เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phongphit
สังคมไทยมีศักยภาพที่จะเป็นสังคมพัฒนา ถ้ารู้จักเรียนรู้ เพราะเป็นสังคมที่มี “ทุน” มหาศาล
1 ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม ที่บรรพบุรุษได้สั่งสม สืบทอด ต่อยอดกันมา คือ ภูมิปัญญาในการดำรงชีวิต คุณค่าดีงามที่หล่อหล่อมรวมผู้คนให้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน พึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
แต่รัฐบาลไทย นักการเมืองไทยเพิ่งมาเห็นคุณค่าของ “ต้นทุน” เหล่านี้ “ขุด” เอามาใช้ “เด็ดยอด” เอามาขาย เรียกสวยงามว่า “โอทอป” เรียกทันสมัยว่า “ซอฟท์พาวเวอร์”
แต่ก็เห็นแต่มิติทางเศรษฐกิจ แทนที่จะ “ต่อยอด” และส่งเสริมสนับสนุนให้คุณค่าอีกมากมายที่พร้อมที่จะเติบโต กลับเป็นอุปสรรคเสียเอง เพราะระบบโครงสร้าง กฎหมายที่ไปครอบงำศักยภาพเหล่านี้ ยกตัวอย่างแค่เรื่องเดียวคือ “เหล้า” ที่ทำให้ภูมิปัญญาไทยไม่ได้พัฒนา (ปล่อยให้ญี่ปุ่นเอาสาโทไปทำสาเก เอาเหล้าขาวไปทำอะวะโมริตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนโด่งดังไปทั่วโลก เป็นซอฟพาวเวอร์ของแท้)
คนไทยมีวิญญาณศิลปินไม่แพ้ประเทศใดๆ ในโลก มีจินตนาการบรรเจิด สร้างสรรผลงานที่ไม่เพียงแต่ “กินได้” หรือ “ขายได้” อย่างอาหารไทย มวยไทย แต่ศิลปะมากมายที่มีคุณค่าทางสุนทรียะและจิตวิญญาณ
ถ้ารัฐบาลบาลไทยมีวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้มองไกลอย่างเดียว แต่มองทะลุได้ด้วย จะเห็นพลังอันยิ่งใหญ่ของคนไทย ชุมชนไทย ภูมิปัญญาไทย วิถีไทยที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และศักยภาพที่จะเป็นซอฟพาวเวอร์ รัฐต้องคืนอำนาจในการคิดและสร้างสรรค์ให้ประชาชน ไม่ไปควบคุมตั้งกรอบเกณฑ์ แต่ไปส่งเสริมหนุนหลัง
ปัญหาอุปสรรคสำคัญ คือ สังคมไทยไม่ใช่สังคมเรียนรู้ ไม่ใช้ความรู้เป็นฐานในการพัฒนา จึง “มักง่าย” ใช้เงิน ใช้อำนาจ แบบสังคมอุปถัมภ์ ล่อหลอกกันไป ครอบงำกันไป ใช้งบประมาณเพื่อสร้างผลงาน
หลายสิบปีที่ผ่านมามีโครงการร้างมากมาย ที่รัฐบาลได้ตัวอย่างดีๆ ที่ชุมชน เอกชน เอ็นจีโอทำสำเร็จเป็นต้นแบบ เอาไปปูพรม อย่างฝายแม้วที่รัฐบาลหลายปีก่อนวางเป้าหมายไว้เป็นแสนทั่วประเทศ
รัฐบาลนี้อาจทำผิดซ้ำเรื่อง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ที่ให้เริ่มจากชัยนาท แล้วจะปูพรมไปทั่วประเทศ คอยดูว่าจะตั้งงบประมาณเท่าไร มีการคอรร์รัปชั่นหรือไม่ และจะมี “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ร้างเท่าไร
เหมือนในอดีตมี “สระน้ำ” ร้างในโครงการแก้ภัยแล้งมากมายหลายโครงการ บ่อน้ำที่รัฐไปขุดให้ชาวบ้านที่ไม่ได้มีส่วนร่วมวางแผน สุดท้ายกลายเป็นที่ควายลงไปเล่นน้ำ ชาวบ้านใช้น้ำไม่ได้ เพราะไปขุดในที่ห่างไกล ที่ไม่เหมาะ (เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เคยประเมินแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วภาคอีสาน ได้ผลไม่ถึงร้อยละ 15)
ธนาคารน้ำใต้ดินเป็นโครงการดี ที่เริ่มจากพระที่บึงกาฬ จากครู จากอบต.เล็กๆ ที่อุบลฯ หลายปีก่อน กระจายไปทั่วเพราะได้ผลดี มีการเรียนรู้ และอบต.จัดสรรงบประมาณของตนเอง วันนี้รัฐบาลและพรรคการเมืองเห็นโอกาส อาจทุ่มงบประมาณมหาศาล “เพื่อแก้ภัยแล้ง” ก็ขออย่ามี “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ร้างเลย
เพราะปัจจัยความสำเร็จไม่ใช่งบประมาณ หรือ “คำสั่งตามนโยบาย” แต่เป็นความรู้จริงที่มาจากการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่รัฐบาลมองข้ามเมื่อมีโครงการที่เร่งด่วนและอยากสร้างผลงาน
