ทวี สุรฤทธิกุล “ถ้าไม่มีกษัตริย์ ประเทศไทยคงไม่อยู่รอดมาได้” ในวันที่ 19กันยายน 2549 มีการทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในแถลงการณ์ฉบับแรกของ คปค. ได้ให้เหตุผลในการยึดอำนาจว่า “ด้วยเป็นที่ปรากฏโดยแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนสังคม จะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้ ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง แต่จะได้คืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข กลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ ซึ่งความสงบสุข และความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน” กรณีการยึดอำนาจในครั้งนั้นมีผู้ตั้งข้อสังเกตอยู่ 2 เรื่อง คือ หนึ่ง ทำไมคณะรัฐประหารชุดนี้จึงใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และสอง เหตุผลในการยึดอำนาจตามแถลงการณ์นั้นช่างน่ากลัวเหลือเกิน คณะรัฐประหาร “คิดมากไป” หรือไม่ ผู้เขียนได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งในฐานะของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่สนใจศึกษาในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง และในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองที่ได้เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ในช่วงวิกฤติการณ์ทางการเมืองเหล่านั้นมาอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญก็คือภายหลังการรัฐประหารในครั้งนั้น ผู้เขียนยัง “ถูกรับเชิญ” ให้ไปช่วยทำงานหลายๆ อย่างในองค์กรทั้งหลายของคณะรัฐประหาร ได้แก่ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ และคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงน่าจะนำเรื่อง “ลึกๆ” ของการทำรัฐประหารในครั้งนั้นมาเล่าสู่กันฟังบ้าง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ผู้เขียนขอตอบข้อสังเกตในข้อ2 ก่อน ที่ว่าคณะรัฐประหาร “คิดมาก” เกินไปหรือไม่ ซึ่งมีคำตอบให้ว่า “ไม่เกินไปเลย” ประการที่หนึ่ง สำหรับคนที่ติดตามความเป็นไปของบ้านเมืองในช่วงการปกครองของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ไม่ได้ใส่ พ.ต.ท. เพราะถูกทอดยศแล้ว) ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา คงจะได้เห็นถึง “ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย” ดังที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ของ คปค. จนถึงขั้นที่ “สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย” โดยข่าวสารในช่วงก่อนที่จะมีการทำรัฐประหารในวันที่ 19กันยายน 2549 นั้นแจ้งว่า “อาจจะมีการเอาประชาชนออกมาประทะกัน” ระหว่าง “คนที่รักทักษิณ” กับ “คนที่เกลียดทักษิณ” ซึ่งล้วนแต่เป็น “ประชาชนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทั้งนั้น ประการที่สอง การแบ่งแยกประชาชนโดยรัฐบาลยุคนั้นดำเนินการอย่างแยบยล ผ่านกระบวนการประชานิยมที่ทุ่มงบประมาณแผ่นดินอย่างมโหฬาร เพียงหวังจะกวาดต้อนผู้คนให้มาลงคะแนนแก่พรรคของตนอย่างไม่มีสิ้นสุด ทั้งยังได้ผลประโยชน์ให้กอบโกยอย่าง “อภิมหาอมตะโกง” ด้วย “เมกกะโปรเจ็คต์” หรือ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” เหล่านั้น สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศจนสุดประมาณ ที่ชั่วร้ายกว่านั้นก็คือ “หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง” ซึ่งก็คือสร้างความเสื่อมทรามในสังคมไทยด้วยการบั่นทอน “ความจงรักภักดี” ประการที่สาม คณะรัฐประหารน่าจะมี “ความเชื่อ” เช่นเดียวกันกับคนไทยจำนวนมากในยุคนั้น ที่ได้เห็นความชั่วร้ายของผู้นำและลิ่วล้อบริวารกลุ่มดังกล่าว ต่างก็มีความวิตกว่าหากปล่อยให้นักการเมืองกลุ่มนี้ปกครองดูแลประเทศไทยต่อไปก็จะนำมาซึ่ง “ความหายนะของทุกสถาบัน” เพราะนักการเมืองกลุ่มนี้ได้ขยายอำนาจครอบงำไปอยู่เหนือทุกสถาบัน ตั้งแต่สถาบันทางการเมืองที่ครอบงำรัฐบาลและรัฐสภา (รวมถึงครอบงำประชาชนให้เสพติดนโยบายประชานิยมนั้นด้วย) สถาบันทางเศรษฐกิจด้วยนโยบาย “ทักษิโณมิกส์” ที่รวมความมั่งคั่งไว้เฉพาะแต่ตนและพวกพ้อง และสถาบันทางสังคมที่ร่วมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ด้วย ดังได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยปรากฏการณ์ต่อมาที่รวมเรียกความชั่วร้ายทั้งหลายนี้ว่า “ระบอบทักษิณ” สำหรับข้อสังเกตที่ว่าทำไมคณะรัฐประหารจึงตั้งชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นเรื่องที่มี “เบื้องลึก-เบื้องหลัง” ค่อนข้างมาก ซึ่งมีรายละเอียดและผู้เกี่ยวข้องอยู่มาก รวมถึงยังมีเนื้อหาที่ต้องอธิบายในเชิงวิชาการให้กว้างขวาง จึงขอนำไปขยายความในสัปดาห์ต่อไป