การออกแรงผลักดัน วาระหลัก ของพรรคก้าวไกลน่าจะอยู่ที่ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่ง ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เพิ่งยื่นร่างกฎหมาย ฉบับพรรคก้าวไกล ไปถึงมือ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมา  คือเกมที่พรรคก้าวไกลเทน้ำหนักมากกว่าที่ออกมาร่วมกระโดดลงสู่เกม แก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างเต็มตัว ! 


 เพราะไม่เช่นนั้น พรรคก้าวไกลคงเลือกที่จะส่ง ตัวแทน เข้าไปร่วมอยู่ในคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ส่งผลให้คณะกรรมการฯชุดนี้จึงไม่มีตัวแทนจากพรรคก้าวไกลกับไอลอว์ เข้าร่วม 


 สาระในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. ....ที่พรรคก้าวไกล ยื่นเสนอต่อประธานสภาฯ ชูหลักที่ว่าหยุดนิติสงคราม และเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคดีการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2549-2557 
 

ทั้งนี้ในร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอ นั้นจะไม่ครอบคลุม 1. เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม 2. การกระทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และ3. การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 

 อย่างไรก็ดีการเดินหน้าของพรรคก้าวไกล ต่อการผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม  ดูเหมือนว่าอาจต้องเผชิญกับ แรงต้าน รอบด้าน ทั้งจากความไม่ไว้ใจจาก พรรคฝ่ายค้านด้วยกันเอง อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่ง ทัพหน้า อย่าง ราเมศ รัตนะเชวง  โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาชี้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็น กฎหมายล้างผิด เพราะอย่าลืมว่าพรรคก้าวไกล มีสส.ของพรรคที่ยังมีคดี ม.112 ติดตัวด้วยกันอีกหลายราย 
 

พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันชัดเจนว่าแม้เราเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกล แต่เราไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวของพรรคก้าวไกล 

 ถ้าจะมีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพราะเราไม่เห็นด้วยกับการล้างความผิดให้ผู้ที่กระทำผิดในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 
 นอกพรรคก้าวไกล จะไม่ได้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแนวร่วมแม้จะอยู่ในปีกฝ่ายค้านด้วยกันเองแล้ว อย่าลืมว่า พรรคก้าวไกล ยังจะต้องเจอกับแรงต้าน ที่มีแนวโน้มว่า นอกสภาฯ นั้นตั้งท่ารอพรรคก้าวไกล อยู่ด้วยความเข้มข้น  แม้งานนี้พรรคก้าวไกล หวังที่จะดึง กลุ่มมวลชน แทบทุกเสื้อสี มาเป็น แนวร่วม ก็ตามที !