ทองแถม นาถจำนง
ข้าพเจ้าเก็บหนังสือหนีมหาอุทกภัย 2554 ได้ทันส่วนหนึ่ง ส่วนที่เสียหายไปนั้น นักเลงหนังสือย่อมซึ้งใจดีว่าข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไร
ผ่านมาถึงวันนี้ ยังรื้อมาจัดเก็บไม่เสร็จ เพราะอยู่คนเดียวไม่มีเรี่ยวแรงจะทำ จนถึงขณะนี้ ลูกชายเรียนจบปริญญาโทจาก สป.จีน (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ยังไม่มีงานทำ ก็เลยได้อาศัยแรงงานลูกชายช่วยกันรื้อออกมา
รื้อออกมาเรียงรายไว้น่ะง่าย แต่แต่การจัดแบ่งหมวดหมู่นั่นสิ กินเวลามาก
ไม่เป็นไร....ค่อย ๆ นั่งทำไป ตอนนี้แยกหนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญของประเทศไทยได้เกือบร้อยเล่มแล้ว เมื่อทำบัญชีเสร็จก็จะมอบให้ “สถาบันคึกฤทธิ์” ทำเป็นห้องสมุดประวัติบุคคลสำคัญของไทยต่อไป
ระหว่างที่นั่งดูหนังสือกวีนิพนธ์เพื่อหาข้อมูลมาเขียนคอลัมน์ “บรรณาลัย” ให้สยามรัฐรายวัน ก็พบหนังสือที่ไม่เคยผ่านตามาก่อน เป็นหนังสือแจกงานฌาปนกิจคุณแม่เวียง เสถียรสุต เรื่อง “พระเจดีย์ไชยมงคล”
เอกสารเรื่องนี้ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พิมพ์พระราชทานเนื่องในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระเจดีย์ไชยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 25 มกราคม 2506
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนปิดท้ายหลังจบบทความว่า
ข้าพระพุทธเจ้าหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับพระเจดีย์ไชยมงคลที่พระนครศรีอยุธยา และได้เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2506
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ขอเดชะ
.....................................
บทความนี้ค่อนข้างยาว คงจะต้องนำลงต่อเนื่องกันสักสามสัปดาห์
ต่อไปขอเชิญอ่านเนื้อความเต็ม
...........................................
พระเจดีย์ไชยมงคล
พระอารามอันเป็นที่ตั้งแห่งพระเจดีย์นี้พระอารามอันเป็นที่ตั้งแห่งพระเจดีย์ไชยมงคลนี้ สมเด็จพระรามาธิบดี 1 (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1900 หลังจากได้สถาปนาพระมหานครศรีอยุธยา แล้ว 7 ปี ดังปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า
“ศักราช 719 ปีระกานพศก (พ.ศ.1900) ทรงพระกรุณาตรัสว่า เจ้าแก้ว เจ้าไทย ออกอหิวาตกโรคตาย ให้ขุดขึ้นเผาเสีย และที่ปลงศพนั้นให้สถาปนาพระเจดีย์และวิหารเป็นอารามแล้ว ให้นามชื่อว่าวัดป่าแก้ว”
คำว่า “ป่าแก้ว” นั้นเดิมทีเป็นชื่อนิกายสงฆ์ ในหนังสือตำนานโยนกมีความว่า เมื่อราวปีขาล จุลศักราช 784 พุทธศักราช 1965 มีพระภิกษุสงฆ์จากประเทศต่างๆ ในอาเซียอาคเนย์นี้หมู่หนึ่ง เป็นพระมหาเถรชาวเชียงใหม่ 7 รูป มีนามว่าพระธรรมคัมภีร์ พระเมธังกร พระญาณมังคละ พระศีลวงศ์ พระสาริบุตร พระรัตนากร และพระพุทธสาคร เป็นพระมหาเถรจากกรุงศรีอยุธยา 2 รูป คือ พระพรหมมุนีและพระโสมเถร และมีพระมหาเถรจากกรุงกัมพูชาชื่อ พระญาณสิทธิ์อีกรูปหนึ่งรวมเป็น 10 รูป พร้อมด้วยพระภิกษุบริษัทอีกมาก ได้ร่วมกันเดินทางออไปยังประเทศลังกา เพื่อไปศึกษาพระศาสนาซึ่งรุ่งเรืองอยู่ ณ ที่นั้น เมื่อไปถึงแล้วได้อุปสมบทแปลงเป็นสิงหฬนิกาย ณ อุทกเขปสีมาที่แม่น้ำกัลยาณี ในสำนักพระวันรัตนมหาเถร เมื่อวันเสาร์ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 7 อุตตราสาฒ ปีมะโรง จุลศักราช 786 พุทธศักราช 1967 แล้วศึกษาธรรมวินัยอยู่ในลังกาทวีปหลายปี เมื่อกลับมาได้นิมนต์พระมหาเถรชาวลังกามาด้วยสองรูป ชื่อพระมหาวิกรมพาหุรูปหนึ่ง และพระอุดมปัญญารูปหนึ่ง พระสงฆ์คณะนี้เดินทางจากลังกาทวีปมาถึงกรุงศรีอยุธยาก่อน แล้วจึงได้แยกย้ายกันออกไปเที่ยวตั้งนิกายลังกาขึ้นอีกนิกายหนึ่งเรียกว่า “วันรัตนวงศ์” ตามนามของพระวันรัตนมหาเถรแห่งกรุงลังกา ซึ่งคงจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์ของสงฆ์คณะนี้ นามนิกาย “วันรัตนวงศ์” นั้นแปลเป็นไทยว่า “ป่าแก้ว” จึงได้สันนิษฐานกันว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จะได้ทรงสร้างวัดขึ้นให้เป็นสำนักของสงฆ์ในคณะนี้ แต่ถ้าหากจะพิจารณาตามตำนานโยนกแล้ว สงฆ์คณะนี้ได้เดินทางไปลังกาทวีปในพระพุทธศักราช 1965 เป็นเวลาห้าปีหลังจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้ทรงสร้างวัดจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าพระราชทานนามวัดนี้ว่า วัดป่าแก้วมาตั้งแต่แรกสร้าง และนามวัดป่าแก้วนั้นคงจะได้มาเรียกกันภายหลังเมื่อพระสงฆ์คณะป่าแก้วได้เข้าไปตั้งสำนักอยู่ในวัดนั้นแล้ว
เมื่อนามวัดมิใช่วัดป่าแก้วแต่เริ่มสร้าง ก็น่าจะได้พิจารณาดูต่อไปว่านามเดิมนั้นว่าจะเป็นอย่างไร ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายแก้ว มีบทเสภาอยู่ว่า
“ปีขาลวันอังคารเดือนห้า
ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย
เจ้ากรุงจีนเอาแก้วอันแพรวพราย
มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา
ให้ใส่ไว้ในยอดเจดีย์ใหญ่
สร้างไว้ตั้งแต่ครั้งกรุงหงษา
เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา
ให้ชื่อว่าพรายแก้วอันแววไว”