ต่อจากฉบับที่แล้ว ที่ขอหยิบยกเอาความในบางช่วงบางตอน ของบทความที่ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มานำเสนอดังนี้
“…รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีอำนาจเผด็จการได้ทำการปราบปรามผู้ที่มีแนวคิด และชักจูงให้คนนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง หนังสือและตำราที่เกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกห้ามจำหน่าย การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ สร้างความอึดอัดแก่นักวิชาการ และนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างมาก แต่เข้าทำนองยิ่งห้ามยิ่งยุ นิสิต นักศึกษาจึงเริ่มหันไปนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีความรู้สึกว่า ลัทธินี้มิได้เลวร้ายจนน่ากลัวอย่างที่มีการพยายามวาดภาพไว้แต่อย่างใด ตรงข้ามระบอบการปกครองแบบคอมิวนิสต์อาจเป็นคำตอบ ที่จะทำให้ประเทศไทย และประชาชนไทยหลุดพ้นจากความยากจน และสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นได้
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นิสิต นักศึกษาที่เคยถูกปิดกั้นไว้ จึงเริ่มมีเสรีภาพในการแสดงออก และมีการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อผู้สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำนิสิต นักศึกษา ที่รวมกันจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ดูเหมือนจะมีความคิด "เอียงซ้าย" ถึง "ซ้ายจัด" กันเป็นส่วนใหญ่ ช่วงเวลานี้ป็นยุคเฟื่องฟูของขบวนการนักศึกษา เนื่องจากผู้นำนักศึกษา ในนามศูนย์กลางนิสิตนักศึกษามีบทบาทสูงมากทางการเมือง มีการนำการประท้วงของผู้ใช้แรงงาน ชาวนา เกษตรกร และกลุ่มอื่นๆบ่อยครั้ง จนกระทั่งเราเรียกยุคนี้ว่า ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน เมื่อนิสิต นักศึกษา มีบทบาทสูง ทั้งยังมีความโน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้ายมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. จะเริ่มมีการจัดตั้งนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่มีความคิดเป็นซ้ายจัด ให้เข้าสังกัดและให้ทำการเผยแพร่ความคิดของฝ่ายซ้ายให้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย นี่เป็นเรื่องจริงที่ยอมรับกันเป็นการภายใน ในกลุ่มคนที่อยู่ในวงในจริงๆ เมื่อฝ่ายซ้ายเริ่มมีกิจกรรมมากขึ้น คนอีกกลุ่มที่จัดได้ว่าเป็นฝ่ายขวา ถึงขวาจัดก็เริ่มรู้สึกว่า กำลังถูกภัยคุกคามจากฝ่ายซ้าย จนไม่สามารถอยู่นิ่งเฉย จึงมีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นต่อต้าน เช่นกลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง และยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เปิดเผยตัว และไม่เปิดเผยตัวอีกมากมายหลายกลุ่ม
สถานีวิทยุที่เป็นกระบอกเสียงที่ต่อต้านฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรงและเปิดเผย คือสถานีวิทยุยานเกราะ ซึ่งทำหน้าที่ปั่นกระแสให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังของฝ่ายขวาต่อฝ่ายซ้ายอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดเพลงปลุกใจกันอย่างกว้างขวาง เช่น เพลงหนักแผ่นดิน เพลงเราสู้ เป็นต้น แน่นอนว่า ผู้ที่แวดล้อมใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ย่อมต้องรู้สึกว่า สถาบันพระมหากษัตริย์กำลังถูกภัยคุกคามเช่นกัน จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า ลูกเสือชาวบ้าน เพื่อสร้างกิจกรรมให้รักชาติ และต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ คำว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" จึงเริ่มใช้กันมากในช่วงเวลานี้
ในขณะเดียวกัน ผู้นำนิสิต นักศึกษาที่มีบทบาทสูง และมีแนวโน้มว่าอาจได้รับการจัดตั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็เริ่มรู้สึกว่ากำลังถูกติดตามความเคลื่อนไหวจากฝ่ายความมั่นคงอย่างใกล้ชิด ผู้นำนักศึกษาชื่อดังคนหนึ่งเล่าว่า เขาต้องตัดสินใจเข้าป่าไปร่วมกับพคท.ต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาเสียด้วยซ้ำ เพราะเริ่มมีความรู้สึกว่าอยู่ในเมืองไม่ปลอดภัย ความแตกแยกในสังคมระหว่างซ้ายกับขวา เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความเกลียดชังระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน…” (ยังมีต่อ)