สมบัติ ภู่กาญจน์ ในคำปาฐกถา เมื่อประมาณปีพ.ศ.2520 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บอกเล่าความเป็นมาของ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์กับการปกครองของไทย’ ไว้ด้วยเนื้อความ(ซึ่งต่อจากตอนที่แล้ว) ดังนี้ “ผมอยากจะกล่าวต่อไปว่า อุดมการทั้งปวงที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกนั้น ผมเห็นว่าเป็นอุดมการที่มีอายุสั้น พูดง่ายๆว่ามีอยู่เพียงช่วงสมัยของพระเจ้ารามคำแหงเท่านั้นเอง เพราะพอถึงรัชกาลต่อๆมา เช่นรัชกาลพระเจ้าลิไทหรือพระเจ้าลือไทยแล้ว ผมเห็นว่าถ้อยคำสำนวนเปลี่ยนไป....เริ่มจะมีทรรศนะที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในทางที่สูงขึ้น คือใกล้มาทางอยุธยา ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงมันอาจจะค่อยๆเกิดขึ้นแล้วก็ได้ อย่างไรก็ดี พอมาถึงสมัยอยุธยาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม สถาบันพระมหากษัตริย์ในรูปแบบใหม่จะปรากฏขึ้นทั้งหมด ซึ่งเราสามารถพบได้ในหลักฐานหรือเอกสารต่างๆว่า พอถึงสมัยอยุธยา ถ้าเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์แล้ว เราใช้ราชาศัพท์อย่างมากมายทีเดียว อันแสดงให้เห็นว่าฐานะของพระมหากษัตริย์ในกรุงศรีอยุธยานั้น ได้เลื่อนขึ้นเป็นถึงเทพเจ้าแล้ว ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาสามัญ ถ้าจะดูจากพงศาวดารไทย เมื่อพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงอยุธยานั้น อาณาจักรของเขมรโบราณอันมีศูนย์กลางอยู่ที่พระนครหลวงในกัมพูชานั้น ได้ตกอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้าอุ่ทองแล้ว เพราะทรงเป็นเจ้าเป็นใหญ่ปกครองแว่นแคว้นที่รวมอาณาเขตของกัมพูชาในสมัยนั้นเข้าด้วยแล้ว ข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้ ก็คือคำว่า “ขอมแปรพักตร์” ที่พงศาวดารเขียนว่าเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง จนต้องมีรับสั่งให้พระราเมศวรผู้เป็นราชบุตรยกทัพไปปราบกัมพูชา คือปราบขอมหรือปราบเขมร ถ้าเราจะเชื่อความตามพงศาวดารอย่างนี้ ก็ต้องสันนิษฐานต่อไปว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองลงมาสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้น พระองค์เป็นใหญ่อยู่เหนือเขมรแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อทรงปราบหรือทรงมีอำนาจเหนือเขมรแล้ว ขนบธรรมเนียมประเพณีและลัทธิการปกครองของเขมรก็ย่อมกลายเป็นของพระองค์ จะกล่าวว่าพระเจ้าอู่ทองทรงรับอิทธิพลมาจากเขมรเห็นจะไม่ได้ คือท่านไม่ได้รับอิทธิพลแต่ท่านเข้าครองเอาเลยทีเดียว แล้วก็ย้ายรูปแบบหรือศูนย์การปกครองแบบนั้นมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระมหานครที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ พูดอย่างนี้จะตรงกับความเป็นจริงมากกว่า การปกครองนั้น ก็คือ การเห็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นเทพเจ้า หรือมิฉะนั้นก็เห็นว่าจากเทพเจ้าต่อมาก็คือพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าอีกระดับหนึ่ง การปกครองที่มีระดับลดหลั่นกันลงมาอย่างนี้จึงกลายเป็นการปกครองของประเทศโดยทั่วไป และการปกครองดังกล่าว ก็ต้องอาศัย “พระราชอำนาจ” คืออำนาจของพระผู้เป็นเจ้า ต้องอาศัย “คำสั่ง” ที่เรียกกันว่า “พระบรมราชโองการ” เพราะคำว่าโองการนั้น แปลตรงๆว่าคำสั่งและเฉพาะคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าด้วย ไม่ใช่คำสั่งของคนธรรมดาสามัญ ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ของไทยนั้น ได้มีการยกฐานะขึ้น นับตั้งแต่ยุคพระเจ้าอู่ทองลงมา นอกจากนี้ ก็ยังต้องมีการสร้างพระราชวังขึ้นตามแบบเทวสถาน ของศาสนาฮินดู มีการสร้างพระที่นั่งต่างๆที่พระมหากษัตริย์จะไว้ใช้ประโยชน์ตามภารกิจต่างๆ นอกจากนั้นก็ยังต้องมีขอบเขตและกฏเกณฑ์อีกหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อทำให้พระมหากษัตริย์เทียบเท่าพระผู้เป็นเจ้าให้ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือ การใช้ราชาศัพท์ ที่ยังคงปรากฏสืบเนื่องยาวนานมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ในความเห็นของผม ราชาศัพท์นั้นอย่าเข้าใจว่าเป็นภาษาเขมร ซึ่งอาจจะมีคำบางคำใกล้เคียงกันกับภาษาเขมรบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ เพราะทุกวันนี้ราชาศัพท์ก็ยังใช้อยู่ในประเทศเขมร ถ้าจะพูดกับพระมหากษัตริย์เขมรก็ต้องใช้ราชาศัพท์ เพราะเขาก็ใช้ในความหมายของการยกย่องนับถือเช่นเดียวกับไทย จะเข้าใจว่าราชาศัพท์เป็นของไทยหรือเขมรฝ่ายใดฝ่ายเดียวเห็นจะไม่ได้ แต่ต้องเรียกว่าราชาศัพท์เป็นการใช้ภาษาที่เขมรกับไทยใช้ร่วมกัน ผมคิดว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงมีอำนาจเหนืออาณาจักรเขมรทั้งหมด ก่อนที่จะมาสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ท่านก็เข้าสู่ฐานะของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ฉะนั้นการใช้ราชาศัพท์ก็ดี การปลูกสร้างพระราชวังก็ดี ก็ต้องเป็นไปตามคตินั้นต้อง็ต้อง จะเห็นว่า ถ้าจะพูดว่าได้อิทธิพลเขมรนั้นก็ไม่เชิง เพราะพระเจ้าอู่ทองไม่ได้ทรงสร้างปราสาทหินหรือปราสาทใดๆอย่างที่เขมรมี แต่ทรงสร้างพระที่นั่งต่างๆในแบบสถาปัตยกรรมของไทย ทุกอย่างมีเห็นได้ชัดอยู่ แต่ว่าในที่สุดก็ยังเป็นเทวสถาน คือเป็นที่พำนักของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ดี ประเพณีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์จึงมุ่งไปทางนี้ เพื่อแยกพระมหากษัตริย์ออกไว้ให้เห็นว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้นว่า พระมหากษัตริย์ต้องประทับสูงเหนือกว่าใครทั้งสิ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในสมัยก่อน แม้แต่คนที่จะผ่านพระราชวัง ก็ยังต้องระวังเรื่องต่ำเรื่องสูงนี้ เช่น ถ้าขี่ม้าชี่ช้างนั่งเสลี่ยงมา ก็ต้องลงเดินภายในระยะรัศมีของพระราชวังซึ่งกำหนดไว้ คนแจวเรือมาก็ยังต้องลงนั่งพาย ถ้าผ่านพระราชวังทางน้ำ เหล่านี้เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลักการอันเดียวกัน นอกจากนั้นก็ยังมีประเพณีอื่นๆ ซึ่งเราถือกันเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์อีก เป็นต้นว่าการแตะต้องพระวรกายทำไม่ได้ การมองพระพักตร์ตรงๆก็ไม่ได้ ต้องเบือนหน้า โดยถือว่าเป็นมารยาท การตัดหน้าฉานก็ทำไม่ได้ คำว่าตัดหน้าฉานแปลว่าเดินผ่านหน้าเฉยๆ ก็ไม่ได้ นอกจากนั้น การแตะต้องพระสรีระหรือชิ้นส่วนต่างๆของพระสรีระ เช่นเส้นพระเจ้า พระนขา และอื่นๆนั้นต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้สิ่งเหล่านั้นตกต้องถึงแผ่นดินได้ พระมหากษัตริย์จะเสด็จฯไปไหนก็ต้องเสด็จฯโดยลาดพระบาท และอื่นๆอีกมาก ทั้งหมดนี้ เพราะเหตุอะไร?................ อดใจไว้รออ่านต่อตอนหน้าครับ การรับรู้เรื่องราวเหล่านี้จะทำให้เรารู้จัก ‘ที่มา’ของเราว่า กว่าเราจะผ่านมาเป็นไทยอยู่ทุกวันนี้ เราต้องผ่าน-ต้องพบ-ต้องเผชิญสิ่งใดมาบ้าง และใครได้ทำ-หรือไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง-หรือไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งใดมาบ้างหรือไม่อย่างไรแค่ไหน? เราควรจะรู้จักที่มาของเราให้ชัดเจนเสียก่อน แล้วเราจะมองเห็น‘ที่ไป’ ที่เหมาะสมกับคนส่วนใหญ่ได้มากขึ้น ซึ่งผมจะนำเสนอทุกสัปดาห์เรื่อยไปในคอลัมน์นี้