รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

หลังจากที่รัฐบาล “เศรษฐา 1” เริ่มคิกออฟ แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภา เป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 11-12 ก.ย. 2566 ซึ่งนำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และถือว่าเป็นการเดินทางเข้าสภาฯ เป็นวันแรกของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

 นโยบายเร่งด่วน 5 ข้อ ที่แถลงต่อรัฐสภาและรัฐบาลจะลงมือดำเนินการทันที ได้แก่ 1) การเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 2) การแก้ปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 3) การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน 4) การผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยว และ 5) การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

นโยบายที่เป็นไฮไลต์ของรัฐบาลเศรษฐาคือ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดค่าครองชีพต่าง ๆ เช่น ลดค่าไฟ ลดค่าพลังงาน พักหนี้เกษตรกร ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า รวมไปถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท

ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบบรัฐสภานั้น การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นการบริหารงานของคณะรัฐมนตรี โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าตราบใดที่ยังไม่มีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีก็ไม่สามารถบริหารกิจการบ้านเมืองได้อย่างเต็มรูปแบบ

นราภัทร เพชรมณี และจเร พันธุ์เปรื่อง จากสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่าเหตุผลที่ต้องมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรีไทย เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยประชาชนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาเป็นตัวแทนทำหน้าที่นิติบัญญัติ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีเสียงข้างมากจะเลือกสมาชิกด้วยกันคนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มาจากหลายพรรคการเมืองทำให้ต้องมีการผสมนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ นายกฯและคณะรัฐมนตรีจึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในการบริหารประเทศตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา

ส่วนประโยชน์ของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนจะเข้าบริหารราชการแผ่นดินก็เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีกรอบ การประเมินการปฏิบัติงานของรัฐบาล เพราะนโยบายที่แถลงเป็นการผูกมัดคณะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินตามที่ให้สัญญาเอาไว้ เป็นแนวทางการให้สมาชิกสภาควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยใช้มาตรการตั้งกระทู้ถามหรือยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไป การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบาย รวมถึงการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อไม่ไว้วางใจ

ล่าสุดจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ลดค่าไฟฟ้า จาก 4.10 บาท เหลือ 3.99 บาท ทันทีในรอบบิลเดือน ก.ย. 2566 การลดค่าไฟฟ้าเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและช่วยเหลือภาคเอกชน ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เป็นนโยบายที่ประชาชนและหลายฝ่ายให้ความสนใจมากที่สุด เนื่องจากมีข้อสงสัยต่อตัวนโยบายหลายข้อ อาทิวิธีการใช้งาน รัศมีการใช้งาน ระบบสนับสนุน งบประมาณที่จะนำมาใช้ 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลสั่นสะเทือนต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ

นายกฯเศรษฐา เชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายเชิงเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ คือ เอกชนจะเร่งการลงทุน การจ้างงานล่วงหน้า 3 เดือนเพื่อเตรียมความพร้อม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นล่วงหน้า 3 เดือน โดยในส่วนของภาคธุรกิจก็สามารถทำโปรโมชันแข่งขันกัน ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทจะช่วยต่อยอดสร้างอาชีพ เกิดการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมสร้างประโยชน์ให้ชุมชน

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ซึ่งมาจากพรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยันเกี่ยวกับนโยบายการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า จะยึดในหลักการที่ว่าจะไม่แตะต้องหมวด 1 และ หมวด 2 ซึ่งต้องเร่งให้สำเร็จภายใน 4 ปี โดยจะพยายามทำให้เร็วที่สุด หากมีการทาบทามตัวบุคคลแล้วจะแจ้งให้สื่อทราบต่อไป จากนั้นจะเร่งทำงานทันทีเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลอยากให้เกิดขึ้นและอยากให้ประชาชนสบายใจ

อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาล “เศรษฐา 1” ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “หากินกับของเก่า” เป็นนโยบายประชานิยมแบบเดิม ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจนอย่างแท้จริง และบางกรณีอาจทำให้ประชาชนเสพติดนโยบายประชานิยมหนักกว่าเดิม ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ เคยกล่าวว่านโยบายของรัฐบาล “เศรษฐา 1” เป็นนโยบายเลื่อนลอย ขาดความชัดเจน นโยบายที่แถลงกับที่หาเสียงเป็นหนังคนละม้วน เรียกได้ว่านโยบายไม่ตรงปก

เพื่อเป็นการตรวจวัดความคิดเห็นของประชาชนชาวไทยที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา 1 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงทำการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “5 นโยบายเร่งด่วนรัฐบาลเศรษฐา” ผ่านประเด็นคำถาม 3 ข้อ คือ 1) ท่านคิดอย่างไร กับ “5 นโยบายเร่งด่วน” ที่รัฐบาลประกาศว่าจะดำเนินการทันที 2) ท่านคิดว่า “5 นโยบายเร่งด่วน” ที่รัฐบาลประกาศ จะทำสำเร็จหรือไม่ และ 3) นอกจาก 5 นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลเศรษฐาประกาศ ท่านอยากให้ทำนโยบายใดเพิ่มเติม

ผู้อ่านคงต้องคอยติดตามผลสำรวจเกี่ยวกับนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งจะเผยแพร่เร็ว ๆ นี้ล่ะครับ ว่าประชาชนคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาลนายกฯเศรษฐากันอย่างไรบ้าง และคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพ ความสำเร็จ และ ความล้มเหลวของนาย(ก)เศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐมนตรีกันไป