ยูร    กมลเสรีรัตน์

[email protected]

“ผมเขียนเรื่องลงครั้งแรกที่กรุงเทพเดลิเมล์ของนายหลุย คีรีวัต”ชายอาวุโสวัย 91 ปี เอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงชัดเจน แม้จะแหบเครือตามวัย “พอถึงอายุราชการทหารไปสมัครเป็นศิษย์การบิน ใช้เวลาเรียน 2 ปี  ตอนเป็นศิษย์การบินก็เขียนนวนิยายเรื่อง ‘สายแดง’ เป็นเรื่องแรกไปลงเดลิเมล์รายวัน หม่อมหลวงฉอ้าน  อิศรศักดิ์เป็นบรรณาธิการ เขียนอยู่ 5-6  เดือนก็จบ สำนักพิมพ์เพลินจิตต์เอาไปพิมพ์เป็นเรื่องแรกของสำนักพิมพ์”

ส.  บุญเสนอ มีชื่อจริงว่า เสาว์ บุญเสนอ เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2452 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นนักเขียนรุ่นเดียวกับไม้   เมืองเดิม  มนัส  จรรยงค์  มาลัย  ชูพินิจ(แม่อนงค์)  ยาขอบ ฯลฯ และยังเป็นเพื่อนสนิทกับนักแต่งเพลงชั้นครูคือ พรานบูรพ์(จงจันทน์   จันทร์คณา ผู้แต่งเพลงขวัญเรียม  บ้านใกล้เรือนเคียง ฯลฯ บิดาของจงรัก   จันทร์คณา ผู้แต่งเพลง จงรัก)  

หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 จากวัดเบญจมบพิตร ได้เข้าทำงานเป็นคนส่งฟืนหัวรถจักรของกรมรถไฟหลวงเป็นเวลา 1 ปี  เมื่ออายุครบเกณฑ์ทหาร เพื่อนชวนไปเป็นศิษย์การบินของกองโรงเรียนการบิน กรมอากาศยานทหารบกที่ดอนเมือง ช่วงที่ส. บุญเสนอเป็นศิษย์การบิน เขามีความฝักใฝ่ในการประพันธ์อยู่แล้ว จึงเริ่มเขียนเรื่องสั้นขณะอายุได้ 19 ปี ส่งไปลงหนังสือต่าง ๆ (สมัยนั้นยังไม่ใช้คำว่านิตยสาร) ได้แก่ ประมวลสาร หนังสือพิมพ์สารานุกูล,เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์,สมานมิตรบันเทิง,เพลินจิตต์

เขาเป็นศิษย์การบินได้ 2 ปี เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงต้องออกจากโรงเรียนการบิน เขาเริ่มได้เขียนนวนิยายเรื่อง “สายแดง” เป็นเรื่องราวของนักบินขับไล่ ซึ่งเป็นประสบการณ์การเป็นศิษย์การบินเขาและเป็นนวนิยายที่เขียนเป็นเรื่องแรกขณะมีอายุได้ 21 ปี พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือเด

ลิเมล์รายวัน โดยเขียนวันละตอน ได้ค่าเรื่องตอนละ  1 บาท เขาไปเบิกค่าเรื่องวันละ 1บาท(เมื่อพ.ศ.2473 ก๋วยเตี๋ยวชามละ 2-5 สตางค์) ทุกเดือนมีรายได้เดือนละ 30 บาท  

ปรากฏว่านวนิยายเรื่อง “สายแดง”เป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านในสมัยนั้น  สร้างชื่อให้กับเขาจนเป็นที่รู้จักของคนอ่านเมื่อพ.ศ. 2473  สำนักพิมพ์เพลินจิตต์จึงพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในเวลาไม่

นานนัก  สำนักพิมพ์เพลินจิตต์มีตำนานเล่าขานกันมานานว่า เป็นสำนักพิมพ์ที่รุ่งมากในยุคนนั้น จนสร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของสำนักพิมพ์ ทว่า มาตกต่ำในยุคหลัง ถึงขั้นยากไร้

