แม้บรรยากาศการเมืองไทยเดือนตุลาคมปีนี้ บรรยากาศการเมืองอาจไม่ได้เขม็งเกลียวเช่นในหลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีปัจจัยที่หมิ่นเหม่ต่ออารมณ์คนหนุ่มสาวอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและวิบากกรรมของบรรดาผู้ละเมิดมาตรา 112
แต่กระนั้น หากย้อนหวนาทวนความไป ในวิกฤติการเมืองในประวัติศาสตร์ จากผลึกความคิดของ อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะน่าจะมีมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อสถานกาณ์บ้านเมืองในปัจจุบันได้ จึงขอหยิบยกเอาความในบางช่วงบางตอน ของบทความที่ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 มานำเสนอดังนี้
“... ปีนี้ (2564 ) เป็นปีครบรอบ 45 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แม้วันนี้จะเลยวันที่ 6 ตุลาคมมาแล้ว แต่คงยังไม่ช้าเกินไปที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ช่วงนี้ใครต่อใครทั้งที่เกิดทันและเกิดไม่ทันมักเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น การ "สังหารหมู่" กันเกือบทุกคน การเกิดทัน หรือเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่ใช่เป็นประเด็นว่าจะวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลาได้หรือไม่ แต่การกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ว่าเป็นการ "สังหารหมู่" นักศึกษาประชาชนผู้บริสุทธิ์และปราศจากอาวุธ แม้เกิดการสังหารกันจริง แต่ดูจะเป็นการพูดแบบง่ายและรวบรัดเกินไป เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะนิยามเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการ "สังหารหมู่" เพียงเท่านั้น การ "สังหารหมู่" ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที แต่มีที่มาที่ไป บางอย่างอาจเป็นความลับที่ไม่มีใครทราบ ในที่นี้จึงอยากจะให้ทำความเข้าใจกันว่า การ"สังหารหมู่" ที่ว่านั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร
จะเข้าใจสาเหตุของเหตุการณ์ 6 ตุลา เราจะต้องมองย้อนกลับไปที่สถานการณ์ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 จนเกิดเหตุการณ์ที่เราเรียกกันว่า "วันมหาวิปโยค" และมองว่ามีการพัฒนาการอย่างไรหลังจากนั้น จนกระทั่งในที่สุดเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ในช่วงก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นเป็นรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นรัฐบาลที่สืบทอดมาจากรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มาจาการทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ถนอมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ถึงแก่อสัญญกรรมในปี 2506 ใช้เวลาถึง 5 ปีจึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2512 พรรคสหประชาไทยที่จอมพลถนอม และจอมพลประภาส จารุเสถียร ก่อตั้งขึ้น ชนะการเลือกตั้ง จอมพลถนอม จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่แล้วในปี 2514 จอมพล ถนอมก็ทำรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง เช่นเดียวกับที่รัฐบาลจอมพล ป. เคยทำ ครั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ค่อยเป็นค่อยไปตามเคย จนมีอาจารย์ นักศึกษา และประชาชน 13 คน ออกแจกใบปลิวเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 คนถูกจับกุมในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน และอีกหลายข้อหา รวมทั้งข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์นี้นำไปสู่การชุมนุมประท้วงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของประเทศไทย นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงสงครามเย็น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้พยายามผลักดัน และสนับสนุนรัฐบาลไทยให้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. เป็นต้นมา และยิ่งเข้มข้นในยุครัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ และจอมพลถนอม ดังนั้นจึงได้มี พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 และได้มีการพยายามสร้างภาพลัทธิคอมมิวนิสต์ให้ดูน่ากลัวเกินกว่าความเป็นจริง โดยไม่แยกแยะระหว่าง ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย กับระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์สุดโต่ง เช่นประเทศจีนยุคเหมา เจ๋อ ตุง ให้ชัดเจน…” (มีต่อ)