สถาพร ศรีสัจจัง
“นายผี” หรือท่านอัศนี พลจันทร กวีผู้รักความเป็นธรรม และ นักปฏิวัติคนสำคัญของไทย ได้เขียนถึงความยิ่งใหญ่ของ “เมืองโบราณศรีเทพ” ไว้ในกวีนิพนธ์ขนาดยาวที่ทรงคุณค่ายิ่งของท่าน ที่ชื่อ “ความเปลี่ยนแปลง” ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 โน่นแล้ว!
องค์การยูเนสโก ของ สหประชาชาติ เพิ่งประกาศให้ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ของราชอาณาจักรไทยเป็น “มรดกทางวัฒนธรรมของโลก” ในสมัยประชุมสามัญครั้งที่ 45 ของคณะกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน พ.ศ. 2566 นี่เอง!
นับเป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” ลำดับที่ 4 และ เป็น “มรดกโลก” ลำดับที่ 7 ของประเทศไทย (อีก 3 แห่งเป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ” ได้แก่ 1) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร- ห้วยขาแข้ง 2)กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และ 3)กลุ่มป่าแก่งกระจาน)
เป็นการประกาศหลังจาก “นายผี” เขียนถึงความสำคัญ และ ความยิ่งใหญ่ของ “นครศรีเทพ” กินเวลารวม 71 ปี ! (กรมศิลปากรของประเทศไทยเพิ่งประกาศให้เมืองศรีเทพเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์” เมื่อ พ.ศ. 2527 และ เริ่มมีการขุดแต่งบูรณะอย่างจริงจังเมื่อไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง!)
ในงานกวีนิพนธ์ขนาดยาวเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” “นายผี” เขียนถึง “นครศรีเทพ” ไว้อย่างไรบ้าง? ท่านเขียนเป็น “กาพย์ยานี 11” ไว้อย่างไพเราะหนักแน่น ดังนี้ :
“…ศรีเทพนครขอม/กำแพงกรอมชากังราว เดชงำถึงกรุงงาว/แลสร้างศรีสุโขไทย สร้างพระนครธม/จำปาศักดิเสริมชัย พิมายพิมานไพ-/จิตรวัดพนมวัน ไชยาผชุมเชิญ/ชวาขุนมาคุยกัน เขื่อนคูให้ครัน/สำหรับแขกมาบังคม ขึ้นอ่าวอำรุงรัง/พระประโทนประทมสมเด็จท้าวธชายชม/พิชิตทั่วนครไท…”
การเขียนถึงความยิ่งใหญ่ของ “นครศรีเทพ” ดังกล่าวนี้ เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในตอนที่ 2 (จากทั้งหมดรวม 3 ตอน)ของกวีนิพนธ์เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” พิจารณาดูแล้ว เนื้อหาตอนนี้ “นายผี” คล้ายต้องการบรรยายถึงพัฒนาการทางสังคมของบรรดาเมืองต่างๆใน “สุพรรณภูมิ” ที่มีผู้คนอยู่อาศัย และ พัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น เข้าสู่ยุคทาสและยุค “ศักดินา” (Feudalism) ตามแนวคิดการตีความพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แบบ “Historical materialism” ของชาวลัทธิมาร์กซ์ (Marxist)
ที่ “นายผี” ให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการบรรยายถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในแหลมสุวรรณภูมิ(ซึ่งคือที่ตั้งของประเทศไทยปัจจุบัน) ก็เพราะต้องการฉายชี้ภาพตนเองว่ามีเชื้อสายชาติตระกูลมาจากชนชั้นศักดินา (ซึ่งเป็นชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีดและเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ที่ท่านมีทัศนะไม่เห็นด้วย)
ในเนื้อหา (content) ช่วงนี้ “นายผี” ได้แสดงภูมิรู้เรื่องอำนาจของ “ศรีเทพนครขอม” อย่างลึกซึ้งกว้างขวางยิ่ง ว่าสามารถมีอำนาจเหนือ(ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม)ต่อเมืองต่างๆในแคว้นสุพรรณภูมิในเวลานั้นเป็นจำนวนมาก ที่ปรากฏชื่อก็เช่น ชากังราว/กรุงงาว/สุโขทัย/นครธม/จำปาศักดิ์/พิมาย/และไชยา เป็นต้น กระทั่งสรุปลงว่า “พิชิตทั่วนครไท” นั่นเอง!