หลังจากนั้นส. บุญเสนอก็เขียนทั้งเรื่องสั้นและบทความส่งไปลงหนังสือหลายเล่มได้แก่ สมานมิตรบันเทิง   สารานุกูล  เสนาศึกษา  สยามวารศัพท์  ศัพท์ไทย   เสนาศึกษา  หนังสือของต.  เช็กงวน  เป็นอาทิ ระหว่างปี 2475-ปี 2477 เขาผันตัวเองไปรับหน้าที่บรรณาธิการ ดังที่บอกเล่า

“คุณเวช  กระตุกฤกษ์ เจ้าของสำนักพิมพ์เพลินจิตตช์วนไปเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์เป็นคนแรก  ดูแลทั้งเพลินจิตต์รายสัปดาห์และเพลินจิตต์รายเดือน ทำหน้าที่คัดเรื่องจากนักเขียน  สมัยนั้นพิมพ์ขายเล่มละ 10  สตางค์มั่ง 15 สตางค์มั่ง อย่างแพง 1 บาท ขายดีมาก จนคุณเวชร่ำรวยเลยล่ะ”      

ตรงจุดนี้เองสมญานาม ‘นักเขียนสำนวนสิบ สตางค์’ได้นำมาใช้เรียกกันในเวลาต่อมาในยุคพ.ศ.2475   ซึ่งนักเขียนเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นให้เด็กไทยในยุคนั้นมีนิสัยรักการอ่านจากหนังสืออ่านเล่นเหล่านี้ไม่แพ้นักเขียนกลุ่มอื่น

นักเขียนที่มีชื่อเสียงในอดีตหลายคนที่มีผลงานพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ต่างก็ผ่านการคัดเรื่องจากส.  บุญเสนอ ไม่ว่าจะเป็นอรวรรณ  ไม้   เมืองเดิม  ป.  อินทรปาลิต  ฯลฯ  โดยเฉพาะป.  อินทรปาลิต ที่โด่งดังจากเรื่องหรรษาชุดพล นิกร  กิมหงวน  ครั้งที่ยังเป็นนักเขียนใหม่ ส่งเรื่องไปสำนักพิมพ์อื่น ต่างก็ปฏิเสธ

แต่เมื่อส่งมาให้สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ซึ่งส. บุญเสนอ เป็นผู้เจียระไน เห็นว่ามีแววจะเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงต่อไป  ผลงานของป. อินทรปาลิตจึงได้รับการตีพิมพ์  จึงกล่าวได้ว่าเขาคือผู้ค้นพบป.  อินทรปาลิต ส. บุญเสนอเล่าถึงบรรยากาศในช่วงนั้นให้ฟังว่า

“ตอนนั้นป.  อินทรปาลิตเขายังเป็นรุ่นเด็ก  เขาเอาเรื่องมาให้  นวนิยายเรื่องแรกคือ นักเรียนนายร้อย เขาก็ได้พิมพ์ที่เพลินจิตต์ แล้วก็ทยอยพิมพ์เรื่องต่อ ๆ มาอีก”

ส. บุญเสนอเป็นบรรณาธิการที่เพลินจิตต์ได้ 3 ปี เขาไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์(น.ม.ส.)ทำหนังสือพิมพ์ประมวญวัน

ประมวญสาร และประมวญมารค ที่นี่เขาเขียนสารคดีในประเทศและแปลสารดีต่างประเทศ รวมทั้งเขียนเรื่องสั้นและบทความด้วย เขาเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ประมวญสาร  แต่จำชื่อเรื่องไม่ได้  มีเรื่องสั้นตีพิมพ์ไม่ถึง 20 เรื่องและไม่ได้พิมพ์รวมเล่ม

