ทองแถม นาถจำนง “มีหนังสือเล่มหนึ่งออกมาในสหรัฐอเมริกา เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แขนงใหม่ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับกรรม คือการกระทำและความประพฤติของมนุษย์โดยทั่ว ๆ ไป วิชาใหม่นี้ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นที่รวมของศาสตร์เก่า ๆ ซึ่งเราเคยเรียนแยกกันมา เป็นต้นว่ามนุษยศาสตร์ จิตวิทยา สังคมวิทยา และวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วก็เอามารวมกันมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษากรรมคือการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะว่ามนุษย์เรามีความโน้มเอียงที่จะประกอบกรรมอย่างไร แล้วก็อะไรเป็นเหตุให้มนุษย์เราทำกรรมต่าง ๆ อย่างที่เราทราบกันอยู่ วิชานี้ถ้าเราจะเรียกเป็นภาษาไทยก็เห็นจะต้องเรียกว่า กรรมศาสตร์ คือเป็นวิชาความรู้หรือเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้เท่าที่ผมอ่านตามข่าวต่างประเทศยังไม่ได้อ่านตัวหนังสือนั้นเอง แต่อ่านที่เขาย่อเนื้อความ ก็รู้สึกว่าจะมีเรื่องที่น่าสนใจแก่ท่านผู้อ่านและแก่ผมซึ่งเป็นมนุษย์ด้วยกันไม่น้อยทีเดียวครับ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักวิทยาศาสตร์สองคนซึ่งศึกษาในการกระทำของมนุษย์มาโดยเฉพาะ แล้วก็ศึกษากรรมต่าง ๆ ของมนุษย์มากมายหลายกรณี และได้ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนการทดลองซึ่งถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ ผลก็ปรากฏเป็นข้อสรุปได้ดังต่อไปนี้ ในข้อแรก ก็ปรากฏว่า คนเรานั้นมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เราอยากจะมองเห็นเท่านั้น เวลาที่เรามองเห็นสิ่งที่เราชอบ คือสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นของที่ดีน่าดูแล้ว แก้วตาของเราจะขยายโตขึ้น แต่ถ้าหากว่าเราเห็นของที่เราไม่ชอบ ของที่เราเกลียดชังหรือของที่เราเห็นว่าเป็นของที่ไม่สวยงาม ของที่สกปรกไม่น่าดูแล้ว แก้วตาของเราจะหดตัวลงทันที หมายความว่าธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศลนั้น ถ้าตามนุษย์มองแล้วก็จะเบิกตาโตขึ้นเอง แล้วตาจะเบิกตัวโตขึ้นทีเดียว เห็นได้ชัด ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล คือของที่เราไม่ชอบ แก้วตาก็จะเล็กลง ร่างกายของเรามันเกิดปฏิกิริยาขึ้นเองในทำนองนั้น นอกจากนั้นการที่เรามองเห็นอะไรนี้ มันก็เป็นเรื่องของใจ หรือของสภาพของเราเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย หมายความว่าอารมณ์ที่ตั้งอยู่ในใจเรานั้น ทำให้เราเห็นอะไรไปได้แปลก ๆ แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เขาได้ทดลองกับเด็กที่ยากจน และเด็กที่เป็นลูกคนร่ำคนรวย โดยเอาเงินเหรียญมาวางให้ดู ปรากฏว่าเด็กที่ยากจนนั้นเห็นเงินเหรียญนั้นโตกว่าเด็กที่ร่ำรวย สมมุติเอาเหรียญบาทมาวางให้เด็กรวยกับเด็กจนดูนี้แหละครับ เหรียญบาทมันก็เท่ากัน แต่ว่าเด็กจนนั้นจะเห็นเหรียญบาทนั้นโตกว่า เด็กที่ร่ำรวยนั้นจะเห็นว่าเล็กนิดเดียว นี่ก็แสดงให้เห็นภาพ หรือสภาพที่เกิดขึ้นทางสายตานั้น มันเป็นการสะท้อนถึงความรู้สึกในใจคนอยู่มากเหมือนกัน นี่เป็นข้อแรก ข้อที่สองต่อไป เขายืนยันว่าการสะกดจิตนั้นมีผลแน่ แล้วก็มีผลในทางกายด้วย เช่นสะกดจิตคนลงไปแล้ว แล้วก็บอกคนที่ถูกสะกดจิตนั้นว่าส่วนหนึ่งของร่างกายเป็นต้นว่ามือหรือแขนที่กำลังกระทบของร้อน ผลจากากรสะกดจิตนั้นก็ทำให้ผู้ที่ถูกสะกดจิตนั้นเชื่อถือจริง ๆ แล้วผิวหนังตรงที่บอกว่าถูกของร้อนจะพองขึ้นมาทันทีเหมือนถูกของร้อนจริง ๆ แสดงให้เห็นว่าใจนั้นเกี่ยวข้องกับกายอยู่อย่างมากมายทีเดียว จนกระทั่งรู้สึกว่าร้อนเพราะถูกสะกดจิตให้เห็นว่าร้อน แล้วผิวหนังจะพองขึ้นมาได้เหมือนกับถูกของร้อนจริง ๆ ก็เช่นเดียวกับที่เรามีเรื่องขลัง ๆ ในเมืองไทย เป็นต้นว่าทดลองคาถาอาคม เอามีดฟันฉับ ๆ แล้วไม่เข้า ปรากฏว่าถ้าอยู่ต่อหน้าอาจารย์แล้ว ไม่เข้าจริง ๆ นี่ก็อาจจะเนื่องมาจากการสะกดจิตก็ได้ เมื่อสะกดจิตแล้วก็บอกให้รู้ว่าฟันไม่เข้า เมื่อใจเชื่อว่าไม่เข้าแล้ว ผิวหนังมันก็ต้านทานคมโลหะได้ มันก็ไม่เข้าจริง ๆ เช่นเดียวกับที่บอกว่าร้อน ผิวหนังมันก็พองขึ้นมาจริง ๆ มันอาจจะเป็นเหตุนี้ก็ได้ ผมสรุปความเอาเอง นอกจากนั้น การสะกดจิตนั้นก็อาจจะมีผลดีต่อไปเป็นอย่างยิ่งสำหรับการผ่าตัด คือจะใช้แทนยาสลบได้ เพราะเหตุว่าการสะกดจิตมันไม่มีผลร้ายติดตามมาเมื่อได้ใช้แล้ว แต่ว่าคนที่จะสะกดจิตได้ง่ายนั้น ก็ได้แก่เด็กผู้หญิงซึ่งอายุระหว่าง 7 -8 ขวบ แล้วก็ผู้หญิง หรือคนทั่ว ๆ ไปที่มีไอคิวต่ำ ไม่ทราบว่าจะแปลว่าอะไร ขอแปลว่าความฉลาดก็แล้วกัน คือมีสติปัญญาไหวพริบต่ำกว่าคนธรรมดา พวกนี้สะกดจิตง่ายทั้งนั้น ข้อสามที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ก็คือการเล่าเรียนวิชาต่าง ๆ นั้นจะทำได้ดี ถ้าหากว่าเราพักเป็นระยะไป แทนที่จะเรียนต่อกันเป็นระยะเวลานาน ถ้าเรามีเวลาพัก จะเรียนได้ดีกว่า สมมุติว่าท่องหนังสือนั้น ถ้าท่องเป็นระยะสิบนาทีแล้วพัก จะได้ผลคือจำได้แม่นยำ ข้อที่สี่ ถ้าหากว่าเรารู้จักใช้สติปัญญาเท่าที่แต่ละคนนั้นมี คือถึงจะโง่ถึงจะฉลาดมันก็มีประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าใช้ให้ถูก ส่วนงานการที่จะมีผลดีสุดยอดนั้น สำหรับแต่ละคนเป็นงานที่ทำตั้งแต่อายุก่อนถึงสามสิบ พอหลังอายุสามสิบไปแล้วถึงทำการให้เกิดผลอย่างไร มันก็ไม่ได้เท่างานการที่ได้ทำไว้เมื่ออยู่ในระหว่างอายุสามสิบหรือสามสิบเศษ เขาว่าอย่างนี้ นอกจากนั้นก็มีรายละเอียดอื่น ๆ อีกบางข้อผมอยากจะยกมาให้เห็น บางข้อที่ไม่น่าสนใจผมก็จะทิ้งเสีย ในการตัดสินใจนั้นปรากฏว่าคนเราคือเอกชนแต่ละคนนั้น มักจะฟังเสียงข้างมากของกลุ่มชนซึ่งตัวบุคคลนั้นอยู่ด้วย ถ้าหากว่าคนทั่วไปหรือคนส่วนมากในหมู่คณะมีความเห็นเป็นอย่างหนึ่งแล้ว ถึงแม้ว่าความเห็นนั้นจะผิด บุคคลก็มักจะคล้อยตามไปด้วย นี่ก็เป็นเรื่องที่เขาค้นพบ กลุ่มชนที่บุคคลจะมีความภักดีต่อกันนั้นจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ยิ่งเล็กลงไปเท่าไหร่ความภักดีซื่อสัตย์ระหว่างบุคคลต่อกลุ่มชนก็จะยิ่งมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เขาจึงบอกว่าการนัดหยุดงานนั้น ส่วนมากจะมีผลจริงจังอยู่ในเฉพาะอาชีพ ซึ่งเป็นอาชีพของชนกลุ่มน้อย เป็นอาชีพที่ไม่เปิดต่อคนทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น อาชีพขุดแร่ อาชีพทำป่า เหล่านี้เป็นเรื่องของคนที่มีความรู้ความชำนาญหรือคนกลุ่มเดียวโดยเฉพาะ ไม่ใช่ใคร ๆ ก็จะไปทำได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วบุคคลในกลุ่มก็จะมีความภักดีต่อกลุ่มมาก มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อกลุ่มของตนมาก บอกอะไรเป็นนั่นไปหมด คนเราจะมีใจคอกว้างขวางอดทนได้ คือจะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ก้อยู่ที่ความรู้ คือว่าจะต้องรับรู้เข้าใจบุคคลอื่น แต่ว่าถึงอย่างไรก็ดี บางทีคนเราเกิดมามีใจคับแคบมาเสียแล้ว และการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใจคนนี้ คือการเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นต้นว่าการเลิกทาสก็ดี หรือการถือผิวเหล่านี้ ตลอดจนเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าหากว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยแล้ว ถ้าขืนทำไปก็จะต้องเกิดผลเสียหายในทางสังคมและในทางส่วนตัวอย่างใหญ่หลวงทุกรายไป ความเห็นส่วนตัว ทิฏฐิมานะต่าง ๆ ของคนเรานั้นจะเปลี่ยนไปได้ก็ต่อเมื่อคนเราได้เปลี่ยนจากระดับหนึ่งไปอีกระดับหนึ่ง จากกลุ่มหนึ่งไปอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น สมมุติว่าเป็นกรรมกรเหมืองแร่ก็มีทิฏฐิมานะความเชื่อถืออย่างหนึ่ง และถ้ากรรมกรเหมืองแร่คนนั้นเปลี่ยนไป สมมุติว่าไปทำนา ทิฏฐิความคิดเห็นต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนไปเหมือนกับชาวนาทั่วไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ความรู้สึกทิฏฐิมานะที่มีอยู่ในใจเมื่อสมัยที่ทำอาชีพอื่นมันก็จะติดตัวตลอดไป นี่ก็เป็นลักษณะของจิตใจคนที่ทำกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทราบจากที่เขาได้ย่อความมาจากหนังสือนี้ สรุปแล้วก็พอจะกล่าวได้ว่า คนเรานั้นคิดอะไรก็ตาม ก็คิดตามที่ตนต้องการอยากจะคิด เวลาจะพูดอะไรก็มักจะชอบพูดเพื่อให้ถูกใจคนที่อยู่ในฐานะระดับอย่างเดียวกัน ทุกคนพยายามจะระงับหรือพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความแตกคอกันหรือการพิพาทกันขึ้น แล้วคนทุกคนก็พยายามที่จะรักษาความรู้สึกในใจ ตลอดจนทิฏฐิมานะของตนไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้นว่าในการออกเสียงเลือกตั้งทางการเมืองบุคคลแต่ละคน ก็จะออกเสียงของตนใช้สิทธิ์เสียงของตนตามพวกพ้องเพื่อนฝูงที่เขาทำกัน ความจริงไม่ได้คิดเป็นของตนเองเท่าไหร่ เกิดความต้องการอย่างไรก็ทำงานเพื่อให้บรรลุถึงจุดที่ตนต้องการนั้นและเวลาอยู่ในกลุ่มชนชนิดใดแล้ว ก็มักจะเห็นว่ากลุ่มชนที่อยู่ด้วยนั้นดี ประเสริฐกว่าชนกลุ่มอื่น และถ้าหากว่าสภาพเหล่านี้เกิดเปลี่ยนแปลงไป เกิดความผิดหวังแก่คนเราพลาดจากความปรารถนาต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากทิฏฐิมานะเหล่านี้แล้ว คนเราก็มักจะเสียสติกลายเป็นบ้าไปได้ง่าย ๆ นี่ก็เห็นจะเกี่ยวกับสภาพอย่างหนึ่งซึ่งในเมืองไทยเราเรียกว่าสุขภาพจิตทุกวันนี้แหละครับ นี่ผมเห็นแปลก ๆ ดี ก็นำเอามาเล่าให้ฟัง ถ้าจะว่าไปก็มีอะไรจริง ๆ อยู่มากเหมือนกัน แต่ว่าจะจริงแค่ไหนก็จะต้องฟังหูไว้หู เพราะว่าเรื่องคนเรื่องการกระทำของคน มันเป็นเรื่องลึกซึ้งเหลือเกิน จะเอามาเขียนกันด้วยหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เห็นจะไม่ตรงตามความความเป็นจริงได้ง่ายนั้น เพราะคนแต่ละคนมันก็แตกต่างกันไป. ( “เพื่อนนอน” 14 กุมภาพันธ์ 2507)