เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
ซอฟต์พาวเวอร์ คือ เสน่ห์ คือ พลังนุ่มนวลภายในของอะไรก็ได้ที่ตอบสนองอารมณ์ ความรู้สึก ความปรารถนาของผู้คน จนชอบ รัก ไปจนถึงหลงใหล
ซอฟต์พาวเวอร์ คือ นามธรรมที่สัมผัสได้ด้วยจิตด้วยใจ คือ วิญญาณ ของรูปธรรมที่สัมผัสได้ด้วยกาย ไม่ใช่อาหารของทุกประเทศในโลกเป็นซอฟต์พาวเวอร์ อาหารไทยได้รับการยอมรับว่าเป็น
ซอฟต์พาวเวอร์เป็นของดีที่ “ถูกใจ” แต่ไม่ใช่อาหารไทยทุกชนิดอร่อย ดีต่อสุขภาพ อาจเป็นเพียงกระแสที่กลบด้านลบไปก็มี ดีเพราะแรงโฆษณาประชาสัมพันธ์
ซอฟต์พาวเวอร์ต้องการการสื่อสารที่ดีมีประสิทธิภาพ ของดีไม่มีการบอกกล่าว ไม่มีการสื่อสาร ไม่มีการส่งเสริม ก็เหมือนไม่มีคุณค่า เก็บไว้ในตู้ไม่มีใครรู้เห็น
อาหารไทยแพร่หลายไปทั่วโลก เพราะปัจจัยหลายอย่าง การท่องเที่ยว ร้านอาหารไทยในประเทศต่างๆ และการประชาสัมพันธ์ การแนะนำทางสื่อ โดยเฉพาะโซเชีลมีเดีย ปากต่อปาก และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์
มีการรีวิวอาหารไทยโดยคนไทย เป็นภาษาไทยจำนวนมาก ที่เป็นภาษาอังกฤษที่โด่งดังที่สุดน่าจะเป็น Mark Wiens ลูกครึ่งอเมริกันจีน ที่มาปักหลักที่เมืองไทย ได้ภรรยาคนไทย จากอดีตครูสอนภาษาอังกฤษ เขาเป็นยูทูเบอร์ที่เดินทางไปทั่วโลก แนะนำอาหารอร่อยหรือพิเศษพิสดารของประเทศต่างๆ
รายการของเขามีคนติดตาม 10 ล้านคน ทำมา 10 ปีเศษ มีคนดูถึงวันนี้กว่า 2,700 ล้านวิว
มาร์ค วีนส์พูดไทยได้ดี แนะนำอาหารไทยโดยเดินทางไปกับภรรยา ทั้งสองไปชิมและแนะนำอาหารจากทุกภาคของประเทศไทย ไม่ใช่อาหารในร้านใหญ่ในเมืองเท่านั้น แต่อาหารข้างถนน ร้านอาหารเล็กๆ ตามสั่ง อาหารในหมู่บ้านชาวเขา ในชนบท โฮมสเตย์
มาร์ค วีนส์ อาจจะรีวิวอาหารร้านใหญ่ ร้านดังบ้าง “ตามคำขอ” คงด้วยค่าตอบแทนที่สูง ที่น่าสนใจคือการที่เขาก็ไปกินข้าวร้านเล็กๆ ข้างถนน ในเมืองในหมู่บ้านแบบจ่ายค่าอาหารเอง พร้อมกับแนะนำร้านเหล่านั้น รวมทั้งโฮมสเตย์ โดยให้ข้อมูลละเอียดด้านล่างของวีดิโอ ไม่ต่างจากร้านอาหารใหญ่
เขามีสปอนเซอร์ และได้ค่าตอบแทนจากยูทูบ หลายรายการได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นคนดังอย่างเขาเท่านั้นกระมังจึงทำได้ เพราะค่าใช้จ่ายไปทำรายการก็ไม่น้อย
มาร์ค วีนส์ ได้รับการยกย่องจาก CNN นิตยสารนิวยอร์ก และรายการอาหารดังในทีวีสหรัฐฯว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญอาหารไทยตัวจริง เขาทำข้อมูล ไม่ใช่รีวิวแบบ “ดำน้ำ” หรือ “กลอนพาไป”
นอกจากอาหาร เขายังสอดแทรกศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชน ทำให้เห็นบริบทที่มา คุณค่าของอาหาร แม้ไม่ใช่ข้อมูลแบบไกด์นำเที่ยว แต่ก็เป็นส่วนประกอบให้เห็นมิติชีวิตของอาหารที่เขาแนะนำได้ดี
“กรุงเทพฯ” น่าจะขอบคุณมาร์ค วีนส์ ที่แนะนำอาหารข้างถนนในสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าบนรถเข็น บาทวิถี ตลาดนัด หรือร้านเล็กๆ ทั้งหลาย จนต่างชาติยกให้บางกอกเป็นเมืองสุดยอดสตรีทฟู้ด
