ยูร กมลเสรีรัตน์
ในเวลานั้นชื่อเสียงของ “ใบหนาด”กำลังพุ่งแรง นอกจากเขียนประจำให้กับนิตยสาร 2-3 ฉบับแล้ว เขายังเขียนรวมเล่มให้กับสำนักพิมพ์ด้วยได้แก่ สำนักพิมพ์ศยามที่มีก้อง อินทรกำจร เป็นที่ปรึกษา ดังที่เขาบอกเล่า...
“คุณก้อง อินทรกำจร นักเขียนเรื่องบู๊ล้างผลาญเคยรู้จักกันตั้งแต่ผมยังเด็ก ๆ เพราะบ้านอยู่ติดกันในซอยบัญญัติ เทเวศร์ เขาชวนเขียนเรื่องผีอีก 10 กว่าเล่ม”
แม้กระทั่งเรื่องผีเก่า ๆ ที่เคยพิมพ์แล้ว สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยาก็มาขอซื้อเกือบ 100 เรื่อง นำไปพิมพ์รวมเล่มได้ราว 5-6 เล่ม ในเวลาต่อมา โกวิท สีตลายันหรือ มังกร ห้าเล็บ คอลัมนิสต์ชื่อก้องในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ(ล่วงลับแล้ว) ก็มาขอให้เขียนเรื่องสั้นผี ๆ ให้
“ตอนนั้นคุณโกวิทออกนิตยสารระฆังทองและมาออกนะคะในภายหลัง แล้วราช เลอสรวง บรรณาธิการแปลก ก็มาขอให้เขียนเรื่องสั้นประจำอีก ช่วงไหนเขียนไม่ออก ทั้งสองคนนี้จะบอกว่า มีเรื่องผีของ“ใบหนาด”เกือบทุกเล่ม จะเอาลงแทนจนกว่าจะเขียนเรื่องใหม่ให้”
ช่วงนั้นนอกจากเป็นยุคทองของพ็อกเก็ตบุ้คแล้ว ยังถือว่าเป็นยุคทองของ “ใบหนาด”ด้วย แม้แต่เรื่องผีเก่า ๆ ยังขายได้ เป็นที่นิยมของคนอ่านมาก
“ใบหนาด” หยุดเขียนไปเกือบ 10 ปี ด้วยมีภารกิจด้านการเขียนในนามจริงและนามปากกาเรื่องผีของเขาเริ่มออกมาอาละวาดอีกครั้งในนิตยสารหลายฉบับด้วยกันได้แก่สกุลไทย เรื่อง“ผู้มาจากความหลัง” มติชนสุดสัปดาห์ เรื่อง “ผีเมือง” ดังที่เขาขยายความต่อว่า...
“นอกจากนี้ก็เขียนให้นิตยสารผู้หญิง 24,นะคะ,ผู้หญิงวันนี้และอีกหลายฉบับ โดยเฉพาะท็อปแฟชั่นลงเรื่องผีเป็นประจำราว 5-6 ปีแล้ว จนนำมารวมเล่มได้เกือบ 10 เล่ม”
หลังจากเรื่องผีของ“ใบหนาด”ลงตามนิตยสารต่าง ๆ ได้ประมาณ 7-8 เรื่อง ก็มีสำนักพิมพ์นำไปพิมพ์รวมเล่มไม่ขาดระยะ โดยวางตลาดสัปดาห์ละ 1 เล่ม
ณรงค์ จันทร์เรืองมีผลงานดังนี้คือ เรื่องสั้นกว่า 1,000 เรื่อง นวนิยายเกือบ 100 เรื่องและสารคดีกว่า 20 เรื่อง นอกจากชื่อ-สกุลจริงแล้ว เขาใช้นามปากกาหลากหลายตามประเภทของงานเขียน ได้แก่ใบหนาด,คริส สารคาม,เกลียว บางกอก,เลิศ ฤทธิรงค์,บุญเสมอ แดงสังวาลย์ ฯลฯ
สำหรับนามปากกาณรงค์ จันทร์เรือง ใช้เขียนทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายได้แก่ รวมเรื่องสั้น-โรงนา สลัมที่รัก สวะชีวิต ฤดูรักเพิ่งจะผลิ พบกันที่ฉิมพลี เสน่ห์สลัม เทพธิดาสลัม เกสรงิ้ว หื่นไห้ในอารมณ์ ปลิวฟ้ามายาใจ ไฟใต้เตียง,ฉิมพลี,ไฟฉิมพลี,ผู้ชายมีรู,จำหลักความใคร่ เป็นอาทิ นวนิยาย-กริชมหากาฬ เทพธิดาโรงแรม เทพบุตรสลัม วิมานสลัม จอมปฐพี เทพธิดาวารี บาปสุดเอื้อม,ธิดาคาเฟ่ เล่ม 1,ธิดาคาเฟ่ เล่ม 2 หุ้นสุดท้าย เด็กวัดทอง ฯลฯ
