ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

ในช่วงปี 2519 ศรีดาวเรืองส่งเรื่องสั้นไปยังนิตยสารปุถุชน รายเดือน ที่มีวินัย อุกฤษณ์ สมาชิกกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว(นามปากกา “มายา” ผู้แต่งเพลง นกสีเหลือง) ได้ลงหลายเรื่องด้วยกันได้แก่ ชายผ้าเหลือง,พ่อ,พวกในป่า เป็นอาทิ และมีบทกวีชิ้นแรกชื่อ “กล้วย”ตีพิมพ์ในหนังสือปุถุชนด้วย ทำให้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจารณ์ที่จับตามองตั้งแต่เรื่องสั้นเรื่องแรกว่าศรีดาวเรืองคือมิติใหม่ของนักเขียนกรรมาชีพ

สำหรับนามปากกา “ศรีดาวเรือง”ที่สุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นคนแนะนำให้เธอตั้งนามปากกา ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้วนั้น คนทั้งสองได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว เมื่อเธอส่งเรื่องสั้นไปยังนิตยสาร จะไม่ให้ที่อยู่ติดต่อไว้ เพื่อไม่ให้รู้ว่าเป็นใคร ดังที่สุชาติ สวัสดิ์ศรีให้เหตุผลไว้ว่า...

“ไม่บอกว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน หมายความว่าไม่เอาค่าเรื่อง แลกกับกับการที่เธอจะได้เชื่อมั่นในตนเอง ถ้าเรื่องได้ลงโดยใช้นามปากกา จะได้ภูมิใจว่า เขียนหนังสือได้ลงเพราะฝีมือของตนเอง ไม่ได้มาจากบารมีของใคร ผมเองมีส่วนคือ แค่ช่วยอ่าน ให้ความเห็นเรื่องการใช้ภาษา  ช่วยเรื่องภาษาให้นักเขียนทุกคนน่ะ ผมแก้ ‘จึง ซึ่ง ที่ ก็’ ให้หมดทุกคน ทั้งนักเขียนได้ช่อการะเกด นักเขียนซีไรต์ ศิลปินแห่งชาติ ผมแก้ทั้งนั้น แล้วให้ต้นฉบับเขาไปดู เขาก็จะปรับแก้ภาษาของเขาให้ดีขึ้นเอง”

สำหรับศรีดาวเรืองแล้ว แตกต่างจากนักเขียนคนอื่น ๆ ตรงที่มีข้อได้เปรียบ นั่นก็คือ...

“เวลาผมแก้ต้นฉบับนักเขียนคนอื่น เขาเป็นคนพิมพ์ต้นฉบับให้ผม เขาก็ได้อ่านจากที่ผมแก้  เขาเรียนรู้ไวมาก”

สุชาติ สวัสดิ์ศรีให้ความเห็นต่อว่า ศรีดาวเรืองเป็นผู้ใช้แรงงานมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นคนใช้กรรมกรโรงงานแก้วและอีกหลายอย่าง ด้วยเหตุนี้งานเขียนจึงถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาผู้ใช้แรงงาน ซึ่งงานเขียนแบบนี้มีน้อยมาก...

“เขาเขียนเรื่องเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างที่ผมไม่เคยคิดว่าผมจะเขียนได้ เขาเขียนประเด็นซับซ้อนแบบธรรมดา แต่มีนัยยะ มีสัญลักษณ์”

ด้วยเหตุนี้เอง หลายคนจึงไม่เชื่อว่าคนจบป.4 เขียนเรื่องสั้นได้โดดเด่นขนาดนี้ แม้กระทั่ง

ครั้งที่รวมเรื่องสั้น “แก้วหยดเดียว”เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ กรรมการรางวัลซีไรต์บางคนไม่เชื่อว่าคนจบป.4 จะเขียนได้ ทำให้คนเข้าใจผิดว่าสุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นคนเขียน บ้างว่าเป็น “นายผี” ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว

ในเวลาต่อมาจึงมีการเปิดตัว”ศรีดาวเรือง”เป็นครั้งแรกในนิตยสารถนนหนังสือ ฉบับเดือนธันวาคม 2526 ทำให้รู้ว่าศรีดาวเรือง หรือวรรณา ทรรปนานนท์(นามสกุลเดิม)คือคู่ชีวิตของสุชาติ สวัสดิ์ศรี อีก 2 ปีต่อมา นิตยสารถนนหนังสือ ฉบับเดือนมีนาคม 2528 ทำสกุ๊ปชีวิตของศรีดาวเรืองอย่างละเอียดในชื่อ “ศรีดาวเรือง จากกรวดทรายไร้ค่ามาเป็น ‘แก้วหยดเดียว”

นอกจากศรีดาวเรืองมีเรื่องสั้นตีพิมพ์ในสังคมศาสตร์ ปริทรรศน์,ปุถุชนและช่อการะเกด ช่วงหลังมีเรื่องสั้นตีพิมพ์ในสตรีสาร,มติชนสุดสัปดาห์และมีเรื่องสั้นหลายเรื่องแปลเป็นภาษาอังกฤษลงในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post

บำเหน็จจากการทำงานด้วยความวิริยะที่ศรีดาวเรืองได้รับก็คือ เรื่องสั้นได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมายถึง 15 ภาษา เป็นข้อมูลที่เพิ่มเติมจากตอนที่แล้วที่กล่าวว่า 7 ภาษาได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีดิตช์(สวีเดน) อิตาลี โปแลนด์  เดนมาร์ก ญี่ปุ่น เกาหลี  จีน โปรตุเกส อินโดนีเซีย พม่า ไอซ์แลนด์และมาเลย์ สำหรับรวมเรื่องสั้นที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษคือเรื่องสั้นชุด “แก้วหยดเดียว”และ “ชาวยักษ์”

นอกจากนี้บทกวี “ยิ้มสยามยามนี้มีคราบเลือด” ได้รับการแปลเป็นภาษาเดนนิช(เดนมาร์ก)โดย Vagn Plenge  เรื่องสั้นที่ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดย ยูจิโร อิวากิ เช่น,คนดายหญ้า,ชายผ้าเหลือง,พ่อ,ลูกชายคนสุดท้อง,แม่สาลู, เพื่อนฉันยังไม่กลับจากในเมือง,ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เป็นอาทิ และYumiko Udo ได้แปลเรื่องสั้นของศรีดาวเรืองจำนวน 21 เรื่อง เป็นภาษาญี่ปุ่น ในชื่อปก “แก้วหยดเดียว” พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวาระ “ความสัมพันธ์ 130 ไทย-ญี่ปุ่น”

 รางวัลที่ได้รับได้แก่ เรื่องสั้น“คนดายหญ้า”ได้รับยกย่องให้เป็นเรื่องสั้นดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯเมื่อปี 2521 และได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในหนังสือ การอ่านงานประพันธ์เฉพาะเรื่องของกรมวิชาการ(ชื่อเดิม-ปัจจุบันยุบรวมเป็น สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2523 เรื่องสั้น“มันมากับการเลือกตั้ง”ได้รับการประดับช่อการะเกด จากนิตยสารโลกหนังสือเมื่อปี 2521

 เรื่องสั้น“ความเงียบที่เริ่มต้น”ได้รับคัดเลือกให้เป็นเรื่องสั้นสร้างสรรค์ของกลุ่มวรรณกรรมพินิจเมื่อปี 2522 เรื่องสั้น “งูเกี้ยว”ได้รับยกย่องให้เป็นเรื่องสั้นดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ เมื่อปี 2529 และรวมเรื่องสั้น “แม่สาลู”ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติเมื่อปี 2532

