ทวี สุรฤทธิกุล
การเมืองสมัยใหม่ยิ่งเปิดก็ยิ่งแคบเพราะแต่ละคนก็เหมือน “ถูกปิดตา” เพื่อให้เลือกพรรคการเมืองบางพรรค ทั้งที่เป็นยุทธวิธีของพรรคการเมืองสมัยนี้ กับที่เป็นความนิยมชมชอบส่วนบุคคลของผู้เลือก
สำหรับผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คงจะพอทราบว่าเมื่อระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นที่กรีกเมื่อ 2,500 กว่าปีนั้น ที่เรียกว่าประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) ยังเป็นระบอบที่คับแคบมาก ๆ คนที่เป็นสมาชิกสภาในสมัยนั้นจะต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น ต้องมีฐานะ มีหน้ามีตา ต้องเสียภาษี หรือต้องมีชื่อเสียง เป็นวีรบุรุษ หรือมีคนนิยมชื่นชมในความสามารถบางอย่าง ต่อมาเมื่อระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษตอนคริสต์ศตวรรษที่ 16 สมาชิกสภาก็เปิดกว้างสู่สามัญชน จนเกิดระบบพรรคการเมืองจัดกลุ่มตามความนิยมของผู้เลือกตั้ง ทำให้การแข่งขันทางการเมืองเข้มข้นมากขึ้น กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ระบอบประชาธิปไตยได้กระจายไปทั่วโลก ก็ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตย “แปรรูป” เป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ซึ่งบางประเทศแม้จะเป็นเผด็จการหรือเป็นสังคมนิยม ก็ยังต้องมีคำว่าระบอบประชาธิปไตยแปะไว้กับชื่อของประเทศนั้นด้วย อันแสดงถึง “มุมมองด้านดี” ของระบอบประชาธิปไตยที่มีมากกว่าระบอบอื่น ๆ อย่างที่บางคนเรียกระบอบประชาธิปไตยนี้ว่าเป็น “ระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด”
อย่างไรก็ตามภายหลังที่โลกได้ยุติภาวะ “สงครามเย็น” ซึ่งก็คือการแข่งขันของผู้นำลัทธิการปกครองใหญ่ 2 ประเทศ คือค่ายเสรีประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กับค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตรัสเซีย ในช่วงคริสต์ทศวรรษปี 1990 อันเกิดจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตรัสเซีย ฝ่ายโลกเสรีที่นับถือระบอบประชาธิปไตยก็อ้างว่าเป็นชัยชนะของระบอบประชาธิปไตยนั้นด้วย ซึ่งก็ยิ่งทำให้เกิดภาวะ “คลั่งประชาธิปไตย” ขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยตรงให้ฟื้นคืนชีพ อย่างเช่นการประทุขึ้นของประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศอาหรับ ที่เรียกว่า Arab Spring หรือต่อมาถ้าเกิดขึ้นในลักษระที่คล้าย ๆ กัน ก็จะเติมคำว่า Spring เข้าไปข้างท้ายภูมิภาคนั้น เช่น Hong Kong Spring เป็นต้น
อีกปรากฏการณ์ที่เกิดจาก “อาการเห่อ” ประชาธิปไตยก็คือ การขยายตัวของ “การเอาใจประชาชน” หรือลัทธิประชานิยม (Popularism) ที่แต่แรกเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศ “ประชาธิปไตยใหม่” ที่พยายามสร้างภาพจำแลงของการแข่งขันแบบประชาธิปไตยผ่านระบบการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายก็มีเป้าหมายเพื่อการครองอำนาจอย่างไม่รู้สิ้นสุด คือนำประเทศไปสู่เผด็จการนั่นเอง ที่รวมถึงประเทศที่ไร้เสถียรภาพหรือมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันของผู้นำในสถาบันทางการเมืองการปกครองของประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตามลัทธิประชานิยมก็ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในประเทศที่ล้าหลังของระบอบประชาธิปไตย แต่ยังเป็นที่นิยมอยู่ในประเทศที่เป็นแม่แบบของประชาธิปไตยนั้นด้วย ซึ่งก็เริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ในยุคของนางมากาเร็ต แทชเชอร์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. 