เสือตัวที่ 6

รัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วนานกว่า 18 ปี จนกระทั่งล่าสุด มีการต่ออายุขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ชายแดนใต้ต่อไปอีก 3 เดือน นับเป็นครั้งที่ 73 และการประกาศให้พื้นที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เป็นอำเภอที่ 11 จาก 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นอีกพัฒนาการหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและบูรณภาพ แห่งอาณาเขตแห่งรัฐ อันเกิดจากความเห็นต่างจากรัฐของคนในพื้นที่ภายใต้การนำของขบวนการ BRN ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ในขณะนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากการดำเนินการต่อสู้เพื่อนำความสงบสุขมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีเช่นกัน หากแต่ว่า ก็ยังมีการกล่าวอ้างจากแกนนำและแนวร่วมขบวนการ BRN ที่แทรกปนอยู่ในภาคส่วนต่างๆ ในสังคมตั้งแต่ระดับพื้นที่ ภูมิภาค จนถึงระดับชาติ ที่ยังมีมุมมองตรงข้ามกับรัฐเสมอมาในทำนองว่า แม้มีการปลดพื้นที่ที่ประกาศใช้การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แต่รัฐก็ยังมีกฎหมายตัวอื่นมาบังคับใช้อาทิ กฎหมายความมั่นคง ไปบังคับใช้แทน หากแต่ความจริงแล้วรัฐจำเป็นต้องมีเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการสถานการณ์ในพื้นที่พิเศษแห่งนี้อยู่ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ยังมีกลุ่มขบวนการ BRN ซึ่งเป็นตัวหลักในการต่อสู้กับรัฐเพื่อมุ่งหมายแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐอย่างคงเส้นคงวา

ที่ผ่านมาในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งหลายพรรคเสนอยุบหน่วยงานพิเศษที่รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ ทั้ง กอ.รมน. และ ศอ.บต. รวมถึงการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ โดยอ้างว่ารัฐได้มีการประกาศต่อเนื่องมานานเกือบ 2 ทศวรรษแล้วและการดำรงคงอยู่ของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ที่ดูแลแก้ปัญหาความเห็นต่างจนกระทั่งการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาอันกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 20 ปีมาแล้วก็ยังแก้ปัญหาความมั่นคงและความเห็นต่างในพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้อย่างแท้จริง พรรคการเมืองหลายพรรคจึงนำเสนอนโยบายใหม่ในการยุบเลิกหน่วยงานความมั่นคงทั้งสองลงเพื่อแสวงหารูปแบบการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่แห่งนี้ใหม่อย่างสิ้นเชิง หากแต่ความจริงแล้วสถานการณ์ความขัดแย้งเห็นต่างจนถึงขั้นการใช้อาวุธเข้าต่อสู้กับรัฐทั้งหลายที่ผ่านมากว่า 20 ปีนั้น ล้วนมีพัฒนาการของการแก้ปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนโดยหน่วยงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และศอ.บต. ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการต่อสู้กับกลุ่มขบวนการ BRN อย่างเท่าทัน จนบีบบังคับให้ BRN จำต้องปรับกลยุทธ์การต่อสู้กับรัฐในหลายประการ อาทิ การลดระดับการต่อสู้ด้วยอาวุธ จนกเกิดสงครามประชาชนตามแผนบันได 7 ขั้นแต่เดิม แล้วมุ่งเน้นไปที่การต่อสู้ทางการเมือง การปลุกระดมมวลชนด้วยการบ่มเพาะความเห็นต่างจากรัฐให้เกิดขึ้นกับคนทุกระดับในพื้นที่อย่างจริงจังเข้มข้นและเป็นระบบอันเป็นเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์ของรัฐที่ประสงค์ให้ขบวนการ BRN และแนวร่วม วางอาวุธและหันกลับมาต่อสู้ทางความคิดตามแนวทางสันติวิธีอย่างที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้

แม้การวางอาวุธของขบวนการ BRN จะไม่เป็นผล 100% หากแต่หน่วยงานความมั่นคงทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็สามารถจำกัดการปฏิบัติของกองกำลังติดอาวุธของขบวนการ BRN จนไม่สามารถ ก่อเหตุร้ายได้อย่างเสรีเฉกเช่นที่ผ่านมา สถานการณ์ในพื้นที่ปลายด้ามขวานจึงเข้าสู่ภาวะเงียบสงบจากความรุนแรงและ ศอ.บต. สามารถต่อยอดจากการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สามารถควบคุมความรุนแรงให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ไปสู่การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างเป็นผลในรูปแบบต่างๆ อย่างน่าพอใจ จนกระทั่งกลุ่ม BRN จำต้องหันกลับไปใช้เงื่อนไขอื่นๆ ในการกล่าวอ้างเหตุผลในการต่อสู้กับรัฐ อาทิ เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล ชาติพันธุ์ของคนในพื้นที่ที่เป็นของตนเอง ตลอดจนสิทธิของคนในพื้นที่ที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ RSD (Right to Self-determination) ซึ่งก็ยังอยู่ในความควบคุมการต่อสู้ในแนวใหม่ของ BRN ให้อยู่ในระดับที่ยังไม่กระทบต่อความมั่นคงมากนัก

นอกจากนั้น ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองหลายพรรคประกาศนโยบายดับไฟใต้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐ โดยอ้างว่ากระบวนการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่ม BRN ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาประมาณ 3 ปีนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร หากแต่แท้ที่จริงแล้ว การพูดคุยสันติสุขของคณะเจรจาของรัฐหลายชุดที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นการพูดคุยที่สามารถรักษาความเป็นเอกภาพแห่งอาณาเขตของรัฐได้อย่างน่าพอใจยิ่ง หลายๆ ท่วงทีวาจาของแต่ละย่างก้าวการต่อสู้ทางความคิดผ่านโต๊ะการพูดคุยของคณะตัวแทนของรัฐทั้งทางเปิดเผยและทางลับที่ผ่ามานั้น สามารถพูดคุยอย่างเท่าทัน เอาชนะเงื่อนไขการต่อรองของตัวแทน BRN ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถานการณ์การต่อสู้ทางความคิดผ่านเวทีการพูดคุยสันติสุข จึงสามารถรักษาเอกภาพ และบูรณภาพแห่งอาณาเขตของรัฐได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการนำเสนอแนวคิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะพูดคุยสันติสุขจึงไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ยอมรับได้การขับเคลื่อนการต่อสู้ของรัฐที่มีต่อกลุ่มขบวนการแบ่งแยกการปกครองซึ่งนำโดยกลุ่ม BRN ที่ผ่านมาจบจนวันนี้ จึงเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าสามรรถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกล่าวอ้างของกลุ่มคนต่างๆ ที่เป็นแนวร่วมของ BRN ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ จึงสามารถพิสูจน์หักล้างได้ว่ามีความตรงข้ามกับข้อกล่าวอ้างต่างๆ ทั้งหลายเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน อันเป็นมุมมองที่แตกต่างซึ่งทุกฝ่ายต้องพิจารณา