ชัชวาลล์ คงอุดม เรียน ท่านบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ คอลัมน์ คุณชัช เตาปูน ตอบจดหมาย วันก่อนได้อ่านข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ลงเกี่ยวกับสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยถึงผลสำรวจประชาชนในกรณีกฎหมายเมาแล้วขับ โดยระบุว่า ได้ไปสอบถามประชาชนกลุ่มตัวอย่างพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.4 ตอบว่า การดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดรองลงมาเป็นการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถร้อยละ 59.1 อันดับ 3 ออกจากซอยโดยไม่หยุดรถ ร้อยละ 53.5 อันดับ 4 ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 46.2 และอันดับ 5 ไม่ให้สัญญาณไฟเมื่อเปลี่ยนช่องจราจรร้อยละ 43.4 ทั้ง 5 ข้อนี้เห็นด้วยอย่างยิ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นชนวนและบ่อเกิดของการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น และแก้ไขอย่างไรก็แก้ไขยังไม่ได้เสียด้วย มันกลายเป็นนิสัยและพฤติกรรมติดตัวคนไทยเราไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะวัยรุ่นหนุ่มสาวขับขี่ หรือผู้ใหญ่วัยกลางคน ยกเว้นคนแก่สูงอายุอาจจะขับเชื่องช้า เพราะสายตาไม่ดี ก็เป็นปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง น่าเสียดายโพลไม่ได้ระบุเสียด้วยในที่นี้หมายความรวมถึงเมา เพราะเสพยาบ้า ยาม้า หรือยาอีด้วยหรือเปล่า หรือเฉพาะเมาสุราเท่านั้น เพราะรถสิบล้อ รถทัวร์ส่วนใหญ่ขับรถหามรุ่งหามค่ำ ย่อมจะมีไม่น้อยที่เสพยาม้าเพื่อทำให้ตัวเองอึดหรือยืนหยัดกับการขับรถในระยะทางยาวได้ เมื่อถามต่อไปว่า เห็นด้วยหรือไม่กับโพลที่ไปสำรวจมาว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 79.9 เสนอให้รัฐบาลคงมาตรการ "เมาขับจับยึดรถ" ต่อเนื่องตลอดทั้งปี หรือกระทั่งร้อยละ 86.7 ที่เสนอให้แพทย์สามารถตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้โดยไม่ต้องมีคำร้องขอจากตำรวจ ตลอดจนรวมไปถึงผลสำรวจที่ระบุว่าร้อยละ 89 เสนอให้เพิ่มโทษคนดื่มแล้วขับเทียบเท่ากฎหมายความผิดในคดียาเสพติดให้โทษ ทั้งสามข้อนี้เห็นด้วยอย่างยิ่งทุกประการ เป็นเรื่องที่พูดกันมานมนานแล้ว แต่ละรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้นำเอามาใช้กันไม่รู้ไปติดขัดปัญหาในข้อกฎหมายหรือในทางปฏิบัติกันอย่างไรไม่ทราบ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี และเป็นการป้องปราม ที่ได้ผลตัดไฟเสียแต่ต้นลม ถ้ากฎหมายหรือกฎกติกาเฮี้ยบ รับรองผู้ขับขี่รถทุกคนย่อมต้องกลัวเกรง และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างแน่นอน น่าเสียดาย ที่โพลไม่ได้สำรวจขยายวงกว้างขึ้นไปอีก ไหนๆจะผลักดันเรื่องความปลอดภัยทางถนนและการขับขี่รถยนต์กันแล้วมันน่าจะทำให้ครบวงจร มีการบรรจุเป็นกฎหมายให้มีการตรวจสุขภาพและประเมินวัดสุขภาพของผู้ขับขี่ว่า มีโรคประจำตัวที่มีโอกาสเสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ เพราะบางโรค เช่น เส้นเลือดสมองแตก หรือหัวใจวายฉับพลัน หรือโรคทางสมอง รวมไปถึงโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้ หรือเสี่ยงต่อการควบคุมการขับขี่ยวดยานพาหนะไม่ได้ กระทรวงคมนาคมก็ไม่ควรจะให้บุคคลเหล่านี้ขับขี่รถ หรือไม่ควรออกใบอนุญาตขับขี่ให้ มิฉะนั้นหากเกิดเหตุฉับพลันอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ใช้รถใช้ถนน ก็อาจจะมีความเสี่ยงรับอันตรายหรือบาดเจ็บล้มตายขึ้นได้ รวมไปถึงผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 70 ปี หรือ 80 ปีขึ้นไป กระทรวงคมนาคมก็ควรจะกำหนดห้ามให้ขับขี่รถยนต์หรือยวดยานพาหนะได้แล้วไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ก็ดี หรือรถยนต์ก็ตามที ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุได้สูง ทางการควรจะกำหนดห้ามขับขี่เสียที เราคงจะไปเทียบกับประเทศเมืองนอกไม่ได้ เพราะรถราไม่ได้มากมายเหมือนเช่นเมืองไทยเรา ซึ่งเมืองนอกมีรถไม่เยอะ ผู้สูงอายุยังสามารถขับขี่ได้อย่างสบาย เพราะฉะนั้นอยากฝากไปถึงรัฐบาล และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหากจะมีการแก้ไขกฎหมายจราจร หรือวางมาตรการป้องกันในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนกันอย่างจริงจังแล้ว ก็ควรจะมีการทำให้ครบวงจรกันไปเสียเลย ควรจะจัดระเบียบผู้ใช้รถใช้ถนนกันเสียที ทั้งคนข้ามถนนก็ดี ควรจะข้ามทางม้าลายหรือสะพานลอยที่ให้คนข้าม ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราปล่อยปละละเลยกับเรื่องนี้มาตลอด จนทำให้คนไทยเรามีนิสัยชินและคุ้นเคยกับการข้ามถนนอย่างสะเปะสะปะ ไม่ได้สนใจว่าจะเกิดอันตรายกันหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ รถจักรยานยนต์ประเภทมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นที่นิยมของประชาชนใช้บริการ ด้วยความแคล่วคล่องและสะดวกในการเดินทางท่ามกลางรถติดในเมืองหลวง เวลานี้หลายต่อหลายครั้งขับขึ้นฟุตปาธทางเท้าบ้าง หรือขับสวนเลนบ้าง ขับฝ่าไฟแดงบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เสี่ยงมากๆ ทีเดียวกับการเกิดอุบัติเหตุ ควรจะมีการจัดระเบียบและเอาจริงเอาจังกับตรงจุดนี้เสียที เพราะเดี๋ยวนี้พฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็นติดเป็นนิสัยของคนไทยที่ขับขี่รถจักรยานยนต์กันไปเสียแล้ว หากไม่รีบเร่งแก้ไข มันก็จะเพาะนิสัยให้พวกที่ขี่รถจักรยานยนต์มีพฤติกรรมเช่นนี้กันเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองไปมากกว่านี้ คงจะขออนุญาตฝากเอาถึงผู้ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย ขอบพระคุณอย่างสูง จากผู้ใช้รถใช้ถนน กทม. เรียน ผู้ใช้นามปากกา "ผู้ใช้รถใช้ถนน กทม." ขออนุญาตตอบจดหมายของคุณแทนนะครับ เวลานี้ก็เห็นหลายฝ่ายได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.ได้ผ่านแผนปฏิรูปความปลอดภัยทางถนน ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุภายใน 5 ปี ซึ่งมีการเพิ่มโทษความผิดทางกฎหมายจราจรเพิ่มขึ้นหนักทีเดียว รวมถึงมีการเสนอให้ออกมาตรการต่างๆ ในการสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยทางถนนอย่างเข้มข้นทีเดียว ซึ่งก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะนำเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม. เพื่อเร่งผลักดันใช้เป็นกฎหมายเมื่อไหร่ สำหรับแนวทางที่คุณเสนอมาคงขออนุญาตผ่านต่อไปให้หน่วยงานรัฐที่ดูแลรับผิดชอบเป็นผู้พิจารณาแล้วกันนะครับ ด้วยรักและนับถือ เจริญชัย อุดมพาณิชวงศ์ "เวลานี้ก็เห็นหลายฝ่ายได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมากไม่ว่าจะเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.ได้ผ่านแผนปฏิรูปความปลอดภัยทางถนน ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุภายใน 5 ปี ซึ่งมีการเพิ่มโทษความผิดทางกฎหมายจราจรเพิ่มขึ้นหนักทีเดียว รวมถึงมีการเสนอให้ออกมาตรการต่างๆในการสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยทางถนนอย่างเข้มข้นทีเดียว"--จบ--