เสือตัวที่ 6

สงครามการรุกไล่โต้กลับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาของกองทัพอิสลาเอล ด้วยความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อันเป็นแบบฉบับของอิสลาเอลที่ถือคติการต่อสู้กับศัตรูของประเทศว่าตาต่อตา ฟันต่อฟัน อย่างไม่ลดราวาศอกแต่อย่างใด ตลอดหลายสิบวันที่ผ่านมาในพื้นที่การสู้รบอันเป็นพื้นที่ตอนบนของปาเลสไตน์ ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่การสู้รบแห่งนี้ก็หนีไม่พ้นพื้นที่คาบเกี่ยวกับรัฐปาเลสไตน์ซึ่งเป็นดินแดนของชาวมุสลิมที่มีเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้เป็นส่วนใหญ่ และแน่นอนว่าเมื่อพี่น้องร่วมความเชื่อทางศาสนาถูกศัตรูเข่นฆ่ารังแกและรุกรานอย่างไม่เป็นธรรม ก็ถือว่าเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวมุสลิมทั่วโลกต้องร่วมกันต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สงครามในฉนวนกาซาที่เต็มไปด้วยชาวมุสลิม จึงง่ายต่อการปลุกกระแสชาติพันธุ์และกลุ่มความเชื่อทางศาสนาเดียวกันให้ลุกขึ้นและรวมพลังกันต่อสู้กับศัตรูของพวกเขาได้อย่างง่ายดาย ปรากฏการณ์เมื่อกลางเดือน พ.ย.66 ที่มีการปลุกกระแสต่อต้านอิสราเอลในสหรัฐฯ จนลุกลามอย่างหนักมากขึ้นเป็นลำดับ จนเกิดกลุ่มคนหลายร้อยคนเดินขบวนบริเวณด้านนอกบ้านพักของผู้นำชาติมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในเดลาแวร์ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประณามการที่สหรัฐฯ สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซา ที่ทำให้มีผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตไปแล้วกว่าหมื่นคนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และก่อนหน้านั้น ก็มีการชุมนุมของกลุ่มคนที่สนับสนุนปาเลสไตน์ โดยเกิดขึ้นใกล้ทำเนียบขาวหลายครั้ง ทั้งยังมีการชุมนุมต่อต้านอิสลาเอลและสหรัฐฯ ที่สร้างความวุ่นวายในสถานที่อื่นๆ ของสหรัฐฯ ในวงกว้าง อาทิเช่น สถานีรถไฟกลางของนิวยอร์กและสำนักงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ เป็นต้น

ด้วยท่าทีของอิสลาเอลที่แสดงออกต่อกลุ่มประเทศอิสลามที่อยู่รายล้อมประเทศนั้น ล้วนมีสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางการเมือง และการทหารต่ออิสลาเอลเป็นอย่างสูง ทิศทางและท่าทีของผู้นำ อิสลาเอลจะแข็งกร้าวหรือจะผ่อนปรนลงอย่างไร ล้วนขึ้นอยู่กับท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ อย่างชัดเจนยิ่ง นั่นคือเหตุผลสำคัญที่เกิดการปลุกกระแสต่อต้านอิสลาเอลโดยผ่านการปลุกกระแสกดดันผู้นำสหรัฐฯ ให้ส่งสัญญาณให้ผู้นำอิสลาเอลหยุดการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พี่น้องชาวมุสลิมโดยเร็วตามที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องกดดันกล่าวอ้าง ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่ประท้วงรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนในสหรัฐอเมริกาในช่วงนี้ เลือกจะอยู่ข้างปาเลสไตน์อย่างเต็มที่ ด้วยการอ้างเหตุผลด้านมนุษยธรรมให้กับชาวปาเลสไตน์ที่ต้องสูญเสียชีวิต พลัดที่อยู่ เผชิญความอดอยาก และความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาตามหลักมนุษยธรรมได้ โดยเมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เกิดการประท้วงอิสลาเอลและผู้นำสหรัฐฯ ในฐานะผู้สนับสนุนอิสลาเอล และสนับสนุนความอยู่รอดของชาวปาเลสไตน์ ที่คงเกิดขึ้นจำนวนมากในเมืองสำคัญๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา

นอกจากการปลุกกระแสต่อต้านสหรัฐฯ ไม่ให้สนับสนุนอิสลาเอลจะกระทำในรูปแบบการประท้วงโดยทั่วไปแล้ว ยังมีการชุมนุมการประท้วงหลากหลายรูปแบบ ทั้งการชุมนุมปิดท่าเรือ เพื่อไม่ให้มีการขนส่งอาวุธไปให้อิสราเอล โดยเมื่อ 3 พ.ย.66 ได้เห็นภาพผ่านทางสื่อมวลชนต่างประเทศที่มีผู้สนับสนุนฝ่ายปาเลสไตน์กว่าร้อยคน เดินเท้าไปยังท่าเรือโอ็คแลนด์ (Port of Oakland) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อขัดขวางมิให้เรือ Cape Orlando ของสหรัฐอเมริกาที่ต้องสงสัยว่าอาจมีอาวุธ หรือเตรียมจะไปขนอาวุธ และยุทโธปกรณ์ที่ท่าเรือ Tacoma ในรัฐวอชิงตัน เพื่อไปให้การสนับสนุนอิสราเอลใช้ในการทำสงครามในฉนวนกาซา แม้ในท้ายที่สุดจะไม่สามารถขัดขวางได้ แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ย่อท้อประกาศว่าจะไปขัดขวางการขนส่งของเรือ Cape Orlando ที่ต้องแวะเทียบท่าที่ Tacoma ในรัฐวอชิงตัน ซึ่งเมื่อ 6 พ.ย.66 ก็มีการไปชุมนุมขัดขวางการออกเรือของ Cape Orlando โดยมี Arab Resource and Organizing Center เป็นกลุ่มผู้จัดการชุมนุมขัดขวาง นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนอิสลาเอลในรูปแบบของการสนับสนุนงบประมาณด้านการทหารของอิสราเอล ประมาณร้อยละ 16 ของงบด้านการทหารทั้งหมดของอิสราเอลซึ่งกำลังได้รับการต่อต้านขัดขวางอย่างหนักของฝ่ายสนับสนุนปาเลสไตน์

นอกจากนั้น ยังเกิดขบวนการต่อต้านธุรกิจร้านค้าต่างๆ ที่สนับสนุนอิสราเอลในอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของอิสลาเอล โดยเมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มีคนไปทำลายสินทรัพย์ของธุรกิจเหล่านั้นอย่างกว้างขวางในอังกฤษ อาทิ ร้านสตาร์บัคส์สาขาหนึ่งในในอังกฤษ ร้านแมคโดนัลด์ เนื่องจากกระแสความไม่พอใจในการทำสงครามกวาดล้างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา โดยขบวนการ บีดีเอส มูฟเม้นท์ (BDS Movement) ซึ่งย่อมาจากคำว่า บอยคอต - ไม่ลงทุน - และคว่ำบาตร ธุรกิจร้านค้าใด ๆ ก็ตาม ที่ให้การสนับสนุนอิสราเอล ทั้งนี้ ขบวนการดังกล่าวก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2005 โดยรามี ชาอัธ และ โอมาร์ บากูธี ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวชาวปาเลสไตน์ มีความสัมพันธ์กับองค์กร และเครือข่ายที่เคลื่อนไหว เพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ ที่กระจายอยู่ทั่วโลก และแม้แต่ในตุรกี กลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ได้รวมตัวประท้วงกันที่ฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิก (Incirlik) ในเมืองอาดานา (Adana) ทางภาคใต้ของตุรกี เพื่อประท้วงการโจมตีของอิสราเอลเข้าใส่กาซาและประท้วงสหรัฐฯ ที่สนับสนุนอิสราเอลโดยฐานทัพอากาศดังกล่าวถูกใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของทหารอเมริกัน   

ในขณะที่สงครามก็ยังคงดำเนินต่อไป การเคลื่อนกำลังรบของกองทัพอิสลาเอลได้รุกไล่ไปถึงแนวชายฝั่งของฉนวนกาซา ทำให้พื้นที่ดังกล่าวถูกแยกออกเป็นกาซาเหนือและกาซาใต้ โดยฉนวนกาซาตอนเหนือนั้นเป็นฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มติดอาวุธฮามาส มีเมืองกาซาซิตีเป็นเมืองหลัก ซึ่งสื่อมวลชนอิสราเอลคาดว่า ภายในอีก 48 ชั่วโมงข้างหน้า กองทัพจะเคลื่อนกำลังบุกเข้าสู่เมืองกาซาซิตี ซึ่งอิสราเอลกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยระหว่างปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มฮามาสด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวตามรูปแบบของอิสลาเอล ตามที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศชัดว่า เขาจะเพิ่มความเข้มข้นของการโจมตีมากขึ้น สถานการณ์ระหว่างคู่ขัดแย้งในตะวันออกกลางในขณะนี้ จึงมีความเข้มข้น และสามารถปลุกกระแสความรู้สึกเกลียดชังคนเห็นต่างจากทั่วทุกมุมโลกได้ไม่ยาก กรณีตัวอย่างของไทยเองที่เกิดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ End Genocide Free Palestine ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เพื่อเรียกร้องให้อิสราเอลหยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ โดยมีแถลงการณ์แสดงถึงจุดยืนเคียงข้างชาวปาเลสไตน์ในฐานะชาวมุสลิม ณ มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี พร้อมกับการปลุกกระแสพี่น้องชาวมุสลิมทั่วโลกให้รวมพลังกันเพื่อต่อสู้กับศัตรูของพวกเขาอย่างสาสม เป็นการปลุกกระแสต่อต้านผู้เห็นต่างทางความเชื่อทางศาสนาและวิถีมุสลิมในพื้นที่อื่นๆ ของโลกอย่างเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