สถาพร ศรีสัจจัง

ฟังมาว่า “นายผี” คงเขียนบทกวีชุด “ความเปลี่ยนแปลง” ขึ้น ในช่วงปี 2495-2496 ซึ่งเป็นช่วงที่มีปรากฏการณ์ทางสังคมสำคัญบางอย่างเกิดขึ้นในสังคมไทย นั่นคือเป็นช่วงที่เกิด “กบฏสันติภาพ” (คลิกดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ในกูเกิล) ที่นักมนุษยธรรม นักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์และชาวบ้านในภาคอีสานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากถูกจับ และถูกยัดเยียดข้อหา “ยุยง”ให้มีการแตกแยกขึ้นภายในประเทศและข้อหาอื่นๆ

การจับกุมนักคิดนักเขียนนักหนังสือพิมพ์และผู้รักความเป็นธรรมครั้งนี้ น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ “นายผี”ตัดสินเลือกทางเดินชีวิตเส้นทางใหม่นั่นคือเส้นทางของการเป็น “นักปฏิวัติ”  เพราะ 1 ในผู้ที่จะถูกจับกุมในครั้งนี้ ฟังว่ามีรายชื่อ “อัศนี  พลจันทร” อยู่ด้วย!

และฟังมาอีกนั่นละว่า นายผีเขียนเรื่องนี้ขึ้นเพื่อให้กำลังใจและปลุกใจคุณอุทธรณ์  พลกุล อดีตนักหนังสือพิมพ์์เจ้าของนามปากกา “งาแซง” ผู้มีชื่อเสียงแห่ง “ไทยรัฐ” ซึ่งเป็นญาติลูกพี่ลูกน้องที่ถูกจับกุมในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

เนื้อหา (content)ของกวีนิพนธ์ขนาดยาวเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ของ “นายผี” แบ่งเป็น 3 ตอน ใช้ฉันทลักษณ์ในการเขียนเป็นร้อยกรองไทยประเภท “กาพย์” รวม 2 ชนิด คือกาพย์ฉบัง 16 กับ กาพย์ยานี 11 

ตอนแรกเขียนด้วยกาพย์ฉบัง 16 ความยาว 65 บท ตอนที่ 2 เขียนด้วยกาพย์ยานี มีความยาว 105 บท และ ตอนที่ 3เขียนเป็นกาพย์ฉบัง 16 ความยาว 115 บท รวมความงาน “ความเปลี่ยนแปลง” นี้ มีความยาวกาพย์ทั้งสิ้นรวม  285 บท

ความตอนที่ 1 นายผีเปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึงสถานที่แห่งหนึ่ง โดยบรรยายให้เห็นถึงความสงบร่มเย็น ความสง่างาม และความอุดมสมบูรณ์ของสถานที่แห่งนั้น ที่ “…ทิพรูปลำยองนิยม/ย่อมหญิงชายชม/ชำแรกมาเล่นดำรู…” และเพราะ “ทิพรูป”(คนที่เทียบได้กับเทพ)คนนั้น “ชำแรกมาเล่นดำรู” ณ แหล่งนั้นนั่นเอง ทำให้”…เขางูง่วยโงนโอนเอน/ขุนนางพระเณร/อนาถประนมนิ้วกลัว/ยินเอ่ยรั้วใหญ่ย่อมหัว/หอต้อทุกตัว/บอาจจะต่อสายตา/เกรงหวายเกรงไม้มีดผา/เกรงยิงปืนยา/และเกรงเพราะเกรงใจกัน/มีเลกลูกทาสถึงพัน/มีนาอนันต/เอนกจะนับเหลือคณา…”

เมื่อบรรยายถึง “บารมี” อันยิ่งใหญ่ของ “ทิพรูป” ผู้เป็นใหญ่ในสถานที่ดังกล่าวแล้ว  “นายผี” ก็เติมเต็มภาพ “กิจกรรม” ที่เกิดจาก “บารมี” ของ “ทิพรูป” เพื่อสร้างคุณลักษณะวรรณกรรมตามขนบนิยมการแต่งร้อยกรองไทยยุคเก่าว่า

“…มีวัดไว้เพลิงเผาผี/แต่งเลิศรุจี/บรรเจิดประจักษ์แจ่มเมือง/บวชลูกเหลนหลานห่มเหลือง/ชนแน่นนองเนือง/ที่หน้าพระธาตุหลังสถาน/มาตรแม้นมีงานมีการ/ชี้ใช้ไหว้วาน/จะวิ่งไปทั้งท่าเสา…”

คำ “ท่าเสา” ตอนท้ายวรรคของกาพย์ที่ยกมานี่เอง ที่เป็นตัวเฉลยว่า “สถานที่” ที่ “ทิพรูป” มากบารมีผู้นั้น “ชำแรกมาเล่นดำรู” คือที่ไหนนั่นก็คือเมืองท่าเสา จังหวัดเพชรบุรีในยุคปัจจุบันนั่นไง และที่นั่นแหละคือบ้านเกิดของ “นายผี”!

ใครที่ติดตามศึกษาถึงเรื่องราวอัตชีวประวัติของนายผีย่อมทราบดีว่าต้นตระกูลของท่านคือ “พระยาพล” (บางแห่งเรียก “พระยาพลเดือน”?) อดีตผู้ทรงบารมีแห่ง “บ้านรั้วใหญ่” เมืองท่าเสา จังหวัดราชบุรี โดยท่านได้มาตั้งบ้านเรือนและสร้างชุมชนขึ้นที่นั่นหลังจากถูกผู้ทรงอำนาจสั่งปลดให้ออกจากราชการ (จากตำแหน่งพระยาผู้รั้งเมืองกาญจนบุรี)ด้วยข้อหา “…ล้วนกูบ่สั่งการ//มาอวดกรนี่กลใด/ความชอบบ่มีมึง/ก็ บรอดแลอยู่ใย/ถอดเสียจงสมใจ/ที่ประจักษ์ว่าจองหอง…” ดังปรากฏความตอนหนึ่งอยู่ในตอนที่ 2 ของกวีนิพนธ์เรื่องนี้ ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้จะได้กล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งในภายหลัง

ที่พูดค้างไว้ว่า “นายผี” บรรยายเติมเต็มตามขนบนิยมของวรรณกรรมร้อยกรองไทยยุคเก่า(อย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคอยุธยา)ก็คือการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการละเล่นและมหรสพในงานเฉลิมฉลองต่างๆของ “ผู้มากบารมี” ของไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ตอนต้นเรื่องนี้ “นายผี” บรรยายถึงความสนุกสนานในงานฉลองของ “พระยาพล” ผู้เป็นต้นตระกูลไว้หลายตอน เช่น 

“…กลางวันมีกีฬากลาง/แปลงช่วงชิงราง/วัลแต่ละวันขันแข็ง/สองฝ่ายว่ายข้ามคูแวง/สองดาบโดดแทง/กะทบสำทับฉับฉาน/เอ็ดโอดโลดร้องรำคาญ/เบี้ยทิ้งเป็นทาน/เพื่อมันบ่ทนแทงฟัน/ไป่ย้อมว่านยาสามัญ/ใช่ชายฉกรรจ์/ก็ไล่ไปลงโรงนา/ใครหมัดมีดไม้ปืนผา/แม่นยำอาบยา/ย่อมเป็นทหารให้เมีย…”

และ

“กลางคืนโคมตามตระการ/สว่างกลางลาน/สำหรับละคอนโขนหนัง/หนังตะลุงตาหรุ่นขึงขัง/พากษ์สามเสียงดัง/ประดุจดนตรีตรึง/หนังเมืองเพชรมาเออมึง/กูแข่งขันขึง/จะชิงรางวัลท่านพนาย/ไอ้หนุ่ยผูกพรวนเพริศพราย/พูดเพราะเหลือหลาย/แลคนก็ล้อมโรงเพ็ชร/ตาหรุ่นว่าโรงกูเด็ด/กูจะเอาให้เข็ด/แลถอนเสาโรงลงเรือ/ขี้ฝิ่นกูยังเหลือเฟือ/กัญชากูเบือ/แลเหล้ากูล้นไหซอง/ไอ้แก้วไอ้เปลือยปิดทอง/ขี่ควายผายผยอง/มาเจาะกันกลางจอไกร/วางควายขวิดกันหวั่นไหว/เพียงพื้นภพไตร/จะแตกทำลายลงพลัน/เชิดฆ้องกลองปี่นี่นั่น/ฉิ่ง กรับ รับกัน/กระเกริกตระการโกลา/เด็กเล็กหลามล้อมโรงฮา/ปั๋งฉาดปั๋งชา/เอาเว้ยกูเอาควายเปลือย/กูเอาควายแก้วละเหวือย/ควายกูมีเดือย/ประดุจดวงเพลิงกาฬ…/เด็กโห่ฮาตึงปรึงไป/เฒ่าตามหลามไหล/ก็ล้อมตาหรุ่นเรืองนาม/โรงเพ็ชรเข็ดเขี้ยวขบกราม/ถอนเสาโรงหาม/ลงเรือแลเรียกบมิเหลียว…"

ที่ยกตัวอย่างบทกวีประเด็นนี้มาเสียยาว นอกจากอยาก “แสดง” ให้เห็นถึงความเป็น “นายภาษา” และ “ชั้นเชิง” ในการจัด “เสียงดนตรี” ใน “ลีลากวีนิพนธ์” ของนายผี ให้บรรดาผู้สนใจการเขียนร้อยกรองไทยในชั้นปัจจุบันได้เห็นได้สังเกตกันแล้ว ก็เป็นเพราะอยากตอกย้ำข้อคิดเรื่องคุณสมบัติพิเศษของผู้ที่ต้องการเป็น “กวี” (Poet) จาก “คัมภีร์อลังการศาสตร์” ไว้อีกสักครั้งด้วยว่า จะต้องฝึกตนให้เป็น “พหูสูตร” (Provident) คือเป็น “ผู้รู้รอบ รู้กว้าง รู้ลึก และรู้จริง” ให้ได้อย่าง “นายผี” นี่แหละ

นั่นคือ ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์และความรู้ในศาสตร์ด้านต่างๆ (Fact/Knowledge)ให้มากเข้าไว้ก็จะเป็นดี

หลังเปิดเรื่องด้วยความมากบารมีของต้นตระกูลคือพระยาพลแล้ว  นายผีก็วกเข้าสู่ทรรศนะทางการเมืองในช่วงปูเรื่องนั่นเอง โดยกล่าวถึงตอนนำเสนอเรื่องการเล่นหนังตะลุงนั่นแหละ ใครที่มีความรู้เรื่องหนังตะลุงย่อมรู้กันดีว่า “หนังเมืองเพ็ชร” แต่เดิมนั้น มักเล่นเรื่อง “รามเกียรติ์” เรื่องเดียวเป็นพื้น ลองฟังดูเนื้อหาที่ “นายผี” พูดถึงเรื่องหนังตะลุงสักหน่อยนะ ว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร…

“…ตีเกราะกระหยับรับกราว/แล้วเล่นเรื่องราว/เป็นรามเกียรติ์ดูไกร/สดุดีศักดินาสาไถย/ชิงลงกาชัย/แลชื่นพิชิตชาวเมือง/บมิคิดถึงความแค้นเคือง/สงครามลามเปลือง/ชีวิตพินาศนานา/เสริมเดชเพศพระรามา/เพื่อเชื้อราชา/ให้ชนนิยมชมชู…”

เห็นแล้วยังว่าเป็น “การเมือง” ยังไง ที่จริงมีมากกว่านี้เยอะ !

และตอนที่ 1 ของบทกวีชุด “ความเปลี่ยนแปลง” ก็ไปจบลงที่ “ทิพรูป” ต้องการคว้าผลชมพู่อัน “ปลั่งสีแดงสดโสภี” (กาพย์บทแรกของเรื่องเปิดฉากด้วยต้นชมพู่!) แต่ไม่สามารถยึดฉวยได้ เพราะ “…บัดลมกระโชกหวิวหวือ/บมิทันถึงถือ/ชมพู่ก็ร่วงลงดิน/แตกกระจายคายรสไหลริน/ผิวผ่องโสภิณ/สภาพพินาศบมินาน/ทิพรูปตระลึงแลลาน/ร้าวฤดีดาล/ประดุจดับดวงใจ”

ตอนที่ 2 ที่กำลังจะถึง นอกจากเนื้อหาเรื่องราวจะแสดงถึงภูมิรู้อันกว้างลึกและทรรศนะอันยาวไกลเกี่ยวกับพัฒนาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีแบบ “ผู้มาก่อนกาล” ของตัวกวีผู้รจนา แล้ว ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการ “ตัดสินใจ” บางประการในการ “เลือกทางชีวิต” ของ “นายผี” กวีนักปฏิวัติคนสำคัญของสังคมไทยปรากฏให้เห็นอยู่ในเรื่องอีกด้วย!!