คำว่า “ปรองดอง” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า ออมชอม, ประนีประนอม, ยอมกัน, ไม่แก่งแย่งกัน, ตกลงกันด้วยความไกล่เกลี่ย, ตกลงกันด้วยไมตรีจิต
นับแต่เกิดวิกฤติการเมืองไทยปี 2548 เป็นเวลา 18 ปี ที่มีความพยายามพูดถึงแนวทางปรองดองในประเทศไทย มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาหลายชุด เช่น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรและนำไปสู่ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม
แต่เมื่อยื่นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้เข้าสภาฯ กลับมีมีผู้ยื่นร่าง พ.ร.บ. ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงตามมา รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ และ สส.พรรคเพื่อไทยที่มีเสียงข้างมากเลือกฉบับของนายวรชัย เหมะ ซี่ง ที่ให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมเท่านั้น ไม่รวมถึงแกนนำ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง โดยเฉพาะนายทักษิณ ชินวัตร แต่ในขั้นของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง กลับมีการเปลี่ยนใจความสำคัญ นิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย จนสื่อมวลชนเรียกว่าเป็นฉบับ "เหมาเข่ง-สุดซอย"และนำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านชุมนุมประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้ต่อมาสภาฯจะลงมติคว่ำจะร่างพ.ร.บ.ปรองดองและนิรโทษกรรมทุกฉบับและยุบสภาฯแต่ไม่อาจยับยั้งวิกฤติการเมืองได้ จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกล ในการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และมีการเดินสายพูดคุยระหว่างแกนนำพรรคก้าวไกล กับอดีตแนวร่วม กปปส. อย่าง นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ เพื่อขอเสียงสนับสนุนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรค ที่อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน
นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดกระบวนการปรองดองจากที่เคยขัดแย้งกันในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้คุยกับพุทธะอิสระเท่านั้น แต่พยายามพูดคุยกับฝั่งเสื้อแดง กลุ่มกปปส. กลุ่มพันธมิตร รวมถึงคนที่เคยเสนอประเด็นนิรโทษกรรมในอดีต ในอนาคตอยากพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคง และพรรคการเมืองต่างๆด้วย มองว่าได้เวลาแล้วที่จะคืนความยุติธรรมให้กับทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น
ในขณะที่พุทธอิสระ มีเงื่อนไขในการไม่สนับสนุนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันและความมั่นคง
เราจึงเห็นว่า หากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล มีเจตน์จำนงให้เกิดความปรองดองจริง เชื่อว่าโดยภาพหลักการภาพรวมหลายฝ่ายพร้อมจะสนับสนุน หากไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่อาจสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติรอบใหม่