การเมืองไทยแม้จะได้รัฐบาลมาขับเคลื่อนการบริหารประเทศไปข้างหน้าแล้ว เหมือนการเมืองนิ่ง แต่ก็ยังไม่สงบ

ด้วยยังมีคลื่นใต้น้ำซัดใส่รัฐนาวาเศรษฐา ไม่ได้หยุดหย่อน เป็นข่าวลบ กลบข่าวดี ซึ่งทีมยุทธศาสตร์ของรัฐบาลคงจะต้องทำงานอย่างหนักในการรับมือ ไม่ใช่เพียงการสื่อสารการเมืองเพียงเท่านั้น

โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่เดือนตุลาคม ที่มักจะเป็นช่วงเวลาที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา แม้บรรยากาศในปัจจุบัน ที่เรามีรัฐบาล “ข้ามขั้ว”อย่างเป็นทางการแล้ว แต่ไม่ได้หมายความความขัดแย้งระหว่างขั้วต่างๆ จะสลายไปหรือสลายขั้ว เป็นเพียงการจับมือกันเฉพาะกิจเพียงเท่านั้น สถานการณ์ของประเทศไทย ไม่ได้เดินเข้าใกล้กับคำว่า “ปรองดอง” อย่างแท้จริงเลย  

แม้บรรยากาศการเมืองจะไม่อึมครึมและน่ากลัวเท่ากับเหตุการณ์เดือนตุลาคมในหลายๆปีก่อน แต่ปัจจัยที่ทำให้หลายฝ่ายยังคงเฝ้าจับตา นั่นคือปัจจัยที่มี นายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี เป็น “สายล่อฟ้า” ที่อาจจะ “จุดติดไฟ” ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ 

แม้ปฏิกิริยาของมวลชนในฝั่งตรงข้ามกับ นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทยนั้น ต่างอยู่ในช่วงโรยรา

หากแต่ก็ไม่มีใครประมาท พลังของมวลชน  และไม่ประมาทกับเกมอำนาจที่สลับซับซ้อนและหลายก๊กของการเมืองไทย ที่ทำให้เราต้องมานั่งถอดบทเรียนเหตุการณ์เดือนตุลากันทุก ปี โดยเฉพาะวันนี้ ครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาแล้ว

บรรยากาศของความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายโจมตีกันด้วยความเกลียดชังยังคงอยู่ ทั้งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและมีผู้อยู่เบื้องหลังในการจัดฉาก การสื่อสารยุคอนาล็อก ป้อนข้อมูล สร้างความโกลาหล สร้างปีศาจร้าย ยังก่อให้เกิดการ “สังหารหมู่”ครั้งใหญ่ แล้วในปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงมาสู่ยุคดิจิทัลเล่า หากมีความพยายามในการสร้างสถานการณ์เพื่อหวังผลทางการเมือง ประชาชนในปัจจุบันมีภูมิคุ้มกันมากน้อยแค่ไหน

ฉะนั้น การรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร และมีสติในการเสพสื่อ จึงเป็นเรื่องที่ต้องย้ำ ซ้ำๆในทุกปีๆ และในทุกวัน เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แม้จะมีความพยายามของคนบางส่วนที่สมยอมและพร้อมใจจะตกเป็นเหยื่อพร็อพพากันด้าก็ตาม