กลวิธีในการทำงานการเมือง ในลักษณะ "หนามยอก เอาหนามบ่ง" แม้จะเป็นยุทธศาสตร์การสื่อสารการเมืองทางหนึ่ง หากแต่ก็หมิ่นเหม่ต่อการถูกตั้งคำถามถึง วุฒิภาวะทางการเมือง
การกระทำในลักษณะชี้นำ ว่ากฎหมายผิด หรือคนทำไม่ผิดนั้น อาจก่อให้เกิดผลพวงหรือผลกระทบที่ร้ายแรง
กรณีน.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ถูกศาลฎีกาพิพากษา เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง-ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปมโพสต์โซเชียลฯ พาดพิงเบื้องสูง กลายเป็นประเด็นที่ถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์เชื่อมโยงต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูคำพิพากษา บางช่วงบางคอนระบุว่า ผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)มีเชื้อชาติและสัญชาติไทย นอกจากมีหน้าที่ตามมาตรา 50 (1) อันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยแล้ว ผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังต้องยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อรักษาเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งและความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ย่อมต้องระมัด ระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์มิให้มีภาพถ่ายหรือข้อความพาดพิงหรือแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือมิบังควร เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมความสามัคคีของปวงชนชาวไทย โดยกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ว่า "ในหลวง" "พ่อหลวง" หรือ "พ่อของแผ่นดิน"เป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ปวงชนชาวไทยมีความรักและความภาคภูมิใจในองค์พระมหากษัตริย์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดมา
เมื่อพิจารณาการกระทำของผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)ตามคำร้องซึ่งกระทำอย่างต่อเนื่องกันมา จึงต้องนำการกระทำของผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)ทั้งหกกรณีมาพิเคราะห์ร่วมกันเพื่อหยั่งทราบเจตนาว่ามุ่งประสงค์อย่างไร การกระทำของผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)ตามคำร้อง ข้อ 4.1 (1) ถึง 4.1 (4) และ 4.1 (6) ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้คัดค้านมีเจตนาพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่วนการกระทำตามคำร้อง ข้อ 4.1 (5) เป็นการลงข้อความพาดพิงถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พระนามในขณะนั้น) อันเป็นการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือมิบังควรอย่างยิ่ง เป็นการไม่เคารพในหน้าที่ของปวงชนชาไทยที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้คัดค้านที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และเมื่อผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ 6 ที่กำหนดให้ผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริธรรมอย่างร้ายแรง
นอกจากการกระทำโดยตรงแล้วยังหมายรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย เมื่อผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)ยังคงปล่อยให้ภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวปรากฎอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์บัญชีการใช้งานเฟซบุ๊กในลักษณะเป็นสาธารณะบุคคลทั่วไปสามารถข้าถึงได้ พฤติการณ์ของผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 6 มาตรา 50 (1) และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 การที่ผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)ไม่ลบหรือนำภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวทั้งหมดออกจากระบบคอมพิวเตอร์ทั้งที่สามารถกระทำได้เพื่อไม่ให้ปรากฎอยู่และเพื่อไม่ให้บุคคลใดสามารถเข้าถึงภาพถ่ายและข้อความทั้งหกกรณีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
การกระทำของผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)จึงเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 ประกอบ ข้อ 29 วรรคหนึ่ง ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน(น.ส.พรรณิการ์)ตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่