ร้อยเอก ดร. จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราได้เห็นการพูดถึง Soft Power กันเยอะมากๆครับ หลายต่อหลายคนยังไม่เข้าใจและมีคำถามว่ามันคืออะไรกันแน่ วันนี้จะมาย่อยให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจกันง่ายๆครับ
Soft Power คืออะไร?
การจะเข้าใจ Soft Power ได้ ต้องเข้าใจคำว่า Power ก่อน
เอาง่ายๆ Power หรือ อำนาจ ก็คือ ความสามารถในการทำให้ “คนอื่น ทำในสิ่งที่ เราต้องการ” นึกภาพคนมีอำนาจที่สั่งให้คนซ้ายหันขวาหันได้ตามใจต้องการ
ทีนี้ ในทางการเมืองระหว่างประเทศ สมัยก่อนก็มีอยู่ไม่กี่วิธี เช่น การกดดันทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การใช้กำลังทหารเข้าไปรุกราน
เพื่ออะไร? ก็เพื่อให้ “คนอื่น ทำตามในสิ่งที่ เราต้องการ” นั่นเอง
สิ่งนี้เรียกว่า Hard Power ครับ คือการกดดัน หรือพูดง่ายๆว่า “ทุบเอา” ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ซึ่งแต่ละประเทศต้องการอะไรก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ “ผลประโยชน์ของชาติ” ตน
ทีนี้ ภายหลังก็มีเริ่มมีการพิจารณาถึง “วิธีการ” อื่นๆ ที่นอกเหนือจากการ “ทุบ” และพบกันว่า มีแนวทางอื่นเช่นกันที่สามารถทำให้ “คนอื่นทำตามสิ่งที่เราต้องการ” เช่น การดึงดูดใจ หรือการทำให้คล้อยตาม
มัดรวมกันเรียกโดยรวมได้ว่า Soft Power นั่นเอง
Joseph Nye ผู้ที่ถือได้ว่าเป็นปรมาจารย์ด้านนี้ กล่าวไว้ว่า
Power is the ability to influence the behavior of others to get the outcomes you want. There are several ways one can achieve this: one can coerce others with threats; one can induce them with payments; or one can attract and co-opt them to want what one wants. This soft power – getting others to want the outcomes one wants – co-opts people rather than coerces them.
แปลได้ว่า อำนาจคือความสามารถในการมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของผู้อื่น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ มีหนทางที่จะทำได้หลายทาง เช่น การใช้กำลัง หรือ การจูงใจให้ทำในสิ่งที่ต้องการ
Soft Power คือการทำให้ผู้อื่นต้องการผลลัพธ์เดียวกับเรา หรือทำตามสิ่งที่เราต้องการ ด้วยวิธีการอื่นๆ แทนการใช้กำลัง นั่นเอง
ตรงจุดนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า “หัวใจ” ของ Hard Power กับ Soft Power นั้นเหมือนกัน คือ “การทำให้คนอื่นทำตามในสิ่งที่เราต้องการ” นั่นเอง แตกต่างกันแค่ “วิธีการ”
ดังนั้น Soft Power จึงไม่ต่างจาก Hard Power ในแง่ของเป้าหมาย นั่นคือการ บุก รุก เข้ายึดครอง และทำให้เกิดผลตามที่เราต้องการ เพียงแต่ไม่ได้ใช้กำลังไปทุบเอานั่นแหละครับ
ลองดูตัวอย่างของในต่างประเทศ จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ
ตัวอย่างแรกคือ ประเทศจีน ที่ชัดเจนที่สุด คือการเดินเกมการต่างประเทศที่เน้นการช่วยเหลือ การพัฒนา และการลงทุน ผ่าน Belt Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นนโยบายต่างประเทศหลักของจีน
จีนใช้การช่วยเหลือ การพัฒนา และการลงทุน เป็น “พลัง” ที่แทรกเข้าไปในประเทศต่างๆได้อย่างแนบเนียน ใช้การร่วมมือสร้างสาธารณูปโภค หรือ Hard Infrastructure เช่น ถนน รถไฟ การเชื่อมโยงต่างๆ ตลอดจนการลงทุนด้าน Soft Infrastructure เช่น การพัฒนาด้านดิจิตอล การศึกษา การแพทย์ และการลดความยากจน เป็นหัวหอกที่หยิบยื่นให้กับประเทศต่างๆรอบๆด้าน เรียกว่า จีนใช้พลังจากการ “ให้” ที่ “ยากจะปฏิเสธ” เพราะปฏิเสธก็เสียน้ำใจแถมยังเสียโอกาส และไม่ได้ใช้กำลังทางทหารเลยแม้แต่น้อย
