทรงค่าและยิ่งใหญ่สำหรับนักเขียน เพื่อเป็นเกียรติแก่ศรีดาวเรืองเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนที่ 26
ศรีดาวเรืองถือว่าเป็น “มือฉมัง”ด้านเรื่องสั้น เรื่องสั้นของเธอมีกลวิธีการเล่าเรื่องที่ชวนอ่านชวนติดตามและมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ แม้จะเล่นกับสัญลักษณ์ แต่เป็นความแยบยลที่ตีความได้ไม่ยาก ในวาระ 30 ปีของศรีดาวเรืองที่สร้างสรรค์เรื่องสั้นไว้ทั้งหมด 100 เรื่องและถือว่าเป็นโอกาสอันดีงามเนื่องในวาระ 100 ปีครูเหลี่ยมหรือหลวงวิลาศปริวรรต ผู้เขียนนวนิยายเรื่องแรกของไทย “ความไม่พยาบาท” จึงได้มีหนังสือรวมเรื่องสั้นทั้ง 100 เรื่องของเธอปรากฏโฉมออกมาในชื่อ “บรรพสตรี ศรีดาวเรือง”
หนังสือปกแข็งสวยงามเล่มนี้ มีตั้งแต่เรื่องสั้นเรื่องแรกคือ “แก้วหยดเดียว”ที่เขียนเมื่ออายุ
35 ปีตีพิมพ์ครั้งแรกในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับถีบลงเขา เผาลงถัง ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2518 จนกระทั่งถึงเรื่องสั้นเรื่องที่ 100 คือเรื่อง “หนุ่มสาว”ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารค.คน ฉบับแดือนมกราคม 2549
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เขียนบทวิจารณ์เรื่อง “วรรณาคดีของศรีดาวเรือง”ในวารสาร อ่าน ปีที่ 3 ฉบับ 4 ตุลาคม 2554 มีนาคม 2555 ซึ่งได้นำมาเป็นบทนำใน “บรรพสตรี ศรีดาวเรือง” มีใจความตอนหนึ่งว่า...
“ศรีดาวเรืองเป็นนักเขียนสตรีผู้ยังมีชีวิตอยู่ที่ถูกมองข้ามและได้รับการประเมินค่า โดยวงการวรรณกรรมศึกษาในเมืองไทยไว้ต่ำเกินจริงอย่างไม่น่าให้อภัย ผลงานเรื่องสั้นอันโดดเด่นหลายเล่มของเธอควรจะได้รับรางวัลซีไรต์มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ก็พลาดทุกครั้ง ฝีมือการประพันธ์ที่มีผู้นำไปเทียบกับนักเขียนฝรั่งเศสนามอุโฆษอย่างกุสตาฟ โฟลแบรต์ น่าจะทำให้เธอได้รับการประกาศเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ แต่ทุกวันนี้เธอยังคงเป็นนักเขียนหญิงที่เขียนหนังสือของตัวเองอยู่เงียบ ๆ ....
ในทางกลับกัน สำหรับแวดวงไทยศึกษาต่างแดนแล้ว ศรีดาวเรืองกลับมีสถานะที่โดดเด่นที่สุดในบรรดานักเขียนไทยร่วมสมัยด้วยกัน ผลงานของเธอได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและศึกษาวิพาก์วิจารณ์อย่างจริงจังโดยนักวิชาการต่างชาติชื่อดังจากทั้งสองฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ไม่ว่าจะเป็น เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน(Benedict Anderson) แห่งมหาวิทยาลับคอร์เนล,ซูซาน เคปเนอร์(Susan Kepner) อาจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย,เบิร์กลีย์ และเรเชล แฮร์ริสัน((Rachel Harrison) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยบูรพศึกษาและแอฟริกันศึกษา(SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน....
ในสายตาของแอนเดอร์สัน การศึกษาระดับชั้นป.4 มิได้เป็นอุปสรรคต่อการเขียนหนังสือ แต่ที่สำคัญยังทำให้เธอได้เปรียบนักเขียนคนอื่นในแง่ที่เปิดโอกาสให้เธอสามารถสร้างลีลาการเขียน
เฉพาะตัวขึ้นมา....แต่ข้อสังเกตของแอนเดอร์สัน ทำให้เราตระหนักเช่นกันว่า ท่ามกลางแวดวง
วรรณกรรมที่ถูกครอบงำด้วยนักเขียนชายและจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะในหมู่พรรคพวกเพื่อนพ้องกลุ่มเดียวกัน รุ่นเดียวกัน การเป็นผู้หญิงจบป.4 มีอาชีพเป็นกรรมกรคือ กำแพงขวางกั้นและกีดกันให้เธอต้องเป็นคนนอก หรืออย่างดีที่สุดก็เป็นคนชายขอบของวงวรรณกรรม...”
ขอกล่าวปิดท้ายว่าใน 100 ปี จึงจะมีนักเขียนร่วมสมัยที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวเกิดขึ้นในบรรณพิภพอย่างอาจินต์ ปัญจพรรค์,คำพูน บุญทวี ฯลฯ และหากจะนับศรีดาวเรืองอีกคนหนึ่ง ก็คงไม่เกินความเป็นจริง
“องค์ประกอบสี่ประการที่ทำให้ชีวิตมีความสุข หนึ่ง อยู่ในที่โล่ง สอง ปลอดพ้นจากความทะเยอทะยาน สาม รักใครสักคน สี่ ทำงานสร้างสรรค์”(อัลแบร์ กามูส์)