ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราได้คุยกันไปเรื่องทรัพย์สมบัติของชาติไทย ซึ่งก็คือ น้ำ ความชื้น และแสงแดด อันเป็นคุณสมบัติที่ทำให้เราเพาะปลูกและผลิตอาหารได้ ดังนั้น การจะใช้ประโยชน์จากทรัพย์สมบัติของชาติให้ได้ อันดับแรกจำเป็นต้องแก้ปัญหาให้เกษตรกรเสียก่อน อันได้แก่ การปลูก และการขาย และแน่นอนว่า การบริหารจัดการน้ำนั้นเป็นสิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำ

มาสัปดาห์นี้ ผมจะเล่าให้อ่านกันต่อว่าหลังจากเก็บน้ำได้แล้ว มีน้ำใช้อุดมสมบูรณ์แล้ว เราควรทำอะไรกันต่อ

อย่างที่บอกไปว่า ปัญหาพี่น้องเกษตรกรนั้นมีสองอย่าง คือการปลูก และการขาย ซึ่งเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” คือเป็นคนละเรื่องที่แยกกันไม่ออก โดยเฉพาะในการจะทำให้เกษตรกรมีเงินมีทอง ลืมตาอ้าปากกันได้ ซึ่งถ้าว่ากันตามหลักสากลแล้ว การจะมีเงิน หรือมีกำไร ก็ต้อง “ลดต้นทุน เพิ่มรายได้” นั่นเอง

ถามว่าแล้วจะลดต้นทุนให้เกษตรกรได้อย่างไร ก็ต้องบอกว่า หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งคือ การลดการทำ “เกษตรเชิงเดี่ยว”

เพราะการทำเกษตรเชิงเดี่ยว (การปลูกพืชชนิดเดียว ชนิดเดิมซ้ำๆ) เป็นสิ่งที่ “ทำลายดิน” อย่างร้ายแรง ทุกท่านครับ ในดินนั้นประกอบด้วยธาตุอาหารและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชแต่ละชนิด ซึ่งแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ของพืช เมื่อเราปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆในที่ดินของเรา ธาตุอาหารและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ก็จะถูกใช้จนหมดไป มิหนำซ้ำ ยังทำให้โรคต่างๆ รวมถึงแมลงศัตรูพืช รุมเร้าเข้ามา เพราะรู้ว่าที่แห่งนี้มี “แหล่งอาหาร” ของตน

เมื่อดินเสีย วิธีที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดในการจะทำให้ดินกลับมาใช้งานได้ ก็คือเติมธาตุอาหารและยาที่ป้องกันโรคจำนวนมาก ซึ่งก็หนีไม่พ้นการเติม “ปุ๋ยยาเคมี” ลงไปนั่นเอง ท่านผู้อ่านครับ มีงานศึกษาวิจัยพบว่า ยาและปุ๋ยเคมีนี่แหละครับ มีราคาเท่ากับประมาณ 30% ของต้นทุนเกษตรกร พี่น้องเอ้ยยยยย 30% เยอะมากนะครับ คิดดูว่าถ้าต้นทุน 30% นี้หายไป จะเหลือเงินมากขนาดไหน นี่ยังไม่นับว่าผู้บริโภคจะต้องรับประทานปุ๋ยยาเคมีเข้าไปทำลายสุขภาพอีก

ถามต่อว่า แล้วควรทำอย่างไร? คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่ “การปลูกพืชหมุนเวียน และการปลูกพืชแบบผสมผสาน” ครับ

อันดับแรกเราต้องเข้าใจตระกูลของพืชเสียก่อน ซึ่งเราสามารถจัดกลุ่มได้คร่าวๆประมาณ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) ตระกูลมะเขือ 2) ตระกูลถั่ว หอม กระเทียม 3) ตระกูลกระหล่ำปลีและผักสลัด 4) ตระกูลแครอท ผักโขม ผักชี 5) ตระกูลข้าว แต่ละกลุ่มเหล่านี้ต้องการสารอาหารและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์แตกต่างกันไป

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เมื่อเราปลูกพืชตระกูล A เสร็จสิ้น พื้นที่แห่งนั้นควรปลูกพืชในตระกูลอื่นๆต่อ เช่น ตระกูล B พืชตระกูลนี้จะใช้สารอาหารที่แตกต่างจากตระกูล A รวมถึงมีศัตรูพืชต่างชนิดกัน ทำให้ตระกูล B นั้น งอกงามปลอดโรคและแมลง ในขณะเดียวกัน พืชตระกูล B ก็จะเติมสารอาหารที่จำเป็นของตระกูล A กลับลงไปในดิน จะเห็นได้ว่าธรรมชาตินั้นมีกลไกที่สมบูรณ์แบบอยู่ เช่นนี้คือตัวอย่างคร่าวๆของการปลูกพืชหมุนเวียน และเป็นการ “ปลูกดิน” หรือ “ซ่อมแซมดิน” วิธีหนึ่ง

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือ เกษตรกรจะไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อ “รักษาดินที่ป่วย” อีกต่อไป และจะนำไปสู่การลดต้นทุนของเกษตรกรลงได้ มิหนำซ้ำ หากปลอดสารเคมีได้ ก็อาจกลายเป็นจุดขายสำคัญของพี่น้องเกษตรกรอีกต่อหนึ่ง เรียกว่าเกาะกระแสการรักสุขภาพไปได้

นอกจากนี้การปลูกพืชแบบผสมผสาน ก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ข้าว รวมไปถึงการปลูกไม้ที่มีมูลค่าสูง เพื่อการสร้างสมดุลระหว่าง พื้นที่ ดิน น้ำ พืชพันธุ์ สัตว์ และคน เรื่องนี้ถ้าท่านผู้อ่านสนใจ ผมแนะนำให้ไปอ่านหนังสือที่ชื่อว่า “ระบบเกษตรผสมผสาน” ของท่านอาจารย์ชนวน รัตนวราหะ ที่เป็นตำราอมตะที่มีประโยชน์มหาศาล (แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนเอาไปใช้จริงๆ) ร่วมกับแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวง ร.9 ก็จะเกิดความกระจ่างอย่างมาก

เมื่อเราปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกแล้ว ลดต้นทุนได้ประมาณหนึ่งแล้ว ก็ต้องมาว่ากันเรื่องการขาย

เรื่องนี้จำเป็นต้องว่ากันยาว เพราะเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีการผลักดันจากภาครัฐอย่างถูกทิศทาง เพราะมัวแต่ไปโฟกัสเรื่องอุตสาหกรรมที่เป็นเรื่องของฝรั่งเมืองหนาว เรียกว่า มัวแต่จะหัดเล่นอเมริกันฟุตบอลจนลืมเตะตะกร้อไปเสียฉิบ

คำถามสำคัญ คือ หากเกษตรกรปรับตัวแล้ว ทำเกษตรผสมผสานแล้ว ทำการปลูกพืชหมุนเวียนแล้ว เกษตรกรย่อมมีผลผลิตที่หลากหลายมากขึ้น รัฐบาลจะทำอย่างไรที่จะทำให้ผลผลิตที่หลากหลายนั้นออกสู่ตลาดแล้วย้อนกลับมาเป็นเงินทองให้พี่น้องประชาชน อีกทั้งจะต่อสู้กับระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีอำนาจมากล้นอย่างไร งานนี้รัฐบาลต้องกล้าหาญและเป็นหัวหอกให้พี่น้องประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สัปดาห์หน้าผมจะมาเล่าให้ฟังต่อในเรื่องนี้ครับ

ยังไม่เอวัง เพราะมีต่อสัปดาห์หน้า