สถาพร ศรีสัจจัง
อ่านกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยขนาดยาวเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ของ “นายผี” หรือท่านอัศนี พลจันทร เจ้าของเพลง “เดือนเพ็ญ” อันลือลั่นแล้ว ทำให้เข้าใจข้ออรรถาธิบายจากคัมภีร์ “อลังการศาสตร์” ซึ่งเป็นคำราเล่มสำคัญเกี่ยวกับ “ศิลปะ และเทคนิคในการแต่งกวีนิพนธ์” ของอินเดีย ที่กรมศิลปากรของไทยเคยจัดแปลและพิมพ์เผยแพร่่ไว้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น
ขัอคิดสำคัญในคัมภีร์อลังการศาสตร์สรุปไว้ว่า การจะรจนากวีนิพนธ์ให้ดีได้นั้น ผู้แต่งจะต้องมีความเข้าใจในเรื่อง “องค์ประกอบ 3” อย่างลึกซึ้ง นั่นคือต้องเข้าใจว่า 1)ความคิด เป็นหัวใจของกวีนิพนธ์ 2)ความรู้ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้กวีนิพนธ์มีคุณค่า และ 3)ภาษา เป็นอาภรณ์ประดับให้กวีนิพนธ์มีความความงดงามและสร้าง “รส” ที่ชวนติดตาม
“ความเปลี่ยนแปลง” ของ “นายผี” สะท้อนฉายอย่างเด่นชัดถึงองค์ประกอบทั้ง 3 ประการนั้นของกวีผู้สร้างสรรค์งานที่ชื่อ “นายผี” !
นั่นคือฉายชัดถึง “ความคิด” ที่เป็นแก่นแกนของเรื่อง คือมี “ความคิดหลัก” ที่ต้องการนำเสนอถึงพัฒนาการทางความคิดของคนคนหนึ่ง จากข้อจำกัดไปสู่การปลดปล่อย จากความสับสนไปสู่ความแจ่มชัด จากทรรศนะล้าหลังไปสู่ทรรศนะก้าวหน้า และจาก “เพื่อส่วนตัว” ไปสู่ “เพื่อส่วนรวม” (ตามความศรัทธาที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องอานิสงส์แห่ง “คุณค่า” บางประการในการเกิดมาเป็นมนุษย์ของผู้เขียน อย่างน้อยก็ในช่วงยามนั้น)
ส่วน “ความคิดรอง” คือความต้องการนำเสนอแนวคิดการตีความประวัติศาสตร์สังคมตาม “วิธีวิทยา” ที่กวีเชื่อ นั่นคือ การอธิบายพัฒนาการประวัติศาสตร์ไทยโดยใช้หลักทฤษฎี “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” (Historical materialism) ของสำนักคิดลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ถือได้ว่าเป็น “กระบวนทัศน์” (Paradign) ที่สำคัญยิ่งกระบวนทัศน์หนึ่งในโลกวิชาการทางสังคมศาสตร์สมัยใหม่
ในเรื่อง “ความรู้” ที่ปรากฏเป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อหาส่วนต่างๆนั้น ตัวกวีคือ “นายผี” ได้สำแดงให้เห็นอย่างโดดด่นมาก ว่าเป็น “พหูสูต” (Scholar ) หรือ “ผู้รู้ผู้ศึกษา” ใน “สรรพศาสตร์” เกี่ยวกับ เรื่องที่นำมาเขียนมาแต่งอย่างแท้จริง
ทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี คติชนวิทยา(Folklaw) รัฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และศาสตร์ต่างๆอีกหลายด้านที่เกี่ยวข้อง
ในแง่องค์ประกอบด้าน “ความรู้” ที่ปรากฏเห็นในท้องเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” นั้น ต้องนับเรื่อง เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “วัฒนธรรม” สำคัญๆของสังคมไทย (โดยเฉพาะวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมเกษตรกรรมยุคศักดินาของไทย)
บางเรื่องบางประเด็น ผู้อ่านยุคปัจจุบันอาจยากที่จะเข้าใจหรือ “อ่านแล้วเห็นภาพ” แต่ผู้รับสารที่มี “พื้นฐานประสบการณ์” ( Field of experience) ร่วมกับผู้เขียน อ่านแล้วจะกระทบความรู้สึกได้มากและเห็นภาพที่กวีต้องการบอกได้อย่าง “เต็มความรู้สึก”
ตัวอย่าง “ความรู้” ที่ “นายผี” นำมาใส่ไว้ในกวีนิพนธ์ขนาดยาวชิ้นนี้มีมากมายหลายตอนด้วยกัน ในที่นี้จะขอยกมาให้ดูชมสักเพียง 2 เรื่องก็แล้วกัน
