รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การจัดการพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ของห้องสมุดในต่างประเทศเกิดขึ้นช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ ทวีปอเมริกาเหนือ และเรียกพื้นที่การเรียนรู้ใหม่นี้ว่า “Information commons” หรือ “Learning commons” พื้นที่การเรียนรู้ แบบใหม่นี้ ห้องสมุดจะจัดให้มีบริการสิ่งอำนวยความสะดวก และสื่อการสอนหลากหลายประเภทไว้ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน

บีเกิล (Beagle 2006) อธิบายว่า “Information commons” เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2530-2531 (1987-1988) ที่วิทยาลัยชุมชนแจ็คสัน (Jackson Community College) เมืองแจ็คสัน มลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ลักษณะของ “Information commons" จะเป็นกลุ่มของพื้นที่หรือคลัสเตอร์เครือข่ายที่เชื่อมโยงเครื่องมือไอที พื้นที่เชิงกายภาพ พื้นที่ดิจิทัลคน และสังคมเข้าไว้ด้วยกัน เป็นพื้นที่การเรียนรู้มิติใหม่ที่ผสมผสานระหว่างสภาพแวดล้อมเชิงกายภาพ (Physical environment) และสภาพแวดล้อมเสมือน (Virtual environment) เอาไว้ในจุดเดียวกันเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้

จากความหมายของ“Information commons” สามารถสรุปได้ว่า “Learning commons” กับ “Information commons” มีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการเป็นพื้นที่สนับสนุนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน แต่มีจุดที่แตกต่างกันคือ “Learning commons” เป็นพัฒนาการในขั้นถัดมาของ “Information commons” ที่ต้องการขานรับกระบวนทัศน์ใหม่ของการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้แบบการถ่ายทอดความรู้ (Transmission of knowledge) ไปสู่การสร้างความรู้ (Creation of knowledge) และการเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self-direction in learning) ซึ่งแนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในหมู่ของนักการศึกษา นักวิจัย และบรรณารักษ์

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ห้องสมุดต้องปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ มี 3 ประการ คือ

ประการแรก ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ข้อมูลดิจิทัลและเครือข่ายเพิ่มขึ้นมากมาย และเกิดความหลากหลายของสื่อสารสนเทศ นำไปสู่การเกิดขึ้นของพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่สามารถรองรับทรัพยากรการเรียนรู้หรือสื่อการเรียนรู้ได้ทุกประเภทอย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สอง การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักศึกษาที่เป็น “Net Generation”  หรือ “Digital natives” ซึ่งเป็นเจเนอเรชัน ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ชอบใช้เวลาทั้งชีวิตรายล้อมไปด้วยคอมพิวเตอร์ วิดีโอเกม โทรศัพท์มือถือ ตลอดจนของเล่นและเครื่องมืออื่น ๆ ในยุคดิจิทัล กลุ่มคนเจเนอเรชันนี้มีสไตล์การเรียนรู้ที่เป็นลักษณะเฉพาะ ชอบการสื่อสารด้วยภาพ เรียนรู้ได้ดีผ่าน การค้นพบ (Discovery) มากกว่าการสอน ชอบใช้เทคโนโลยีคุณภาพสูง และชอบมีพื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกัน

ประการที่สาม การเกิดขึ้นของทฤษฎีการศึกษาคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist education theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่เน้นการสอนให้เด็กเรียนรู้เอง คิดเอง เด็กและครูจะเกิดการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความต้องการใช้พื้นที่การเรียนรู้สำหรับการศึกษาแบบกลุ่มและโครงงานแบบทีม กระบวนทัศน์วิธีการสอนแบบดั้งเดิมที่อาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษาเปลี่ยนไปสู่วิธีการเรียนรู้แบบใหม่ เช่น การเรียนรู้เชิงรุก การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จอห์น ซีลี บราวน์ (John Seely Brown 2000) ก็ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเอาไว้ว่า “ทุกการเรียนรู้เริ่มต้นจากการพูดคุยสนทนากัน” (All learning starts with conversation) การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม การเรียนรู้เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกรอบคิดทางสังคม (Social framework) ความรู้เป็นผลของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social interaction) และความรู้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากสังคม (Social construct) ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎี Social Constructivism ของเลฟ ไวก็อตสกี (Lev Vygotsky)

เมื่อกระบวนทัศน์การเรียนรู้เปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยก็ต้องปรับกระบวนการเรียนการสอนใหม่ พร้อมกับจัดเตรียมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่ให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสมุดมหาวิทยาลัยถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่การเรียนรู้นอกกำแพงห้องเรียน และเป็นแหล่งสารสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่และ การบริการใหม่ ซึ่ง ริซโซ ( Rizzo 2002) เสนอว่าการจัดสภาพแวดล้อมพื้นที่การเรียนรู้ของห้องสมุดมหาวิทยาลัย อาจแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1) พื้นที่ส่วนกลางที่สร้างความกระตือรือร้นและความมีส่วนร่วมสูง (Highly active and engaging communal places) 2) พื้นที่ทำงานร่วมกันเชิงโต้ตอบสำหรับการวิจัยรายบุคคลและการทำงานกลุ่ม (Interactive collaborative places for individual research and group work) 3) พื้นที่สงบ (Quieter less active places) เช่น โซนอ่าน โซนเรียนรู้ด้วยตนเอง และ 4) พื้นที่แห่ง การคิดใคร่ครวญเพื่อความสงบทางใจและความคิดอันลึกซึ้ง (Out of the way contemplative places for quiet reflection and deep thought)

ความสำเร็จของห้องสมุดมหาวิทยาลัยในวันนี้ นอกจากจะต้องสร้างสมดุลระหว่างพื้นที่การเรียนรู้ให้ตรงกับ ความต้องการของผู้ใช้บริการแล้ว ความสำเร็จที่แท้จริงนั้นจะต้องมุ่งสร้างสมดุลแบบไดนามิกที่เกินความคาดหมาย พื้นที่ การเรียนรู้ต้องปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการใช้ในแต่ละช่วงเวลาหรือสถานการณ์ ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ พื้นที่พบปะ และพื้นที่แสดงออก