1979 ถึง 1990 ที่มีนโยบายในการกระจายสวัสดิการให้กับผู้คนเป็นรายกลุ่มอย่างทั่วถึง ไม่ได้เลือกว่าต้องเป็นพวกที่นิยมพรรคคอนเซอร์เวทีฟของนางแทตเชอร์เองเท่านั้น แต่ยังเผื่อแผ่อย่างเท่าเทียมไปยังพรรคแรงงานและพรรคอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งด้วย แล้วแนวคิดนี้ยังกระจายไปทั่วยุโรปในหลาย ๆ ประเทศที่มีการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง คือไม่ได้เป็นการแข่งขันทางอุดมการณ์แบบ “ซ้าย - ขวา” หรือ “รวย - จน” อีกต่อไป เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างก็พยายามสร้างนโยบายที่จะเอาใจประชาชนทุกกลุ่ม อย่างที่ตำรารัฐศาสตร์เรียกว่า Catch All Party ทั้งนี้แนวคิดนี้ยังแพร่กระจายข้ามมหาสมุทรมาถึงประเทศประชาธิปไตยพี่เบิ้มอย่างสหรัฐอเมริกานั้นด้วย โดยเกิดขึ้นในสมัยการบริหารของนายบารัค โอบามา ที่เป็นประธานาธิบดีอยู่ในช่วง ค.ศ. 2009 ถึง 2017 ก็ได้มีนโยบายที่เรียกว่ารัฐสวัสดิการในหลาย ๆ เรื่อง เพื่อกระจายความนิยมไปสู่ผู้เลือกตั้งหลาย ๆ กลุ่มนั้นด้วย
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ที่โลกได้เปลี่ยนสหัสวรรษมาสู่สหัสวรรษที่ 21 ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นยุคดิจิตอล การเมืองในระบบพรรคก็ปรับตัว “อย่างรุนแรง” เข้าไปกับยุคนี้ด้วย โดยเฉพาะการสื่อสารกันทางการเมืองบนโลกไซเบอร์ ได้แก่ อินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ที่ได้ทำให้ประชานิยมแบบโบราณกลายเป็นความล้าสมัย โดยได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่ผู้เขียนเรียกว่า Fandom Politic หรือ “การเมืองเฉพาะแฟน ๆ” ที่กำลังจะเป็นอีกกระแสหนึ่งของการเมืองในสหัสวรรษใหม่นี้
ความจริงการเมืองแบบ “เจาะกลุ่มเป้าหมาย” เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนที่การสื่อสารบนโลกไซเบอร์จะกระจายอย่างแพร่หลายมานานแล้ว ก็คือตั้งแต่ที่แนวคิดประชานิยมเกิดขึ้นนั่นเอง จากการที่ต้องเอาใจประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งตอนแรกก็ใช้วิธี “หว่านโปรย” หรือแจกจ่ายสวัสดิการและผลประโยชน์ต่าง ๆ ไปยังทุก ๆ คน ทุก ๆ กลุ่มอย่างไม่เลือกหน้า ที่เรียกว่า Catch All Party ก็มีการ “หยอดแจก” หรือแยกกลุ่มคนให้เล็กลงไป ให้เห็นความต้องการของพวกเขาให้ชัดยิ่งขึ้น แล้วค่อยนำเสนอผลประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของแต่ละกลุ่มย่อยนั้น ๆ ซึ่งตำราฝรั่งเรียกว่า Nitch Party อย่างเช่นการเกิดขึ้นของพรรคกรีนในยุโรป หรือพรรคที่เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพเฉพาะกลุ่ม เช่น คนกลุ่มน้อย หรือเพศสภาพ เป็นต้น แต่ต่อมาพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ที่ตอนนั้นก็มาเน้นเป็นพรรคแบบหว่านโปรยนั้นแล้ว ก็ปรับตัวมาหยอดแจกเฉพาะกลุ่มร่วมไปด้วย นั่นก็คือการเพิ่มนโยบายสวัสดิการให้กับกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเฉพาะนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อรวบรวมคะแนนเสียงจากประชาชนทุกหมู่เหล่า “จากทุกซอกทุกมุม” นั่นเอง
แต่นั่นก็คือการหาคะแนนจากกลุ่มประชาชนที่เขามีการจัดกลุ่มกันอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น ผู้พิการ ชาวเขา หรือ LGTB เป็นต้น ทว่าการเมืองแบบ Fandom Politic จะล้ำลึกพิสดารมากขึ้นไปอีก นั่นก็คือการสร้างกลยุทธที่จะจัดตั้งกลุ่มผู้เลือกตั้งของพรรคขึ้นมาเอง ที่เรียกว่า Fandom นี้ ที่ถ้าหากว่ามองเผิน ๆ ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร เพราะในโลกไซเบอร์ตามโซเชียลมีเดียก็มีเกิดขึ้นอยู่แล้วมากมาย
แต่ถ้ามันมาเกิดขึ้นบนโลกการเมืองเล่า มันจะส่งผลดีร้ายอย่างไร น่าติดตามนะครับ