เรื่องแรก คือความรู้เกี่ยวกับการ “เผาผี” หรือ “ฌาปนกิจศพ” ของคนไทยยุคเก่า(โดยเฉพาะศพของคนที่เป็น “ผู้ใหญ่”หรือผู้มี “ศักดิ์สูง” ทั้งหลาย) ในเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” “นายผี” ได้บรรยายภาพ บรรยากาศการ “เผาผี” ของผู้ทรงศักดิ์ที่ผู้เขียนเรียกว่า “สีหราชัย” (ตามท้องเรื่องคือผู้มีอำนาจเหนือ “แผ่นพื้นสุพรรณภูมิ” เก่าที่ถูกโค่นล้มโดยกลุ่มพลังใหม่ที่เติบโตขึ้นมาแทนที่)ไว้ตอนหนึ่งว่า :
“เพื่อศพจะเผาจี่/คือศพสีหราชัย/ลูกหลานที่อาลัย/ยังระแวดระวังวง/บัดสี่ทหารเสือ/สุรภาพอาจอง/ผลุนปรี่เข้าไปปลง/และจะปรามบ่ปราณี/ลูกหนู ที่นอนนิ่ง/ก็วิ่งผางยังโลงผี/เพลิงท่วมขึ้นทันที/และเทพไท้ก็อันตรธาน/เจื้อยปี่ชวาแจ้ว/วิเวกแว่วอยู่กังาฬ/เพียงพื้นแผ่นดินดาน/จะระย่อเพราะเย็นแสยง/เศร้าเสียงพระยาโศรก/ยามลาโลกอ่อนโรยแรง/เสียงสวดนั้นเสียดแทง/หฤทัยอยู่ทรมา/สำเนียงนางร้องให้/ที่ร่ำไรนั้นหนักหนา/โอ้หนอคณาทา-/ระกำนัลจะพลันศูนย์/แผ่นดินจะสิ้นแล้ว/จะระแด่วดิ้นอาดูร/สิ้นทั้งพระธรรมนูญ/และอำนาจอันยาวนาน/…”
ที่ยกตัวอย่างบทกวีมาเสียยาวนั้น ที่จริงตอนนี้มุ่งเพียงใช้เพื่ออธิบายคำทางวัฒนธรรมสำคัญที่ “นายผี” นำใช้เพียงคำเดียว แต่พอยกมาเขียนแล้วก็อดไม่ได้ที่จะฉายภาพการบรรยายอันยอดเยี่ยมแบบยาวๆของกวีประดับไว้ในที่เดียว เผื่อมีใครที่ชอบอ่านแต่ไม่มีเวลาหรือมีเหตุใดทำให้ไม่สามารถอ่านบทเต็ม “ความเปลี่ยนแปลง” ได้ อย่างน้อยก็จะได้ “สัมผัส” บางส่วนของกาพย์ยานีซึ่งมีลีลาและ “เสียงดนตรี” ที่เลอเลิศเช่นนี้
คำที่ต้องการยกมากล่าวถึงเพื่อแสดงให้เห็นถึง “ภูมิรู้” ของ “นายผี” ตอนนี้ก็คือคำ “ลูกหนู” คำนี้ ในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ถึง 3 ความหมาย ความหมายหนึ่งที่ค่อนข้างตรงกับคำที่ “นายผี” เขียน คือคำอธิบายที่ว่า… “ลูกหนู น.ดอกไม้ไฟที่จุดให้วิ่งไปตามสายลวด”
แต่ใครที่อ่านข้อความทั้งหมดจากกาพย์ยานีที่ยกมา ย่อมเห็นภาพได้มากกว่าคำอธิบายแบบ Academicในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสภาเป็นแน่แท้…ดูน้ำหนักคำ เสียงดนตรีในคำ และ จังหวะเสียงที่ก่อภาพ สิ!… “ลูกหนู ที่นอนนิ่ง/ก็วิ่งผางยังโลงผี/เพลิงท่วมขึ้นทันที/และเทพไท้ก็อันตรธาน…”
ใช้กาพย์ยานีเพียง 4 วรรคบรรยายเท่านั้น แต่กลับให้ภาพรูปธรรมที่มีชีวิตชีวาแ มีความเคลื่อนไหว(mouvment) และฉายภาพของการ “ล้มลง” ของระบบที่ยิ่งใหญ่ระบบหนึ่ง ดังความในวรรคท้ายสุดที่ว่า “และ เทพไท้ก็อันตรธาน” (ตีความกันเอาเองว่า “เทพไท้” ของ “นายผี” เมื่อ พ.ศ.2495 นั้นคืออะไรหรือคือใครกันแน่)
ถึงยุคปัจจุบันการใช้ “ลูกหนู” จุดเพลิงเผาผี นอกจากจะใช้กับบุคคลระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ดูเหมือนจะยังพอมีเหลือให้เห็นอยู่บ้างในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคใต้ ส่วนใหญ่จะทำกับกับศพของคนเฒ่าคนแก่ที่มากบารมี ( เช่น มีลูกหลานมากและได้ดิบได้ดี รวมถึงเป็นผู้ที่ต้องการรักษาขนบธรรมเนียมแบบโบราณไว้)
อีกตอนหนึ่ง ที่อยากยกมาเพื่อแสดงถึงภูมิรู้ของ “นายผี” ในเรื่องที่เกี่ยวกับ “คติความเชื่อ” / “วัฒนธรรม” และ “เทคนิค” การทดลองความคมของศาสตราวุธ (ในเรื่องคือดาบคู่กายของพระยาพล ต้นตระกูล ที่นายผีเคยเขียนถึงว่า ตกทอดมาถึงรุ่นพ่อ จนมาถึงรุ่น “นายผี” เอง) ของคนไทยโบราณ ก็คือตอนที่ พระอาจารย์ของนายจันทร(คือพระยาพลในภายหลัง)ทำพิธีตีดาบคู่มือให้กับศิษย์รักนั่นเอง!