ทว่า วันหนึ่งส. บุญเสนอต้องหันหลังให้งานหนังสือพิมพ์และงานเขียน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น สำนักงานประมาวญวัน ประมวญสารและประมวญมารคถูกระเบิดถล่มพังพินาศ จำเป็นต้องหางานใหม่เพื่อเลี้ยงครอบครัว เขาโชคดีตรงที่มีความรู้ภาษาอังกฤษในขั้นดี จึงเบนเข็มเข้าสู่วงการภาพยนตร์             

“ผมมีความรู้แค่ม. 8 จากโรงเรียนเบญจมบพิตร แต่ได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษกับเสด็จในกรม น.ม.ส. ตอนทำที่ประมวญวันฯ ต้องใช้ภาษาอังกฤษแปลสารคดีและแปลข่าวอยู่เป็นประจำ ผมก็แปลบทหนังต่างประเทศป้อนให้โรงหนังแคปปิตอล แกรนด์ ศรีอยุธยา ฯลฯ รายได้ดีมาก เขาคิดให้เป็นบรรทัด ๆ ละบาท เป็นอัตราสูงสุด บางทีบรรทัดละประโยคเดียว เดือนหนึ่งแปล 3 เรื่อง ช่วงนั้นมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ”

จังหวะชีวิตในช่วงนี้เอง ทำให้ส.บุญเสนอได้เจอกับพรานบูรพ์ หรือ จวงจันทร์ จันทร์คณา พี่เอื้อยของวงการละครร้อง เป็นนักแต่งบทละครและเพลงละครชั้นครู ผลงานที่สร้างชื่อเสียงคือ จันทร์เจ้าขา และโรสิตา ทำให้เขามีโอกาสร่วมงานกับพรานบูรพ์ โดยเขียนบทละครเรื่อง “เจ้าแม่ศรีสุดาจันทร์” และเรื่องอื่น ๆ แต่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะแปลบทภาพยนตร์ เพราะมีรายได้ดีกว่า

จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ส. บุญเสนอหรือลุงเสาว์ บุญเสนอเป็นคนตั้งชื่อภาพยนตร์เรื่องเจมส์  บอนด์ โดยให้ชื่อว่า“พยัคฆ์ร้าย 007” เป็นคนแรก ที่ฌอน  คอนเนอรี่ เป็นดาราแสดงนำ

“ผมไม่มุ่งเขียนหนังสือ พวกเรื่องสั้น นวนิยายอีก  ห่างไปนานมาก ไม่เขียนอะไรอีกเลย  ถ้าอยากเป็นนักเขียนมีชื่อเสียงก็อดตาย  นี่ต้องแปลบทหนังทุกวัน รายได้มันดีกว่า”ส. บุญเสนอบอกเล่าอย่างเปิดใจ

จากน้ำพักน้ำแรงในการแปลบทภาพยตร์ ทำให้เขาได้ปลูกบ้านที่ย่านบางซ่อนพักอาศัยกับภรรยาและซื้อที่ดินเก็บไว้หลายแห่ง ทั้งที่อยุธยาและบางแค

“ผมจำเป็นต้องขายหมด เอาเงินมารักษาศรีสุดาที่ป่วยเป็นวัณโรค”ดวงตาขุ่นฝ้าของส.  บุญเสนอเป็นประกายเล็กน้อย เมื่อพูดถึงภรรยาคู่ชีวิต-สุดา วิคเตอร์ที่เขาพบรักที่ประมวลสาร ซึ่งจากไปเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว

ส. บุญเสนอนี่แหละที่สร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ให้กับวงวรรณกรรม โดยยกบ้านและที่ดินให้เป็นที่ทำการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ไม่อย่างนั้นป่านนี้สมาคมนักเขียนฯ ก็ยังไม่มีที่ทำการถาวร 

“ผู้ที่มีคุณธรรมย่อมไม่ถูกทอดทิ้งโดยโดดเดี่ยวและจะต้องมีเพื่อนบ้านมาคบหา”(ขงจื๊อ)