ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

นวนิยายเรื่อง “เทพธิดาโรงแรม” อันเกิดจากประสบการณ์ในการเที่ยวเตร่มาอย่างสาหัสสากรรฉ์ ตีพิมพ์ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ซึ่งอาจินต์  ปัญจพรรค์ ผู้เขียนเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ ตอนแรกณรงค์ จันทร์เรืองคิดไว้ว่าจะเขียนซัก 12 บท แต่จบไม่ได้ ดังที่เขาบอกเล่าให้ฟังที่บ้านราชวัตร

“พอเราลงไปเรื่อย ๆ ผู้อ่านชักกล่าวขวัญหนักขึ้น มันจบไม่ได้ สมัยนั้นคนไม่ค่อยรู้เรื่องผู้หญิงขายบริการในโรงแรมหรอก ยังไม่แพร่หลาย มีทั้งคนด่าและคนชม ต้องขยายเรื่องไปเรื่อย ๆ จนถึง 31 บท ทีนี้แหละ ดังระเบิดเลย”

เรื่องราวแบบนี้สำหรับยุคนี้แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อกว่า 50 ปีก่อน เรื่องผู้หญิงขายตัวในโรงแรมเป็นเรื่องใหม่ การที่ณรงค์ จันทร์เรืองนำเรื่องราวของผู้หญิงขายตัวมาตีแผ่ให้เห็นได้อย่างมีเลือดเนื้อ ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีความสมจริง เพราะผู้เขียนมีประสบการณ์อันเข้มข้นอย่างผู้รู้จริง

นอกจากนี้ ณรงค์ จันทร์เรือง ยังมีความสามารถในการใช้ภาษาได้อย่างพริ้งพราย ทำให้เรื่อง “เทพธิดาโรงแรม” ซึ่งเป็นนวนิยายเชิงสังวาสหรือนวนิยายอีโรติก มีความละเมียดละไมทางอารมณ์ แม้จะมีบทโป๊บ้าง แต่อ่านแล้วไม่รู้สึกว่าโป๊และไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ  เพราะความสามารถในการประพันธ์ของผู้เขียน ซึ่งเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์  ดังที่เขาอรรถาธิบาย...

“เรื่องที่มีฉากโป๊ วิชาวรรณคดีเรียกว่าบทอัศจรรย์ ฝีมือถึง มันก็เป็นศิลปะ ฝีมือไม่ถึง มันก็หยาบ กลายเป็นเรื่องลามก ถ้าฝีมือไม่ถึงด้วย เจตนาไม่ดีด้วย มันก็เป็นเรื่องลามก เป็นหนังสือปกขาวไป”

นวนิยายเรื่อง “เทพธิดาโรงแรม” ดังระเบิด จนกระทั่ง หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม  ยุคล นำไปสร้างภาพยนตร์ นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี และแจ้งเกิดนางเอกใหม่-วิยะดา อุมารินทร์ ออกฉายเดือนมีนาคม 2517 เป็นที่กล่าวขวัญลือลั่นสนั่นเมือง ผู้คนหลั่งไหลกันไปยืนรอคิวซื้อตั๋วเข้าไปชมจนแน่นขนัด เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในเวลานั้น ในห้วงเวลานั้นชื่อของ ณรงค์ จันทร์เรือง พุ่งผงาดขึ้นมาในทันที เขาหอบเงินพาครอบครัวไปท่องยุโรปถึง 3 เดือน เงินก็ยังไม่หมด

จากเรื่องสั้น “จำนำชีวิต” ที่ได้ได้ลงนิตยสารขวัญจิต ซึ่ง ประเสริฐ พิจารณ์ โสภณ(เพชร ชมพู,ชาย บางกอก) เป็นบรรณาธิการ เป็นจุดเริ่มต้นของ ณรงค์ จันทร์เรือง ที่ได้ไปคลุกคลีกับบรรณาธิการขวัญจิตและนักเขียน เขารำลึกถึงความหลังช่วงนี้ให้ฟังว่า...

“ผมแวะไปที่สำนักงานขวัญจิตบ่อย ๆ จนสนิทสนมกัน สามารถเรียก “พี่เสริฐ”ได้อย่างเต็มปาก”เขาเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ “ผมจะเลือกเวลาไปเยี่ยมในตอนเย็นที่กำลังจะเลิกงาน เพราะเป็นเวลาที่สะดวกในการไป “ก๊ง”ด้วยกัน”

วันหนึ่งณรงค์ จันทร์เรืองไปที่สำนักงานขวัญจิต  ประเสริฐ  พิจารณ์โสภณ เอ่ยขึ้นว่า ตอนนี้คนตรวจปรู้ฟลาออก ชวนให้มาทำงานด้วยกัน จะให้เงินเดือน ๆ ละ 600 บาท(กว่า 50 ปีก่อน)  เวลาที่เหลือก็นั่งเขียนเรื่อง หาลำไพ่ได้ตามสบาย นักเขียนหนุ่มฟ้อหูผึ่งทันทีเมื่อได้ยิน

จุดกำเนิดของนามปากกา “ใบหนาด” เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อไปทำงานที่ขวัญจิต เรื่องมีอยู่ว่าคอลัมน์“ขวัญหาย” ซึ่งชัย  วิชิต(วิชิต  เพ็ญมณี) เขียนเรื่องภูติผีปีศาจเป็นประจำทุกสัปดาห์และเป็นคอลัมน์ที่ได้รับความนิยมมาก แต่ชัย  วิชิตงานยุ่งมาก จึงไม่สามารถเขียนต่อได้อีกแล้ว ให้หาคนอื่นเขียนแทน  ประเสริฐ  พิจารณ์โสภณจึงประกาศลงขวัญจิต ให้ผู้อ่านส่งเรื่องจากประสบการณ์เกี่ยวกับผีสางมาลงคอลัมน์ “ขวัญหาย” ถ้าเรื่องผ่านการพิจารณา จะให้ค่าตอบแทน 100 บาท หลังจากประกาศลง ปรากฏว่า...

“ มีเรื่องส่งเข้ามาสำนักงานขวัญจิตมากมายก่ายกอง ผมได้รับมอบหมายให้เป็นคนคัดเรื่องอีกหน้าที่หนึ่ง แต่เรื่องที่ส่งมาให้พิจารณาได้ลงตะกร้าเป็นส่วนใหญ่ เพราะอ่านแล้วไม่ชวนขวัญหายสมกับชื่อคอลัมน์ วันหนึ่งถึงเส้นตาย ไม่มีเรื่องผีจะลงพิมพ์ในคอลัมน์ “พี่เสริฐ” รู้ว่าผมเคยเขียนเรื่องยาวให้เพลินจิตต์มาแล้ว เรื่อง “วิญญาณพิศวาส” จึงให้ผมเขียนขัดตาทัพไปก่อน เพราะว่าช่างเรียงพิมพ์รออยู่  

ผมกลับมานั่งที่โต๊ะ แล้วลงมือบรรเลงเรื่อง“วิญญาณห่วง” ในทันที ใช้ฉากบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดอยุธยา พอ “พี่เสริฐ” ได้อ่าน ก็บอกว่าได้การ ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งนามปากกา พี่เสริฐ ก็เลยตั้งนามปากกาให้ว่า “ใบหนาด” เพราะคนไทยมีความเชื่อว่า ผีกลัวใบหนาด “พี่เสริฐ” ชมว่าเรื่องแปลกดี ทั้งเรื่องไม่เห็นผี แต่ทำให้น่ากลัว”

ณรงค์  จันทร์เรือง ซึ่งสวมบท “ใบหนาด” เล่าถึงเบื้องหลังของเรื่อง “วิญญาณห่วง” ว่า เอามาจากเรื่องจริง ครั้งไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่บ้านกุ่ม จังหวัดอยุธยาตั้งไม่รู้กี่รอบ วันหนึ่งไปเห็นผู้หญิงในเรือนแพเป็นไข้ทับระดูตาย ก็เลยเอามาผูกเป็นเรื่องราวและใส่จินตนาการเข้าไป  “พี่ณรงค์”บรรยายฉากในเรื่อง “วิญญาณห่วง” ให้พวกเราที่นั่งรอบโต๊ะเมรัยฟังอย่างได้อารมณ์ ด้วยใบหน้าอิ่มสุขว่า...

“ผมบรรยายฉากใส่เข้าไป ให้เป็นเวลาโพล้เพล้ มีเสียงลมพัด ผสมผสานกับเสียงคลื่นเซาะฝั่ง แพของชาวบ้านจะเป็นแพลูกบวบ ตอนระลอกคลื่นซัดมา เสียงกราบเรือ กระทบแพลูกบวบดังบึบบับ ๆ ยิ่งทำให้บรรยากาศเยือกเย็น เพิ่มความวังเวงเข้าไปอีก”

ตั้งแต่นั้นมา“ใบหนาด” ก็ผูกขาดคอลัมน์ “ขวัญหาย”เพียงคนเดียวนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2508 เป็นต้นมา บรรเลงเรื่องราวของผีสางให้ผู้อ่านขนหัวลุกอย่างสนุกมือ

หลังจากนิตยสารขวัญจิตเลิกกิจการ ประเสริฐ  พิจารณ์โสภณ ไปเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นของ สุพล  เตชะธาดา หรือ “เฮียชิว” ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทและร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ด้วยกัน ณรงค์ จันทร์เรืองก็ยังแวะเวียนไปหา