เกียรติยศที่น่าภาคภูมิใจก็คือ เมื่อปี 2540 ศรีดาวเรืองได้รับเกียรติจากสมาคมไทยศึกษา,พิพิธภัณฑ์บูรพา,พิพิธภัณฑ์ชาติวงศ์วรรณาและสหภาพนักเขียนสวีเดนให้ไปเยือนประเทศสวีเดน

ถือว่าเป็นนักเขียนสตรีคนแรกที่ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการให้ไปเยือนสวีเดน ซึ่งการได้รับเชิญให้ไปเยือนยุโรปถือว่าเป็น “ทูตวรรณกรรม” ที่ได้สร้างคุณประโยชน์ต่อวงวรรณกรรม ผู้ที่ประสานงานเรื่องนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 คือ คุณประหยัด กุลภา แล้วให้ไปเยือนต่ออีก 3 ประเทศคือ เดนมาร์ก เยอรมันและอังกฤษ

“เขาออกค่าใช้จ่ายให้หมด ไป 40 วัน 4 ประเทศ พักที่บ้านเขา”ศรีดาวเรืองบอกเล่าให้ฟังเมื่อนานมาแล้ว

นี่คือที่มาของหนังสืออัตสารคดี“สี่แผ่นดินอื่น เป็นอัตสารคดี 4 เล่ม ซึ่งเป็นสารคดีเล่มแรกในชีวิต ในเล่มนี้มีโบนัสพิเศษให้กับคนอ่านด้วยคือ ภาพนักเขียนรางวัลโนเบลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพร้อมคำบรรยายโดย สิงห์สนามหลวง หรือสุชาติ สวัสดิ์ศรี สมญานาม “ตู้วรรณกรรมเคลื่อนที่” นอกจากนี้ศรีดาวเรืองยังได้รับเกียรติให้ไปร่วมงานเทศกาลงานวรรณกรรมเอเชีย-แอฟริกา2007 ณ เมืองจอนจู ประเทศเกาหลีใต้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด-นักเขียนและศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ,รางวัลฟูกูโอะจากประเทศญี่ปุ่นและรางวัลศรีบูรพาจากมูลนิธิศรีบูรพาอดีตศาสตราจารย์ภาคประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือว่าเป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทย กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของบทความเรื่อง “คนน่าชัง”ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 32 ฉบับที่1637 ประจำวันที่ 30 ธันวาคม-5 ธันวาคม 2555

“...คนชั้นกลางหรือบริวารของอำมาตย์นั้นคือ คนแปลกหน้าที่ ‘ไพร่ ‘ไม่รู้จักเลย ในทางตรงกันข้าม ชีวิตของ ‘ไพร่’ซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ก็เป็นสิ่งลี้ลับในทัศนคติของคนชั้นกลางเช่นกัน ละครทีวีไม่เคยเสนอเรื่องราวของเขาอย่างเป็นจริง ‘ไพร่’ในละครทีวีมีบุคลิกตายตัว เลวตามสูตรหรือดีตามสูตร

พูดถึงเรื่องนี้แล้วอดคิดถึงนักเขียน(นิยาย)ไม่ได้ว่า น่าแปลกเหมือนกันนะครับที่นักเขียนนิยาย(นวนิยาย-เรื่องสั้น)ของไทย ซึ่งเริ่มมาหนึ่งศตวรรษแล้ว ไม่นำเอาชนชั้นล่างขึ้นมาสู่ความเป็นนักเขียนเลย ผมไม่ถนัดเรื่องนี้นัก แต่พยายามนึกถึงนักเขียนจากชนชั้นล่างอย่างไรก็นึกไม่ออกมากกว่าคุณ‘ศรีดาวเรือง’คนเดียว...”

 

 

“คนที่ดำเนินชีวิตแล้วประสบความผิดพลาดบ้างนั้น นับว่ามีเกียรติกว่าและมีคุณประโยชน์กว่าคนที่ไม่ทำอะไรสักอย่าง”(จอร์จ  เบอร์นาร์ด  ชอว์)