สถาพร ศรีสัจจัง

เดือนกันยายน เป็นเดือนเกิดของ “นายผี” ซึ่งบัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดในเรื่องราวแล้วว่าเป็น “นามปากกา” (pen name) ที่ใช้ในการรจนาหนังสือของท่านอัศนี  พลจันทร  ปัญญาชนสยาม ผู้เป็นทั้ง กวี นักเขียน นัหนังสือพิมพ์ นักแต่งเพลง นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และ นักปฏิวัติคนสำคัญยิ่งคนหนึ่งของอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

“นายผี” หรือ “อัศนี  พลจันทร ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2411 นับถึงปี 2566 ก็ครบรอบ 105 ปีชาตกาลพอดี นายผีเป็นบุตรของพระมนูอรรถวิมลกิจ ผู้สืบเชื้อสายตรงจากพระยาพลเดือน ขุนศึกรบพม่าแต่ครั้งยุคพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นอดีตผู้รั้งเมืองหน้าด่านกาญจนบุรี

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบ นายผีเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองจนจบ จากนั้นเข้ารับราชการในกรมอัยการ ถูกส่งไปเป็นอัยการผู้ช่วยที่จังหวัดปัตตานี ถูกฟ้องร้องทำนอง “มีใจเข้าข้างคนพื้นเมืองมลายูต่อต้านรัฐบาลจอมพลป.พิบูลยสงคราม” (ขณะนั้น) ถูกย้ายไปอยูเมืองสระบุรี และย้ายเข้าประจำกรมในที่สุด

ขณะที่เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯนายผีสนใจเรื่องราวทางวิชาการด้านวรรณคดี(Literature)เป็นพิเศษ มีความสนใจด้านภาษา มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาต่างๆหลายภาษาด้วยกัน เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส บาลี สันสกฤต และอูรดู เป็นต้น จึงสามารถอ่านและแปลผลงานวรรณกรรมจากภาษาต่างๆได้อย่างกว้างขวาง

ผลงานงานที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือผลงานประเภทกวีนิพนธ์ (Poetry)ทั้งขนาดสั้นและขนาดยาว วงการวรรณกวีไทยร่วมสมัยถือกันว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาการกวีนิพนธ์ไทยที่สำคัญยิ่ง เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจของกวีร่วมสมัยและกวีรุ่นหลังอย่างเป็นรูปธรรม กวีคนสำคัญที่ยืนยันถึงฐานะดังกล่าวนี้ของท่านคือ “จิตร ภูมิศักดิ์” กวีนักปฏิวัติร่วมสมัยที่สำคัญยิ่งอีกท่านหนึ่งของวงการกวีนิพนธ์ไทย

งานกวีนิพนธ์ที่โดดเด่นยอดเยี่ยมที่เปล่งประกายแสงแทงทะลุขึ้นเหนือคคนานต์วรรณกรรม-วาบสว่างขึ้นท่ามกลางยุคสมัยอันมืดดำของสังคมไทยช่วงปี 2495 คือกวีนิพนธ์ชื่อ “อีศาน” ที่ท่านเขียนขึ้นเพื่อฉายภาพความ “แล้งร้อน” ของแผ่นดินอีสานยุค “มาลานำไทย” ว่ากันว่างานชิ้นนี้เป็น “ต้นแบบ” ของจุดพัฒนาเชื่อมต่อที่สำคัญยิ่งในการรจนากวีนิพนธ์ไทยประเภท “กาพย์ยานี” ที่เคยรุ่งเรืองสุดขีดในยุคสมัยของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรฯหรือ “เจ้าฟ้ากุ้ง” ผู้ดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งก็คือตำแหน่งองค์รัชทายาทผู้สืบราชสมบัติในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต้นเค้าแห่งราชวงศ์พลูหลวงของกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

จิตร  ภูมิศักดิ์ ได้นำท่วงทำนองจากกาพย์ยานีในบท “อีศาน” ของ “นายผี” นี้เองมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเป็น “ยานีลำนำ” ของท่าน ดังที่ปรากฏในงานชุด “วิญญาณสยาม” อันลือลั่นและงานชุดอื่นๆในช่วงยามเดียวกัน โดยเฉพาะท่อน “เปิบข้าวทุกคราวคำ” ที่คีตกวีอย่างศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สุรชัย  จันทิมาธร นายวง “คาราวาน” นำมาใส่ทำนองขับขานเป็นบทเพลงในยุคหลัง “เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ (2516) จนโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วกระทั่งปัจจุบัน

แต่…บางใครบางกลุ่มในวงการกวีนิพนธ์ไทยยุคต่อมา(จนปัจจุบัน) ที่สนใจ “เชิงลึก” เกี่ยวกับ “อารมณ์กวีแท้” ใน “บทกวีนิพนธ์” มักกระซิบกระซาบกันอยู่เสมอมาไม่น้อยว่างาน “โชว์ฝีมือ” ที่เลอเลิศในคุณค่าแบบ “อ่านแล้วกระทบกึ๋นกวี” แบบล้ำลึกที่สุดของมหากวีนาม “นายผี” ก็คือผลงานกวีนิพนธ์ขนาดยาวเรื่องหนึ่ง ที่ฟังว่าท่านรจนาขึ้นในช่วง “ปีสุกดิบ” ก่อนจะตัดสินใจ “เข้าป่า” ในช่วงปีพ.ศ.2504 (ยุคเผด็จการสฤษดิ์  ธนะรัชต์)แล้วนำ “ต้นฉบับ” ไปฝากไว้กับนักหนังสือพิมพ์นักสู้ร่วมยุคผู้เป็นเครือญาตินาม “อุทธรณ์ พลกุล”

ฟังมาว่าสาเหตุที่ “นายผี” นำต้นฉบับไปฝากไว้กับท่านผู้นี้ก็เพราะ นอกจากท่านผู้นี้จะเป็น “นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม” แล้ว ยังเป็นญาติผู้มีต้นเค้าบรรพบุรุษมาจาก “โยด” เดียวกัน คือ “พระยาพล” อดีตผู้รั้งเมืองหน้าด่านกาญจนบุรีนั่นเอง

เพราะบทกวีขนาดยาวร่วมสมัยชิ้นยิ่งใหญ่ที่ชื่อ “ความเปลี่ยนแปลง” ชิ้นนี้ เป็นเรื่องราวเชิง “อัตชีวประวัติ” ที่ “นายผี”รจนาขึ้นเพื่อบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของชาติตระกูลตัวเอง!

ในช่วงเดือนแห่งวาระครบรอบ 105 ปีชาตกาลของมหากวีผู้ยิ่งใหญ่ “นายผี” (นายของพวกผี) ที่ผู้คนในสังคมไทยมักรู้จักท่านผ่านผลงานเพลงที่ชื่อ “เดือนเพ็ญ” หรือ “คิดถึงบ้าน” อันลือลั่น  จึงอยากเขียนถึงงานกวีนิพนธ์ร่วมสมัยขนาดยาวชิ้นสำคัญดังกล่าวนี้อีกสักครั้ง เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของท่านอัศนี  พลจันทรผู้วายชนม์ “ในทำนองเมื่อกลับไปอ่าน “ความเปลี่ยนแปลง” ของ “นายผี” อีกครั้ง”!

ข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญอีกประการที่คงต้องกล่าวถึงไว้ด้วยก็คือฟังว่า เมื่อ “นายผี” นำต้นฉบับมาฝากคุณอุทธรณ์  พลกุลไว้นั้น ท่านบอกด้วยว่า เรื่องนี้ควรอ่านกันอยู่เฉพาะในวงแคบของเครือญาติ ไม่ควรเผยแพร่ให้กว้างออกไป เพราะมีเนื้อหาเป็นเรื่องจำเพาะ อาจไม่มีประโยชน์กับมหาชน ทั้งยังฟังมาอีกว่า ภายหลังท่านถึงกับมีดำริ “ปฏิเสธ” งานชิ้นนี้เอาทีเดียว!

นี่คือภาพสะท้อนของ “ชีวทัศน์” และ “จิตทัศน์” ของบุคคลที่ครุ่นคำนึงถึงประโยชน์อันพึงเกิดแก่คนส่วนใหญ่หรือ “มหาชนคนข้างมากในสังคม” เป็น “ด้านหลัก” อยู่ตลอดเวลา ผลงานใดที่คิดว่าเป็นเพียง “เรื่องของตัวเองและกลุ่มพวก” จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรส่งเสริมให้เผยแพร่ในวงกว้าง เพราะอาจสื่อสารกับมวลชนได้น้อย มีประโยชน์น้อย หรืออะไรทำนองนั้น

แต่ในความเป็นจริง กวีนิพนธ์ขนาดยาวเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ของ “นายผี” ชิ้นนี้ มีคุณค่าอย่างไร?บางใครเล่าว่า ได้ยิน “กวีรัตนโกสินทร์” เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ เคยออกอุทานเมื่อมีบางใครถามถึงงานชิ้นนี้ของ “นายผี” ทำนอง “ยอดเยี่ยมที่สุด” จากนั้นก็ท่องงานบางบทจากเรื่องนี้ที่ ท่านจำจนติดใจมาตลอดให้บางใครนั้นฟัง ในทำนอง “ซาบซึ้งแบบสุดๆ(appreciate)”

เริ่มตั้งแต่บทเปิดเรื่อง ที่ “นายผี” เปิดฉากบรรยายภาพบริเวณที่ตั้งคฤหาสน์เก่าแก่ที่สืบทอดมรดกกันมาตั้งแต่ยุค “พระยาพล” แห่งเมืองท่าเสา เพชรบุรี เป็นกาพย์ฉบัง 16 ว่า “รื่นร่มชมพู่คู่เพรา/เงื้อมง้ำงามเงา/ผงาดอยู่กลางธรณี…” จนถึงบทพระอาจารย์ตีดาบคู่มือให้ “นายจันทร์” โดยเฉพาะตอนที่บรรยายความคมของดาบ ที่ว่า “นายจันทร์ก็เอาใย/แมลงมุมนั้นโยนมา/หงายคมจะให้คา/ก็กลับขาดไปกลางคม!” (ลองอ่านออกเสียงดังๆดูซิ แล้วจะเข้าใจว่าเสียงและภาพที่เกิดจากบทกวีเช่นนี้ “อลัง” แค่ไหนเพียงใด!)

นี่แหละคือลีลากาพย์ของ “นายผี” นี่แหละคือลีลากาพย์ชั้นครู นี่แหละคือลีลากาพย์เชิงขนบร่วมสมัย (Traditional contemporary)ของบุรุษกวีแท้ ที่รู้สืบขนบมาพัฒนาแบบ “เลือกแก่นทิ้งกาก” ดังที่ “จิตร ภูมิศักดิ์” กวีนักปฏิวัติคนสำคัญของไทยเคยกล่าวถึงไว้

มาตามกันเข้ามา เราจะตามเข้าไปดูความยิ่งใหญ่ และ ความอลังการที่น่ามหัศจรรย์แห่ง “กาพยารมณ์” จากเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ของมหากวี “นายผี” ในวาระครบรอบ 105 ปีแห่งชาตกาลของท่านด้วยกัน…!!!