เสือตัวที่ 6

ปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพิสูจน์ทราบอย่างแน่ชัดว่า เป็นการกระทำอย่างเป็นกระบวนการ มียุทธศาสตร์ และแผนงานการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ จึงส่งผลให้การต่อสู้กับรัฐสามารถกระทำได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ดำรงความต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี แม้กลยุทธ์ในการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่แห่งนี้จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ จากการมุ่งเน้นการสร้างสงครามประชาชนด้วยการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างกว้างขวาง ไปเป็นการต่อสู้ทางการเมือง มุ่งสะสมบ่มเพาะความคิดต่างให้เกิดขึ้นกับกลุ่มประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวางทุกกลุ่ม ทุกวัยไปพร้อมๆ กัน สู่การต่อสู้ทางความคิดกับรัฐในทุกเวทีและทุกโอกาสที่จะเกิดขึ้น หากแต่ทั้งหลายนั้น ก็ยังคงเน้นยุทธศาสตร์การยึดครองประชาชนในหมู่บ้านเป็นฐาน และอาศัยการบ่มเพาะแนวความคิดการก่อความไม่สงบให้กับประชาชนเป้าหมายในพื้นที่ โดยอาศัยรากเหง้าทางประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล ชาติพันธุ์ เป็นเงื่อนไขสำคัญ ร่วมกับการใช้ความเป็นตัวตนเฉพาะถิ่นในพื้นที่ และหลักความเชื่อทางศาสนา เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความรู้สึกนึกคิดให้ประชาชนในพื้นที่มีความเห็นต่างจากรัฐ เพื่อนำประชาชนเหล่านั้น มาเป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่แห่งนี้ในที่อย่างทรงพลัง

ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐต่างมุ่งเน้นการต่อสู้กับขบวนการร้ายแห่งนี้ในพื้นที่ชุมชนและสถานศึกษาประเภทต่างๆ หากแต่แท้ที่จริงแล้ว ยังมีการถ่ายทอดความคิด ขยายเครือข่ายมวลชนแนวร่วมแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ที่หลายคนคาดไม่ถึง นั่นคือ พื้นที่ทัณฑสถานในพื้นที่ปลายด้ามขวานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ซึ่งดำเนินการโดยบรรดาแกนนำ หรือคนระดับนำในพื้นที่ระดับปฏิบัติการที่มีการถ่ายทอด ส่งต่อขยายความคิดต่างจากรัฐไปยังเพื่อนผู้ต้องขังเอง และบรรดาญาติและเพื่อนผู้ต้องขังที่มาเยี่ยมเยียนผู้ต้องขัง ให้เกิดความคับข้องใจ เครียดแค้นชิงชังรัฐจนกลายเป็นการขยายแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนไปในวงกว้างอย่างไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะเงื่อนไขที่แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน มักจะอ้างว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ซึ่งไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย แม้รัฐได้พิสูจน์ให้ประชาชนในพื้นที่และประชาคมโลก เห็นเชิงประจักษ์ว่า รัฐได้ใช้กระบวนการยุติธรรม ตามระบบกลไกทางกฎหมายของรัฐ เพื่อนำมาซึ่งการให้โอกาส และสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงในพื้นที่แห่งนี้ แต่กระนั้นกระบวนการส่งต่อแนวคิดขยายเครือข่ายความเห็นต่างจากรัฐก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป

หากแต่ระบบยุติธรรมที่ผ่านมาของรัฐ ยังไม่สามารถสร้างหลักประกันความเชื่อมั่นให้กับผู้เห็นต่างจากรัฐในระบบยุติธรรมได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้ที่เป็นจำเลยในความผิดในคดีความมั่นคง ซึ่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ระหว่างการพิจารณาคดี และผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำในคดีความมั่นคงเป็นที่สิ้นสุดแล้วมีการสื่อสารถ่ายทอดความคิดและความเชื่อของการไม่ได้รับความเป็นธรรมในระบบยุติธรรมของรัฐ อันเป็นการโน้มนำให้เพื่อนผู้ต้องขังในทัณฑสถาน ไม่ยอมรับระบบกฎหมายซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจรัฐ สู่การเป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนจากการศึกษาพบว่าผู้ต้องขังคดีความมั่นคงดังกล่าว ล้วนไม่ยอมรับในระบบยุติธรรมของรัฐ ซึ่งเกิดจากการไม่เชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐและระบบรัฐเป็นพื้นฐาน ประกอบกับกระบวนการดำเนินคดี ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ถูกส่งต่อความคิด ความเชื่อกันมาว่า มีความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมเท่าที่ควร เหล่านี้ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งต่อความคิดที่ขัดแย้ง ขยายเครือข่ายความคิดแปลกแยกแตกต่างจากรัฐอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่การถ่ายทอดความคิดแบ่งแยกดินแดนโดยตรง

แม้กระบวนการของทัณฑสถานในปัจจุบัน จะดำเนินการต่อผู้ต้องขังในพื้นที่อย่างระมัดระวัง ด้วยการเคารพในสิทธิความเชื่อ และวิถีชีวิตตามหลักศาสนาอย่างมากแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารฮาลาล ที่ประกอบอาหารด้วยผู้ต้องขังชาวมุสลิมเอง หรือการรำมาดตามห้วงเวลาที่กำหนดในหลักศาสนาอิสลาม การปรับห้วงเวลารับทานอาหารของพี่น้องผู้ต้องขังชาวมุสลิมให้เหมาะสมในห้วงถือศีลอด ตลอดจนการถ่ายทอดคำสอนตามหลักศาสนาก็ตาม หากแต่สภาพของความคิดที่ยังเป็นปัญหาคับข้องใจของผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงก็คือ การที่พวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรมเท่าที่ควร เหล่านี้คือเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้แนวโน้มในอนาคต เมื่อผู้ต้องขังได้พ้นโทษและออกไปจากเรือนจำไปแล้ว ตลอดจนญาติพี่น้องและเพื่อน มีความหวาดระแวงต่อการดำเนินการของรัฐ ซึ่งล่อแหลมต่อการตกเป็นเป้าหมายในการขยายแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน นอกจากนั้น ความคิดของการไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมเหล่านั้น ได้ถูกถ่ายทอดไปยังกลุ่มผู้ต้องขังรายอื่นๆ ในเรือนจำ ตลอดจนญาติพี่น้อง และบุคคลในครอบครัว ที่มาเยี่ยมในเรือนจำ อันจะเป็นการขยายเครือข่ายความเห็นต่างจากรัฐให้กว้างขวางออกไป ด้วยเงื่อนไขในการไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของรัฐ

กระบวนการถ่ายทอดแนวคิดเห็นต่างเพื่อแสวงหาแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน ทัณฑสถานนั้น จึงยังไม่มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวโดยตรง หากแต่จะเป็นการขยายต่อแนวคิดแปลกแยกแตกต่างจากรัฐ โดยการดำเนินการในรูปแบบของการไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ซึ่งนั่นเป็นเงื่อนไขสำคัญในการขยายความคิดคับข้องใจ ออกห่างจากรัฐ ทั้งตัวผู้ต้องขังเอง ตลอดจนสมาชิกในครอบครัว และมิตรสหายในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ล่อแหลมต่อการปลุกระดม ชี้นำ ขยายเครือข่ายความเห็นต่างให้ออกห่างจากรัฐ และมีโอกาสเข้าเป็นแนวร่วมในขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จชต. ได้ในที่สุดซึ่งหน่วยงานความมั่นคงของรัฐไม่อาจมองข้ามไปได้