“ผมไปขายรวมเรื่องสั้นให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น แล้วผมยังช่วย “พี่เสริฐ” ทำรวมเรื่องสั้นของนักเขียนหลายเล่มด้วยกัน วันหนึ่งเฮียชิวบอกว่า ตอนนี้ตลาดเรื่องผีกำลังไปได้ดี อยากให้ผมเขียนเรื่องผีใหม่เอี่ยมรวมเล่ม ผมก็บรรเลงเลย  เฮียชิวตั้งชื่อเล่มให้เสร็จสรรพว่า “ผีผู้หญิง” มีทั้งผีนางตานี,ผีนางตะเคียน,ผีกระสือ,ผีตายทั้งกลม ฯลฯ  คุณพนม   สุวรรณบุณย์เป็นคนเขียนปกให้”

ผมยังจำได้แม่นว่า เรื่องราวตรงนี้ “พี่ณรงค์” เล่าด้วยสีหน้าเบิกบานมาก ปรากฏว่า “ผีผู้หญิง” รวมเรื่องผีเล่มแรกของ “ใบหนาด” วางตลาดเมื่อปีพ.ศ. 2510  ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า นับแต่นั้นมา “ใบหนาด” ก็ปล่อยภูตผีปีศาจออกมาอาละวาดตลาดหนังสืออีกเป็นเวลายาวนาน ตราบวาระสุดท้ายของชีวิต

รวมเรื่องผีเล่มแรกในนามปากกา “ใบหนาด” ขายดี สมกับประโยคที่พูดกันในวงการหนังสือว่า “เรื่องผีไม่มีเคยตาย” ที่ว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่าก็คือ เห็นผลภายในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์เท่านั้น  เจ้าสำนักประพันธ์สาส์นจึงจัดฉลองใหญ่กว่าปกติที่เคยฉลองทุกเย็น แล้วลั่นคำพูดออกมาว่า

“เล่มต่อไปเอาเรื่อง ‘ผีดุ’"

ในขณะนั้น“พี่ณรงค์”อายุราว ๆ   25 ปี กำลังหนุ่มแน่น ความคิดแล่นฉับไว  ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ขณะที่เล่า...

“จะไปยากอะไร ชื่อ “ผีดุ”มันกว้าง ครอบคลุมไปหมด เขียนง่ายยิ่งกว่า “ผีผู้หญิง” เคยไปเที่ยวเหนือจดอีสาน ฟังชาวบ้านเล่าเรื่องผีมาเยอะ ยิ่งเฮียชิวบอกว่าคราวก่อนจ่ายล่วงหน้าครึ่งหนึ่ง แต่คราวนี้อนุมัติให้เบิกล่วงหน้าได้เต็มจำนวน ไฟชาร์ตปรู๊ดปร๊าดในทันที”

หนังสือชุด “ผีดุ” พุ่งฉิวปลิวลมไม่แพ้ “ผีผู้หญิง” ทำให้เรื่องผีของ “ใบหนาด” ทยอยพิมพ์ตามมาอีกร่วม 20 เล่มในนามสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นและจากการไปสังสันทน์กันเป็นประจำในตอนเย็นจะ ทำให้ ณรงค์  จันทร์เรือง ได้รู้จักกับเจ้าของร้านทำปก แต่ไม่เคยพิมพ์หนังสือมาก่อนขอให้เเขียนเรื่องผีให้ชื่อชุดว่า “ผีหลอก” เขาจึงบรรเลงปากกาโดยไม่รอช้า          

“ชุด “ผีหลอก” ผมใช้เวลา 10 กว่าวัน เขียนเรื่องผี 10  กว่าเรื่อง เป็นหนังสือรวมล่มเรื่องผีปกแข็งเล่มแรก วางแผงไม่ถึงเดือน ขายหมดเกลี้ยง”

เขาได้ค่าเรื่องชุด “ผีหลอก” ถึง 5,000 บาท  นอกจากนี้เจ้าของร้านทำปกยังให้เพิ่มเป็นพิเศษอีก 1,000 พันและขอให้ “ใบหนาด” เขียนเรื่องผีให้อีก  เพื่อจะพิมพ์รวมเล่ม “ผีหลอก” ฉบับปกแข็งเล่ม 2 ถ้าเล่มนี้ขายดีเหมือนเล่มแรก เจ้าของร้านทำปกบอกว่า จะเพิ่มค่าเรื่องให้อีก 2 พัน น้ำเสียงที่เล่าแผ่วลงเมื่อเขาพูดขึ้นว่า

“ แต่คราวนี้ผิดคาด เล่มหลังขายไม่ออก หนังสือเหลือบาน  เพราะโรงเรียนเปิดเทอมแรก ทำให้ตลาดหนังสืออ่านเล่นซบเซา”

 

 

“ความทรงจำคือ สมุดบันทึกที่เราพกพามันไปตลอดเวลา” (ออสการ์  ไวลด์)