ข้อมูลปัจจุบันบอกเราว่า “เมืองโบราณศรีเทพ” (ที่องค์การสหประชาชาติเพิ่งประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อวันที่19 กันายน 2566 นี้เอง) นั้น มีความรุ่งเรืองอย่างยาวนานถึง 700-800 ปี การขยายอำนาจดังที่ว่านี้อาจเป็นช่วงใดช่วงหนึ่งในช่วงเจ็ดแปดร้อยปีดังกล่าวนั้นก็ย่อมเป็นได้
ที่สำคัญก็คือ “นายผี” ได้โยงฐานะ “ศักดินา” อันมีพัฒนาการอย่างยาวนานในพื้นที่ “สุวรรณภูมิ” นี้ มาเกี่ยวข้องกับต้นตระกูลของตนแบบรวบรัดกระชับความ ในทำนองว่าเมือง “ราชบุรี” (เมืองเกิดของตระกูลท่าน ในเรื่องท่านเรียก “ราชพรี”)เกี่ยวข้องกับการ “พิชิตทั่วนครไท” ของ “ขุนขอม” ในท้องเรื่องเมือง “ศรีเทพ” นั้นด้วย ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า :
“…พระริบเอาราชพรี/คือบุรีอันเรืองไกรจักริบริบหัวใจใจ/ก็ประจักษ์บ่จำนน…” แล้วจึง
“…เกณฑ์ทาสมาทุ่มถม/ทะเลตมจนตื้นดอน ริมลำแม่กลองงอน/แลก็ง่ายก็งามดี ค้าโค่นเอาขุนเขา/มาเลื่อยเหลาสลักตี แต่งตั้งเป็นปรางค์ปรี/ดิประดุจพิมานแมน…”
และ “นายผี” ก็ได้ใช้โอกาสการบรรยายถึงสังคมสุวรรณภูมิยุคศักดินานี้เอง “สอดแทรก” ทรรศนะทางการเมืองเพื่อวิจารณ์ระบบดังกล่าวอยู่ในแทบทุกช่วงตอนของกวีนิพนธ์ “ความเปลี่ยนแปลง” ช่วง 2 นี้ เช่น :
“…เพื่อที่สมเด็จท้าว/จะโน้มน้าวในดวงมาน ปลูกปรางค์ประจุสาร/ธาตุพุทธที่เหลือเผา เพื่อชนผชุมชม/ชเยศท้าวและเทียมเทาบา บุญใช่บางเบา/ให้บัดทาสถวายกร…”
ตอนนี้ถ้าตีความก็คือ “ขุนขอม” นั้นแสนฉลาด อาศัยเอา “ศาสนา” มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยการ “ประจุสารธาตุพุทธที่เหลือเผา” ไว้ใน “ปรางค์” เพื่อให้บรรดาทาสเชื่อและศรัทธาตน(?)
หรือบรรยายถึง “ศักดินา” (ในเรื่องคือ “ขุนขอม”) ที่ใช้แรงงานทาสสร้างเมือง ทำให้ผู้คนต้องทุกข์ยากล้มตายเป็นจำนวนมาก แล้วปลุกระดมความคิดส่งท้าย เช่น :
“…ขุดเอาศิลาแลง/เป็นกำแพงอันเพริศไพ จิตรเทพพนมใน/กำแพงนั้นก็นับแสน รูปเทพพนมฤา/คือรูปทาสทั้งดินแดน ดับแล้วแลมาแหน/บริวารคือโหงพราย เหื่อทาสคือปรางค์ทอง/แลเลือดนองคือน้ำลาย เหื่อทาสทั้งแสนสาย/ก็คือเปรียงประจำเผา โอ้ราชพรีชี/ชิตพลีบ่บางเบา เมืองงามก็เงียบเหงา/สงัดโศรกอยู่แสนศัลย์ เสียงอึบ่ยินเอ่ย/บ่ยินเลยที่รำพัน หน้าเครียดอยู่ครามครัน/คะนึงคิดบ่ขาดสาย ปู่คิดและพ่อคิด/จนชีวิตนั้นวางวาย ลูกคิดจนตามตาย/แลหลานคิดจนเหลนโหลน ช้างงาแลดาบงาม/บ่แปรปรามให้อ่อนโอน ใจไทยนั้นใจโทน/บ่ยอมให้ผู้ใดเดิน!…”
ในตอนที่ 2 ของกวีนิพนธ์เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” นี้ เหมือนนายผีจะตั้งใจเขียนเป็นพิเศษ เป็นการแสดง “กาพยารมย์”ที่หนักแน่น แจ่มชัด สง่างาม และกินใจนัก ใครที่เป็นคนประเภท “Poeticism” (กวีนิยม) หากได้ลิ้มรสฝีมือกาพย์ของ “นายผี” ช่วงนี้ ย่อมต้องประทับใจ สะเทือนใจ และอิ่มใจเป็นที่สุด นี่นับเป็นการ “พัฒนา” กาพย์ยานี 11 หลังยุคเจ้าฟ้าธรรมธิเบศฯหรือ “เข้าฟ้ากุ้ง” เจ้าฟ้ารัชทายาทผู้เป็นรัตนกวีแห่งยุคอยุธยาตอรปลายครั้งสำคัญยิ่ง
ถึงตรงนี้คงต้องฝากถึงบรรดาชาว “กวีนิยม” ทั้งหลาย ให้สังเกตเป็นพิเศษสักหน่อย กล่าวคือ การที่ “นายผี” สามารถ “ปรับ” ท่วงทำนองของกาพย์ยานีให้ใหม่(นวัตกรรม)ขึ้นได้นั้น น่าจะเกิดจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแตกฉานของท่านเกี่ยวกับ “ศาสตร์” แห่ง “กาพย์กลอน” (คือกวีนิพนธ์นั่นแหละ!) โดยเฉพาะความตระหนักรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วกาพย์กลอนก็คือ “เพลงดนตรี” ประเภทหนึ่ง ที่หัวใจของมันคือ “เสียงที่ก่อทำนอง” นั่นเอง!
แล้ว “เสียงที่ก่อทำนอง” คืออะไรละ? ถ้าไม่ใช่ลักษณะพิเศษของภาษาไทยที่เป็นภาษาซึ่งมี “เสียงวรรณยุกต์” หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เสียงดนตรี” และ เสียงดนตรีดังกล่าวในภาษาไทยแต่เดิมไม่ได้มีเพียงเสียงสามัญ/เอก/โท/ตรี/จัตวา ดังที่เห็นที่รู้จักกันในสิ่งที่เรียกว่า “ภาษาไทยมาตรฐาน” ปัจจุบันไม่
แต่หมายรวมถึงเสียงที่อยู่ “ระหว่าง” เสียงมาตรฐานดังกล่าวเหล่านั้นด้วย ดังเช่นที่มีปรากฏให้เห็นเหลืออยู่เป็นจำนวนมากในภาษาถิ่นทั้งหลายทั้งในพื้นที่อีสาน เหนือ ใต้ และแม้แต่ในภาคกลางเอง ถ้านึกไม่ออก ก็ลองเทียบเสียงคำ “ป้า” ในภาษาถิ่นใต้ดูสักคำก็แล้วกัน ว่าทางใต้เขาออกเสียงอย่างไร?และจะไม่สามารถเขียนรูปวรรณยุกต์ของภาษาไทยมาตรฐานปัจจุบันกำกับเสียงได้เพราะอะไร?
“เสียงดนตรี” ที่ “นายผี” เอามาปรับ “รูปแบบ” (Form) ของกาพย์ยานีในเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” นี้ อย่างน้อย มี 3 ประเด็นด้วยกัน นั่นคือเรื่องของ “เสียงหนักเสียงเบา”/ “เสียงสั้นเสียงยาว” และ “เสียงสัมผัส” สำหรับรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวนี้ คงมีพื้นที่ไม่พอที่จะอธิบายและยกตัวอย่างให้เห็นได้อย่างชัดเจนในที่นี้
ความสำคัญทั้งด้านเนื้อหาและรูปแแบบในช่วงตอนที่ 2 ของกวีนิพนธ์ขนาดยาวเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ของ “นายผี” ยังมีอีกมาก ถ้ามี “พื้นที่และเวลา” เพียงพอ ก็อาจต้องอรรถาธิบายกันต่ออีกยาว…!!