คริส สารคาม ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับนักเขียนและเรื่องตลกขบขันได้แก่ นักเขียนในอดีต 1-2 คึกฤทธิ์ ปราโมช สิบเศียรยี่สิบกร อรวรรณ อกสามศอก หัวร่อสิบทิศ หมึกสีทอง หัวร่อร้อยทิศ ฯลฯ
บุญเสมอ แดงสังวาลย์ ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมได้แก่ ตายแล้วมาทางนี้ สิ้นเวร บาปสุดท้าย กรรมบันดาล สิ้นเวร,กรรมกำหนด,กรรมบงการ,กรรมมีจริง,ใต้เงาบาปฯลฯ
ใบหนาด ใช้เขียนเรื่องผีและวิญญาณ มีมากกว่า 2 พันเรื่องได้แก่ นรกแตก ปรโลก เสียงเรียกในราตรี ผีผู้หญิง ราตรีสยองขวัญ เมืองมืด สนธยาอาถรรพ์,ภูติกาลี,แรงอาฆาต,เฮี้ยนสุดขีด,วิญญาณพิศวาส,ปีศาจเสน่หา,ชุมทางปีศาจ ฯลฯ
ผมเคยถามณรงค์ จันทร์ที่บ้านย่านราชวัตรว่าเขียนหนังสือเป็นอาชีพ ต้องทำงานหนักไหม เขาตอบด้วยสีหน้าปกติว่า “ไม่หนัก การเขียนหนังสือเป็นความสุขของชีวิต” ผมถามต่อว่า เป็นหน้าที่ใช่ไหม ก็ได้รับคำตอบสั้น ๆ ว่า
“ไม่ใช่หน้าที่ มันเป็นงานของเรา”
“พี่ณรงค์” มีงานเขียนประจำที่ต้องเขียนทุกวัน คอลัมน์ “ตายแล้วมาทางนี้” ใช้นามปากกาบุญเสมอ แดงสังวาลย์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด มีเงินเดือนในฐานะที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสดหลายหมื่น ต้องเข้าบริษัทมติชนวันเว้นวัน หากสำนักพิมพ์ต้องการงานเขียนไปพิมพ์รวมเล่ม ก็จะเจียดเวลาเขียนให้ ทั้งที่มีงานรัดตัว นี่คือมืออาชีพโดยแท้
ในยุคก่อนนักเขียนจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณกรรมรวมทั้งเพื่อเสวนาฮาเฮ ซึ่งถือว่าเป็นตำนานและเป็นประวัติศาสตร์ในวงวรรณกรรมได้แก่กลุ่ม พระจันทร์เสี้ยว กลุ่มศิลปะ-วรรณลักษณ์ ฯลฯ สำหรับณรงค์ จันทร์เรืองอยู่ในกลุ่ม “หนุ่มเหน้าสาว
สวย” นักเขียนร่วมสมัยได้แก่ สุวรรณี สุคนธา,สุจิตต์ วงษ์เทศ,เสถียร จันทิมาธร,’รงค์ วงษ์สวรรค์.เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นอาทิ นอกจากนี้ณรงค์ จันทร์เรืองยังเป็นหนึ่งในนักเขียนยุคแรกที่ก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ภายหลังเมื่ออายุมากขึ้น "ณรงค์ จันทร์เรือง" เพลาการเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายลงไปมาก อาจเขียนเรื่องสั้นบ้างตามคำเชิญ หากมุ่งเขียนงานสารคดีที่ขุดมาจากประสบการณ์ชีวิตที่คร่ำหวอดอยู่ในวงวรรณกรรมมายาวนานในคอลัมน์“มิตรน้ำหมึก”ในมติชนสุดสัปดาห์ ผลงานดังกล่าวก็คืองานเขียนชุดน้ำหมึก
มีทั้งหมด 4 เล่มคือมนตร์น้ำหมึก,เย็นน้ำหมึก,หอมน้ำหมึกและหลงน้ำหมึก อันเป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์แห่งวงวรรณกรรมไทยของนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์แต่ละคนมีความเป็นมาอย่างไร มีจุดเริ่มต้นและจุดบันดาลใจในการเขียนอย่างไรได้แก่กุหลาบ สายประดิษฐ์,อิศรา อมันตกุล,มาลัย ชูพินิจ,ยาขอบ,มนัส จรรยงค์,ก. สุรางคนางค์,ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช,ป. อินทรปาลิต,อาจินต์ ปัญจพรรค์ ,อุษณา เพลิงธรรม,สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นอาทิ
