เสือตัวที่ 6

การต่อสู้ของรัฐกับขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐ มีพัฒนาการไปอย่างต่อเนื่องตามลำดับ มีการชิงไหวชิงพริบกันไปมาอย่างเข้มข้น อาทิ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมาแล้วนานกว่า 18 ปี จนกระทั่งล่าสุด รัฐบาลต่ออายุขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ชายแดนใต้อีกครั้งต่อไปอีก 3 เดือน หากแต่ทว่าก็มีการประกาศยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในพื้นที่ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกพัฒนาการหนึ่งในการขับเคลื่อนการต่อสู้ของรัฐกับขบวนการแบ่งแยกการปกครองที่มีกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Patani Malayu National Revolutionary Front : BRN) เป็นตัวการหลักในการต่อสู้กับรัฐในขณะนี้ ที่รัฐพยายามทุกวิถีทางในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับขบวนการร้ายแห่งนี้มากว่า 20 ปี จนกระทั่งรัฐสามารถบีบบังคับให้ขบวนการ BRN จำต้องกลับมาสู่การต่อสู้ทางความคิดที่เข้มข้นมากกว่าการใช้ความรุนแรงเฉกเช่นที่ผ่านมาได้อย่างเป็นรูปธรรม หากแต่การต่อสู้ของขบวนการ BRN ยังไม่ยอมจำนนอย่างสิ้นเชิง คนกลุ่มนี้ยังคงขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมือง ผ่านการส่งผ่านแนวคิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐอยู่ต่อไปอย่างเข้มข้นเช่นกัน

เป็นปรากฏการณ์ในขณะนี้ที่กำลังมุ่งเน้นการต่อสู้ทางความคิดกับรัฐ หล่อหลอมกล่อมเกลา บ่มเพาะแนวคิดแปลกแยกแตกต่างจากรัฐอย่างเข้มข้นเป็นระบบ จนกระทั่งเกิดความเกลียดชังรัฐและคนกลุ่มอื่นในพื้นที่ของรัฐอย่างสุดโต่งและพร้อมที่จะร่วมมือกับขบวนการ BRN เข้าต่อสู้กับรัฐในทุกวิถีทาง ทุกเวทีการต่อสู้ที่มีโอกาส การขยายแนวคิดแปลกแยกแตกต่างจากรัฐจึงเป็นพัฒนาการหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐในห้วงเวลานี้ที่ฝ่ายความมั่นคงอาจมองไม่ทะลุปรุโปร่ง ในขณะที่รัฐเองก็พัฒนาการการต่อสู้กับรัฐอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากการดำเนินการต่อสู้ของรัฐต่อกลุ่ม BRN อย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีเช่นกัน ทำให้สถานการณ์การต่อสู้ในพื้นที่แห่งนี้ถูกตรึงไว้ในจุดที่รัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ โดยเฉพาะการนำความสงบมาสู่พื้นที่ได้เกือบทั้งหมด และการแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐของขบวนการนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งสามารถบีบบังคับให้ขบวนการ BRN ต้องต่อสู้ทางความคิดกับรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ทว่าการต่อสู้ทางความคิดของขบวนการแห่งนี้นั้น มีการพัฒนาการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องจริงจังมากกว่าฝ่ายความมั่นคงของรัฐอย่างเห็นได้ชัด อาทิ กล่าวอ้างจากแกนนำและแนวร่วมขบวนการ BRN ที่แทรกปนอยู่ในภาคส่วนต่างๆ ในสังคมตั้งแต่ระดับพื้นที่ ภูมิภาค จนถึงระดับชาติ ที่มีการส่งสารว่าแม้มีการปลดพื้นที่ที่ประกาศใช้การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แต่รัฐก็ยังมีกฎหมายตัวอื่นมาบังคับใช้แทน ในขณะที่รัฐก็ต่อสู้กับชุดความคิดนี้ว่า รัฐจำเป็นต้องมีเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการสถานการณ์ในพื้นที่พิเศษแห่งนี้อยู่ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะพื้นที่แห่งนี้ยังมีกลุ่มขบวนการขบวนการแบ่งแยกดินแดนเคลื่อนไหวอย่างลับๆ อย่างต่อเนื่อง แม้จะลดการใช้อาวุธไปเป็นการต่อสู้ทางความคิด แต่ก็เป็นกลยุทธ์การต่อสู้กับรัฐที่แหลมคมยิ่ง