แต่ผลลัพธ์ที่ได้มา กลับได้พรรคพวกในเวทีระหว่างประเทศไม่น้อย หลายประเทศเปิดรับคนจีน พูดภาษาจีน กลายเป็นเวทีให้สินค้าจีน และแน่นอนได้แผ่อิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศไปพร้อมๆกัน จะเห็นได้ว่า “จีน ได้สิ่งที่ตนต้องการตามผลประโยชน์แห่งชาติ” โดยไม่ต้องใช้กำลังทางทหาร
นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนตัวอย่างหนึ่งของ Soft Power ที่ประสบความสำเร็จ สังเกตได้ว่า ทั้งหมดทั้งมวล จีนทำไปเพื่อให้คนอื่นทำตามสิ่งที่ตนต้องการ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติของตน และจะสังเกตได้ว่า Soft Power ของจีนนั้นมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในประเทศต่างๆเพื่อให้เอื้อต่อความร่วมมือที่จะได้รับ หรือแม้แต่มีพลังมากพอที่ทำให้ผู้คนเรียนรู้ภาษาจีน โดยไม่ต้องบังคับแต่อย่างใด
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในแง่มุมของวัฒนธรรม เกาหลีใต้ใช้วัฒนธรรมผ่านสื่อบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หรือ K-Pop ที่เรารู้จักกันดี
แต่แน่นอนว่า ก่อนที่สื่อบันเทิงของเกาหลีใต้จะกลายเป็น Soft power ได้ เกาหลีใต้ก็สร้างสื่อบันเทิงมาตลอดไม่เคยหยุดพัก คำถามที่สำคัญคือ เหตุใดสื่อบันเทิงที่สร้างมาหลายสิบปี จึงไม่ทำให้กลายเป็น Soft power ได้ก่อนหน้านี้ แต่กลับเป็นยุคสมัยใหม่ที่ผ่านมาประมาณ 2 ทศวรรษ จุดเปลี่ยนของเกาหลีใต้คือจุดใด?
จากการวิเคราะห์ จะพบว่า มี 2 ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้สื่อบันเทิงของเกาหลีใต้หยิบเอาวัฒนธรรมไปเผยแพร่จนกลายเป็น Soft power ได้ ซึ่งก็คือ “ความปัง” (ขออนุญาตใช้ศัพท์วัยรุ่น) และ “ความ Universal” หรือ ความที่เข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายของคนทั้งโลกนั่นเอง
ขยายความเพิ่มเติม กล่าวได้ว่า อาจเป็นภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มี “ความปังระดับสูง” เช่น อาจเป็นเรื่องแดจังกึม ที่ดังไปทั่วโลก จนคนเปิดรับวัฒนธรรมอาหารเกาหลี จนกลายเป็นกระแสที่ผู้คนทั่วโลกสนใจ รวมถึง K-pop ที่ปังแบบสุดๆ และเข้าถึงง่ายในแบบสากล จนทำให้คนทั่วโลกสนใจอยากเรียนรู้ภาษาเกาหลี จนนำไปสู่ความชื่นชอบในสินค้าเกาหลี ตลอดจนการเดินทางไปท่องเที่ยวยังเกาหลีใต้ ในทางกลับกันหาก K-pop เป็นเพลงแบบเกาหลีโบราณที่คนทั่วไปไม่เก็ท ก็คงยากจะเกิดกระแสในวงกว้าง
เช่นกัน เกาหลีใต้ ได้ “สิ่งที่ตนต้องการ” และเห็นได้ชัดเจนว่า สื่อบันเทิงของเกาหลีใต้มีพลังมากพอที่จะ “ทำให้คนทั่วโลก ทำตามที่เกาหลีใต้ต้องการ” นั่นคือการส่งเสริมเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ผ่านการซื้อสินค้าและบริการและการท่องเที่ยว สื่อบันเทิงของเกาหลีใต้จึงเป็น Soft power อย่างแท้จริงอีกอันที่เห็นได้ชัด และมีพลังในฐานะ “อำนาจ” เช่นเดียวกับของประเทศจีน
จากกรณีศึกษานี้ จะเห็นได้ว่า สิ่งที่จะเป็น Soft Power ได้ จะต้องมี “พลัง” ที่มากพอ และสามารถทำให้ “ผู้อื่นทำตามสิ่งที่เราต้องการได้” หรือ กล่าวได้ว่า นี่คือคุณสมบัติสำคัญของการตัดสินว่า สิ่งใดคือ Soft Power นั่นเอง และ “ความปัง” และ “ความ Universal” เป็นสองปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดพลัง
นอกจากนี้จากตัวอย่างทั้งสอง จะเห็นได้ว่า Soft Power นั้น คือการมีมิติของการเป็น Covert Operation หรือ ภารกิจลับ ปนอยู่ด้วย
ลองคิดกันเล่นๆว่า หากจีนหรือเกาหลีใต้ป่าวประกาศว่า นี่คือ Soft Power ของเขา ที่จะใช้เพื่อทำให้ชาติอื่นยอมทำตามสิ่งที่จีนหรือเกาหลีใต้ต้องการ เพื่อประโยชน์ของจีนและเกาหลีใต้ ประเทศต่างๆอาจไม่ยอมรับและต่อต้าน เพราะไม่มีใครต้องการให้ประเทศอื่นมีบทบาทเหนือตน
ดังนั้น สิ่งที่ควรคำนึงเป็นสำคัญยิ่งในการออกแบบ Soft Power ของชาติ จึงควรคำนึงถึงปัจจัยนี้ด้วย
กล่าวโดยสรุปได้ว่า Soft power นั้นมีหัวใจและเป้าหมายเช่นเดียวกับ Hard power คือการ “ทำให้ผู้อื่นยอมทำตามสิ่งที่เราต้องการ” แต่เป็นการยอมทำตามโดยสดุดี ด้วยพลังของการชักจูง ไม่ใช่ด้วยกำลังทหาร การจะชี้วัดว่าสิ่งใดเป็น Soft power จึงต้องพิจารณาถึงผลลัพธ์ว่าสิ่งนั้นจะมี “พลังอำนาจ” ในการชักจูงคนในชาติอื่นให้ยอมทำตามเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของชาติเราหรือไม่
การสับสนระหว่าง “มรดกทางวัฒนธรรม” กับ “Soft power” เป็นสิ่งที่อาจทำให้การผลักดัน Soft power หลงทิศหลงทางได้ไม่ยาก พึงระลึกเสมอว่า มรดกทางวัฒนธรรม อาจไม่ใช่ Soft power ด้วยตัวมันเอง และอาจจำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างถูกต้องกว่าจะกลายเป็น Soft power ได้
ยกตัวอย่างเช่น ผ้าไทย หากนำผ้าไทยมาวางไว้หนึ่งผืนหรือให้ผู้นำใส่ ผ้าไทยจะไม่ใช่ Soft power เนื่องด้วยไม่ได้มีพลังอำนาจมากพอที่จะจูงใจ หรือทำให้ผู้อื่นทำตามสิ่งที่เราต้องการได้ ดังนั้น ผ้าไทยจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและบริหารจัดการให้เกิด 2 ปัจจัยสำคัญที่ได้กล่าวไปแล้วคือ “ความปัง” และ “ความ Universal” เช่น พัฒนาด้านการออกแบบให้คนทั่วโลกเข้าถึงได้ และผลักดันให้เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าไทย (มีดีไซน์ทันสมัย) ไปอยู่ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ผ่านการใส่ของดาราระดับโลก จนเกิดกระแสความสนใจของคนทั่วโลก เกิดเป็นความปังระดับสูง จนนำไปสู่ความต้องการของคนทั่วโลก และอาจนำไปสู่ความต้องการมาเที่ยวประเทศไทย ณ จุดนั้น จึงจะเรียกได้ว่า ผ้าไทย ได้มีพลังอำนาจมากพอที่จะทำให้ผู้อื่นทำตามสิ่งที่เราต้องการ สนับสนุนผลประโยชน์ของไทยในด้านการท่องเที่ยว และจะสามารถเรียกได้เต็มปากว่า ผ้าไทย คือ Soft power
หากจะให้คำแนะนำกับการสร้าง Soft power ของไทย ผมเห็นว่าควรใช้จุดแข็งของเราให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ณ ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับ Climate crisis และสงครามที่ทำให้หลายประเทศผลิตอาหารได้ยากลำบาก
เชื่อไหมครับว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก มีประเทศที่เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่อยู่ไม่ถึง 20 ประเทศ และประเทศไทยอยู่ที่ลำดับ 10 ครับ นี่คือจุดแข็งของไทย หรือเรียกว่า เป็นทรัพย์สมบัติของชาติอย่างแท้จริง
ประเทศไทยสามารถใช้พลังทางการทูตเจาะเข้าไปยังประเทศต่างๆที่ประสบปัญหา หยิบยื่นความช่วยเหลือให้ประเทศต่างๆ เพราะเรามีทั้งสินค้า ความรู้ และเกษตรกรที่มีความสามารถเต็มประเทศ เข้าไปช่วยเหลือ ให้ความรู้ แก่ประเทศต่างๆที่กำลังลำบาก เป็นการ “ให้” ที่ “ยากจะปฏิเสธ” ทำให้ประเทศต่างๆยอมรับเราในฐานะผู้นำในด้านการผลิตอาหาร และผู้นำในด้านการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหาร นี่จะทำให้ประเทศต่างๆยอมรับเรา และจะนำมาซึ่งบทบาทและจุดยืนที่ดีในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งยังต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจของชาติได้อีกมาโข ซึ่งแน่นอนว่า นี่ล้วนเป็นผลประโยชน์ของชาติทั้งสิ้น
วิธีการเช่นนี้ จะคล้ายคลึงกับวิธีการของจีน หากแต่จีนใช้การลงทุนและเม็ดเงินมหาศาลบุกเข้าไป เราสามารถใช้องค์ความรู้และบุคคลากรของเราเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกับจีน เมื่อเราช่วยให้ประเทศต่างๆที่ลำบากไม่มีอาหารเพียงพอ ได้ลืมตาอ้าปากท้องอิ่มได้ สิ่งนี้อาจจะมีพลังมากพอที่จะ “ทำให้ผู้อื่นทำตามสิ่งที่เราต้องการ” และกลายเป็น Soft Power ที่ประสบความสำเร็จโดยพ่วงเอาพี่น้องเกษตรกรไปสู่ความมั่งคั่งพร้อมๆกัน
เอวัง