นอกจากนี้ยังมีงานเขียนสารคดีอีกหลายเรื่องได้แก่ หนุ่มเหน้าสาวสวย,ขั้นเทพวานเขียน,มหากาพย์เลือด,เรื่องเล่าวันวาร ตอนทศกัณฐ์ถอดหัว,หลากสีสันแห่งชีวิต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช,มังกรสวนพลู ฯลฯ สำหรับงานเขียนชุดสำคัญที่ฝากไว้แก่วงวรรณกรรมคือ ชุดปากกา มี 3 เล่มคือ ปากกาแก้ว,ปากกาเงินและปากกาทอง
ในช่วงท้ายของชีวิตราว 10 ปีให้หลัง “ใบหนาด”เขียนคอลัมน์ “ขนหัวลุก” ที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด บางครั้งงานยุ่งหรือเจ็บป่วยบ้าง กนกวรรณ จันทร์เรือง ที่ผมเรียกชื่อเล่นว่า “คุณจั่น” ผู้เป็นภรรยา ใช้นามปากกาว่า “วรรณจันทร์” มีผลงานสารคดีแปลสะเทือนขวัญหลายเล่ม เป็นคนเขียนแทน ดังที่เธอเล่าให้ฟัง
“จั่นต้องได้เขียนเรื่องผีแทนใบหนาดหลายครั้ง ราวแปดสิบเปอร์เซ็นต์จะเขียนแทน เพราะเขาเริ่มไม่สบายมากขึ้น ต้องกินยาและนอนพัก บางทีก็เบื่ออาหารด้วย แต่ทุกเรื่องเขาจะตรวจทานและเพิ่มสำนวนของเขาลงไป นอกจากนี้แล้วจั่นจะเป็นคนหาข้อมูลให้ ตรวจปรู้ฟให้สามสี่เที่ยว ก็ยังมีผิดอยู่ดี เราก็หัวเราะในความหลงๆ ลืม ๆ ของเรา เขาเป็นคนที่ทำงานละเอียดมากค่ะ ความจำดีมาก”
นี่คือเบื้องหลังคนที่เขียนแทน “ใบหนาด” ที่มีศัพท์เฉพาะว่า Ghost Writer หรือนักเขียนผี แล้วยังเขียนเรื่องผีด้วย เป็นการเปิดเผยความลับครั้งแรกที่นี่ เธอเล่าต่อว่า
“เขาชอบเรื่องผีที่จั่นเขียนทุกเรื่อง เป็นกำลังใจดีมาก ๆ เขาเป็นครูให้จั่นเลย จั่นเป็นคนไม่กลัวผี เขาบอกว่าคนเขียนเรื่องผีต้องกลัวผี ไม่งั้นคนอ่านจะไม่สนุก จั่นต้องนั่งปรับอารมณ์ให้ตัวเอง กลัวผี แล้วจึงลงมือเขียน เรื่องผีทั้งหมดได้ฟังมาจากคนใกล้ชิดทั้งนั้นค่ะ พี่เลี้ยงของลูกกับคนรับใช้คนชนบทมีเรื่องผีเรื่องแอบเยอะค่ะ ฟังแล้ว เราเอามาเขียนได้โดยไม่ต้องแต่งเติมเลย เขาเป็นคนรับผิดชอบสูง ช่วงปีใหม่ก่อนเสียชีวิตยังส่งต้นฉบับล่วงหน้าสองชิ้นคอลัมน์ “ศุกร์สำราญ” ให้มติชนฯ”
ตอนวัยหนุ่มณรงค์ จันทร์เรืองเคยป่วยหนัก จนเกือบไม่รอด แต่กลับรอดชีวิตมาได้ราวกับปฏิหาริย์ ทำให้เขามีโอกาสตักตวงประสบการณ์ชีวิตทุกรูปแบบอย่างเข้มข้นและสร้างงานเขียนไว้อย่างหลากหลาย ก่อนจะลาลับไปด้วยวัย 73 ปี
นับว่าเป็นชีวิตที่เกิดมาคุ้มค่าเหลือเกิน นั่นเพราะชะตาชีวิตได้กำหนดให้เขาเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทยที่ชื่อ ณรงค์ จันทร์เรือง
“เพราะแสวงหา มิใช่เพราะรอคอย เพราะเชี่ยวชาญมิใช่เพราะโอกาส เพราะสามารถ มิใช่เพราะโชคช่วย ดังนี้แล้ว ‘ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน’ (สามก๊ก)