ททท.ไทยก็เก่ง ที่เห็นความสำคัญของรายการของเขา จัดการให้เขาไปชิมและแนะนำ “อาหารที่คนไม่รู้จัก” (อาหารเร้นลับ) ของดีในสี่ภาคอย่างน่าสนใจ คนไทยและเทศได้รับรู้และอยากไปชิม
วีดิโอแนะนำอาหารของวีนส์ที่ถ่ายทำเองกับภรรยา เป็นผลงานมืออาชีพ ดูได้ ไม่น่าเบื่อ เขาแนะนำกระบวนการปรุงอาหาร ชิมและชมอย่างมีข้อมูล รู้จักเครื่องเทศ วัตถุดิบและรสชาติ ไม่ใช่ได้แต่บอกว่า “อร่อยมาก” อย่างเดียว อย่างที่เห็นกันในหลายรายการ
มาร์ค วีนส์ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมอาหารไทยทั่วโลก เพราะคนติดตามเขากว่า10 ล้าน ดูรายการเขาอีกหลายพันล้านครั้ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยได้ไม่น้อยเป็นแน่
เขาเดินทางไปรีวิวอาหารทุกทวีป ใส่เสื้อยืดคอกลมเขียนภาษาไทยบนอกว่า “ไม่เผ็ดไม่กิน” และมีคำแปลว่า “If it’s not spicy, I’m not eating” คนทั่วโลกจำนวนมากรู้จักประเทศไทยผ่านเขา ชื่นชมอาหารไทยหลายร้อยรายการที่เขาแนะนำ มาเที่ยวเมืองไทย กินอาหารไทย โดยรัฐบาลไทยไม่ได้จ้างสักบาท
ได้ติดตามดูการรีวิวอาหารของคนไทยทางทีวีช่องต่างๆ และในยูทูบ ที่มีคนดูมากบ้างน้อยบ้าง ที่ดูได้และมีสาระน่าสนใจ มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ ที่น่าสนใจก็อย่างรายการฟู้ดเวิร์กของไทยพีบีเอสของเชฟบุ๊ก และรายการของ “หม่อมถนัดแดก” ที่พูดจาภาษานักเลงบ้านทุ่ง
รายการอื่นๆ ไม่ค่อยมีเสน่ห์ชวนติดตาม ส่วนหนึ่งเพราะความรู้ความเข้าใจในเรื่องอาหาร คุณค่า และเทคนิคในการนำเสนอที่ไม่มีพลังอย่างสามคนที่ได้กล่าวถึง โดยเฉพาะนายวีนส์ที่ “ไม่เผ็ดไม่กิน”
เมื่อก่อนมีคนไปรีวิวอาหารแล้วเอาป้ายไปติดที่ร้าน อย่างเชลล์ชวนชิม เปิบพิสดาร และหนังสือพิมพ์ ทีวีช่องต่างๆ วันนี้ก็ยังมีบ้าง แต่ดูไม่มีความจำเป็นแล้ว (ยกเว้น Michelin) เพราะมีข้อมูลและคำแนะนำร้านอาหารดีๆ ทางโซเชียลมีเดีย และมีคนรีวิวให้หลากหลายเต็มไปหมด
ถ้ารัฐจะส่งเสริมการสื่อสารซอฟต์พาวเวอร์ ควรส่งเสริมการเรียนรู้การผลิตสื่อให้เด็กเยาวชน แบบรายการ “สื่อพลเมือง” ของไทยพีบีเอส ที่ปล่อยให้ “ชาวบ้าน” ทำเอง
ไม่ไปส่งเสริมแบบยัดเยียดด้วยกรอบเกณฑ์ต่างๆ ยังกับเป็นผู้กำกับ จนกลายเป็นอุปสรรคเสียเอง ซอฟต์พาวเวอร์เป็น “พลังภายใน” ของชุมชนที่เหมือนต้นตำลึงข้างรั้ว เกิดเอง โตเอง เพราะลมพัดมา นกนำมา แต่ถ้าตั้งใจไปปลูกก็ไม่ขึ้น ไม่ได้กิน ปล่อยชุมชนเขาทำเองเถอะ มีวิธีการดีๆ เพื่อไปส่งเสริมพวกเขามากมาย
ที่สำคัญ รัฐควรเน้นที่การเรียนรู้ การฝึกฝน การประกวดและการให้รางวัลการผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมพลังนุ่มนวลภายใน ซึ่ง “ซ่อนอยู่” ในทุกท้องถิ่น เป็นทุนทางธรรมชาติ ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคมมากมายที่รอให้มีการเปิดเผยและพัฒนา