ลองไปถามอาจารย์โกวิท ดอกไม้ ผู้รู้ตัวจริงเรื่องธนาคารน้ำใต้ดินดูก็จะรู้ว่า ไม่ใช่ไปขุดที่ไหนก็ได้น้ำ การเรียนรู้เป็นอย่างไร จึงจะได้คนรู้จริง ขุดให้ถูกที่ถูกทางทั่วประเทศ และเป็นธนาคารน้ำใต้ดินได้จริง
2 ทุนที่ธรรมชาติได้จัดสรรให้ ดินที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีทะเล มีภูเขา มีป่าไม้ มีแดด มีฝน มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำพอเพียงเพื่อเลี้ยงดูบรรพบุรุษของเรา ที่อพยพย้ายถิ่นจากใกล้และไกลเข้ามาอาศัยในแหลมทองแห่งนี้ ร้อยพ่อพันแม่เป็น “คนไทย”
พอการท่องเที่ยวบูม กระแสคืนสู่ธรรมชาติ กระแสภูมิปัญญาชาวบ้านมา รัฐก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบปูพรม รูปแบบที่แข็งทื่อไม่เป็นธรรมชาติ เกิดศูนย์ผลิตภัณฑ์ เกิดรูปแบบการจัดการ การฟ้อนรำรับแขก ฯลฯ
ความล้มเหลวในงานพัฒนาโครงการต่างๆ เกิดเพราะผู้คนขาดความรู้ รัฐบาลขาดวิสัยทัศน์ เน้นแต่รายได้ เศรษฐกิจ จึงได้แต่ไปเก็บเกี่ยว รีดนาทาเร้นจากธรรมชาติ เอาผลผลิตมาขาย จะได้เงินไปซื้อกินซื้อใช้ จนดิน น้ำ ป่า เสื่อมโทรม หมดสภาพ ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงทันสมัยแต่ไม่พัฒนา ไม่ยั่งยืน
การพัฒนาไทยไม่ได้ไปข้างหน้า แต่กลับถอยหลัง เพราะทำลายทุนทางธรรมชาติไปจนต้องพึ่งปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช แล้วอ้างความจำเป็นที่ต้องขุดเอาแร่โปเตสใต้แผ่นดินอีสาน อ้างประโยชน์ส่วนรวม การส่งออกและการใช้ในประเทศ ที่จะเป็นมูลค่ามหาศาล เพราะไทยมีแร่ชนิดนี้เป็นอันดับสองของโลก
โดยไม่คำนึงถึง “ราคาแพง” ที่ต้องจ่าย ไม่ใช่เพียงแต่การทำลายสิ่งแวดล้อมที่จะได้ไม่คุ้มเสีย และการทำลาย “ชุมชน” นับพันนับหมื่น ผู้คนเป็นแสนเป็นล้าน ที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่ของพวกเขา ที่อาจทำนา ทำสวนทำไร่และอาศัยดินน้ำไม่ได้อีกต่อไป อีสานใช่แคนาดาที่ “ขุดได้” เพราะกว้างใหญ่ไพศาลที่มีโปแตสอันดับหนึ่ง
ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอีกมากมายที่สามารถพัฒนามาทดแทนได้ ทั้งอาหารและพลังงาน แต่สังคมที่มีระบบโครงสร้างที่เอื้อต่อการผูกขาด ไม่อนุญาตให้ทำได้ ถ้ารัฐบาลส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนจากแดด จากลม ให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าได้เอง คนไทยคงไม่ต้องจ่ายค่าไฟแพงอย่างวันนี้ ที่คนที่ร่ำรวยคือนายทุนพลังงาน
แนวทางการพัฒนาที่ “ไม่เห็นหัวประชาชน” รัฐราชการแบบไทยจึงรู้ดีกว่าชาวบ้าน สังคมไทยไม่เรียนรู้ แม้แต่ “การเรียนรู้” เอง พอส่งเสริมก็มีการปูพรม อย่างกรณี “การทำแผนแม่บทชุมชน” ที่มูลนิธิหมู่บ้านได้พัฒนาและเผยแพร่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เมื่อรัฐเห็นว่าดี ได้ผล ก็เอาไปส่งเสริมทั่วประเทศ สั่งการให้กระทรวงต่างๆ นำไปใช้ ก็กลายเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อของบประมาณ ไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง ตามเจตนาเดิม
สังคมไทยคงก้าวไม่พ้นสังคมรายได้ปานกลาง ถ้ายังเป็นสังคมอุปถัมภ์ ที่รัฐยังกู้เงินมาแจกชาวบ้าน ทำโครงการประชานิยมนั้นง่าย แต่สร้างระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองนั้นยาก
เมืองไทยจะพัฒนาได้ดีกว่านี้ ถ้ามีรัฐบาลที่กล้าประกาศ “สร้างระบบการเรียนรู้และพัฒนาตนถ้วนหน้า” เหมือนที่กล้า “สร้างระบบสุขภาพถ้วนหน้า” อย่างได้ผลมาแล้ว