นอกจากนั้นการต่อสู้ทางความคิดของขบวนการหรือแนวร่วม ที่นำเสนอแนวคิดให้ยุบเลิกหน่วยงานพิเศษที่รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้โดยเฉพาะ กอ.รมน. และ ศอ.บต. โดยอ้างว่ารัฐได้มีการประกาศต่อเนื่องมานานเกือบ 2 ทศวรรษ แต่ก็ยังแก้ปัญหาความมั่นคงและความเห็นต่างในพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ฝ่ายแนวร่วมขบวนการแห่งนี้ จึงนำเสนอแนวคิดยุบเลิกหน่วยงานความมั่นคงทั้งสองลง หากแต่ฝ่ายรัฐก็ต่อสู้ทางความคิดนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งเห็นต่างจนถึงขั้นการใช้อาวุธเข้าต่อสู้กับรัฐจนลดลงอย่างเห็นชัดนั้น ล้วนมีพัฒนาการของการแก้ปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนโดยหน่วยงานความมั่นคงทั้งสองดังกล่าว ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการต่อสู้กับกลุ่มขบวนการ BRN จนบีบบังคับให้ BRN จำต้องปรับกลยุทธ์การต่อสู้ด้วยอาวุธและความรุนแรงกับรัฐ แล้วมุ่งเน้นไปที่การต่อสู้ทางการเมือง การปลุกระดมมวลชนด้วยการบ่มเพาะความเห็นต่างจากรัฐให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างจริงจังเข้มข้นจนทำให้ขบวนการ BRN และแนวร่วม จำต้องลดการใช้อาวุธและเดินตามแนวทางการต่อสู้ทางความคิดตามแนวทางสันติวิธีอย่างที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้ พัฒนาการการต่อสู้ของขบวนการร้ายแห่งนี้กับรัฐ จึงจำต้องใช้เงื่อนไขอื่นๆ ในการต่อสู้ทางความคิดเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง นั่นคือการเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐ โดยใช้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล ชาติพันธุ์ของคนในพื้นที่ที่เป็นของตนเอง ตลอดจนสิทธิของคนในพื้นที่ที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ RSD (Right to Self-determination) ซึ่งก็ยังอยู่ในความควบคุมการต่อสู้ในแนวใหม่ของ BRN ให้อยู่ในระดับที่ยังไม่กระทบต่อความมั่นคงมากนัก

การเอาชนะเงื่อนไขการต่อรองของตัวแทน BRN ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทางการต่อสู้ทางความคิดอย่างเท่าทันจึงเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องตระหนักและแสวงหาชุดความคิดที่แหลมคมจนสามารถต่อกรกับชุดความคิดของฝ่าย BRN ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การต่อสู้ทางความคิดผ่านเวทีการพูดคุยสันติสุข เป็นอีกเวทีหนึ่งที่จะรักษาเอกภาพ และบูรณภาพแห่งอาณาเขตของรัฐได้อย่างสมบูรณ์ การต่อสู้ทางความคิดของกลุ่ม BRN มีการพัฒนาการมาอย่างเป็นระบบ พวกเขารู้ว่าจะอาศัยเงื่อนไขใด และผ่านเวทีไหน ส่งผ่านไปในห้วงเวลาใด เพื่อเอาชนะชุดความคิดของรัฐได้ ที่ผ่านมาจบจนวันนี้ จึงพิสูจน์ให้เห็นว่า การต่อสู้กับขบวนการ BRN นั้น รัฐต้องให้น้ำหนักไปที่การต่อสู้ทางความคิดกับขบวนการแห่งนี้ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม