ยูร กมลเสรีรัตน์
สงบและอบอุ่น
1.ความสุขหลังวางมือจาก “ฟ้าเมืองไทย”
“ปีเดือนอันลุ่ม ๆ ดอน ๆ ค่อย ๆ รวมชีวิตของผมให้กร้านและเกรียม เอาความบ้าบิ่นทำงานใส่มือไว้ เพื่อปลอบใจว่าเราไม่ใช่ผู้ชายที่เกียจคร้าน เอาการโลดโผนมาสลับไว้เป็นมหรสพ แล้วเอาเหล้าคอยกลั้วไว้ไม่ให้ฝืดแห้งจนเกินไป”
“เหล้ามันเป็นความบันเทิงสำหรับคนในที่กันดาร มันเป็นทั้งวิตามินให้แก่ร่างกายอันเมื่อยล้า แล้วมันยังเป็นเทพธิดาส่องแสงให้แก่ดวงใจอันว้าเหว่ด้วย”
“ผมกินเหล้า มันเป็นมายากลที่ทำให้ผมเห็นช้างเท่าหมู”
“หนี้สินอันเกิดจากการดื่มอย่างเพลิดเพลินนี่เอง ได้กลายมาเป็นกรงเล็บที่บีบให้ผมไม่กระดิกกระเดี้ยไปไหนได้”
“วันเดือนปีของชาวเรือขุด มันก็เป็นไปอย่างนี้ มันเข้ามาทางหัวเรือ แล้วก็ผ่านไปเป็นอดีตอยู่ท้ายเรือ”
วาทะที่คมคายที่ยกมาเพียงเศษเสี้ยวจากเรื่องชุด เหมืองแร่ดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นถึงปูมหลังของเด็กหนุ่มคนหนุ่มที่ตรากตรำทำงานแต่ละวันจมอยู่ในเหมืองแร่ ดินแดนอันโหดร้ายที่ไม่เคยปรานีมนุษย์หน้าไหน มันเป็นงานที่หนักหนาสาหัส ซึ่งต้องเอาชีวิตเข้าแลก
ชีวิตกรรมกรเหมืองแร่ที่ทำงานหนัก เพื่อแลกกับเงินอันน้อยนิด แทบไม่พอยาไส้ มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ เขามองไม่เห็นอนาคตของตัวเองแม้แต่นิดว่าชีวิตของเขาจะดีขึ้นกว่านี้ นอกจากจมปลักอยู่กับขวดเหล้าแล้ว ยังพกแต่หนี้สิน
คนที่อ่านเรื่องชุด เหมืองแร่ หากมองดูเพียงผิวเผิน บางคนอาจจะไม่รู้สึกอะไรลึกซึ้ง แม้จะเป็นวรรณกรรมชั้นดี อ่านสนุกและให้ข้อคิดกับชีวิต แต่ถ้ามองให้ลึกถึงชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มรุ่นที่ผิดพลาดกับชีวิต กระทั่งถูกรีไทร์จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง แล้วระหกระเหินไปเป็นกรรมกรเหมืองแร่ที่ภาคใต้ การที่เด็กหนุ่มเมืองกรุง ซึ่งเคยใช้ชีวิตอย่างสำอาง มีแต่ความสุขสบาย ไม่เคยทำงานหนัก
มาก่อน แต่ชะตาชีวิตทำให้ต้องกระโจนเข้าไปทำงานในเหมือง ผจญกับงานหนักอย่างแสนสาหัสและใช้ชีวิตกับคนชั้นกรรมกรสารพัดแบบ เขาจะต้องกัดฟันต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ มากมายเพียงใด จึงจะมีลมหายใจยืนหยัดให้มีชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวัน นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงจิตใจอันแข็งแกร่งที่ซุ่มซ่อนอยู่ในรูปร่างอันผ่ายผอม
ที่สำคัญ จะมีสักกี่คนที่จะก้าวอุปสรรคที่ประดุจกำแพงทะมึนขวางกั้นดังกล่าว กล้าตัดสินใจด้วยหัวใจอันเด็ดเดี่ยว หันหลังให้เหมืองแร่ มุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งเข็มชีวิตเอาไว้ จนกระทั่งพบความสำเร็จในเส้นทางของนักเขียน อีกทั้งบทบาทของบรรณาธิการ
ยากมาก ยากเหลือเกินที่ใครจะทำได้ แม้แต่อาจินต์ ปัญจพรรค์เองก็ไม่รู้หรอกว่าตนเองจะได้เป็นนักเขียนชื่อขจรทั่วฟ้าเมืองไทย เขารู้เพียงอย่างเดียวว่า เขาต้องเอาชนะตัวเองให้ได้ ไม่ใช้ชีวิตเรื่องเปื่อยไร้สาระเหมือนในอดีตอีกต่อไป นี่คือการพิสูจน์ตัวเองของความเป็นลูกผู้ชายโดยแท้
ครั้งหนึ่งที่สัมภาษณ์อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ได้เป็นนักเขียน เขาจะทำอะไร เขาให้คำตอบว่า...
“ถ้าผมไม่ได้เป็นนักเขียน ผมก็จะเป็นนักหนังสือพิมพ์ เอาภาษาไทยที่ผมรักไปเผยแพร่”
แต่เขาเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียน ด้วยชีวิตมนุษย์ทุกคนถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิด อาจินต์ ปัญจพรรค์ก็เช่นเดียวกันกับนักเขียนคนอื่น ดังที่เขากล่าวเสียงดังทุ้มเพียงสั้น ๆ
“ทุกคนเกิดมา Born to be” แล้วเขาขยายความต่ออย่างยืดยาวว่า...
“Born to be คนเราจะเป็นอะไร มันต้องได้เป็น ถ้าเกิดมาเพื่อจะเป็นสิ่งนั้น ดูอย่างคำพูน บุญทวี เป็นลูกชาวนา ถีบสามล้อ เป็นผู้คุม เป็นสารพัดอาชีพ เขียน“ลูกอีสาน”ลงในฟ้าเมืองไทย ดังเลย ต๊ะ ท่าอิฐ เป็นไกด์ เขียนเรื่องไกด์ จนขายดิบขายดี อั้น สัตหีบ เขียนเรื่องเซลล์แมน เปรียวมาก คนติดกัน เอาประสบการณ์ของตัวเองมาเขียนให้น่าอ่าน ไม่ได้จินตนาการ เรื่องจริงคือเสน่ห์ของความจริง”
Born to be-คำสั้น ๆ นี้ ไม่ต้องอธิบายมากเลย หากใครไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักเขียนแล้ว ชีวิตย่อมหักเหไปเส้นทางอื่น ในทางกลับกัน หากเขาคนนั้นเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียน แม้จะหันเหไปทำอย่างอื่นหลายอย่าง ในที่สุดก็หวนกลับมาเดินบนเส้นทางนักเขียน
ด้วยเหตุนี้ หลังจาก อาจินต์ ปัญจพรรค์ เลิกทำนิตยสารฟ้าเมืองไทยและนิตยสารทุกฉบับ ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา เขาได้ทุ่มเทเวลาและหัวใจให้กับการเขียนหนังสืออย่างเต็มตัว ไม่ต้องเขียนหนังสือด้วยความพะวักพะวัน เพราะต้องแบกภาระหน้าที่บรรณาธิการอันหนักอึ้งเหมือนเมื่อก่อน
ในช่วงนั้นนวนิยายเรื่อง “สนิมนา” ในนามอาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้ไปแสดงฝีมือในนิตยสารข่าวพิเศษ(เดิมชื่อ อาทิตย์) ของ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ นวนิยายเรื่องนี้เกิดจากที่เขาไปเห็นชีวิตของ
ชาวนาที่ชานเมืองกรุงเทพฯที่ทำนามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เมื่อมาถึงรุ่นหลังกลับปลูกข้าวไม่ขึ้น เพราะใส่ปุ๋ยเคมีมาเป็นเวลานาน หน้าดินจึงเป็นฝ้าขาว เขาเรียกเองว่า “สนิม” จึงเกิดนวนิยายเรื่อง “สนิมนา”ขึ้น โดยผูกเรื่องให้เห็นถึงวงจรชีวิตในชนบทที่มีความเกี่ยวพันกันของชาวบ้าน พระและนักเลง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของยุคสมัย
ในเวลาต่อมา อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้ไปวาดฝีมืออีกครั้งที่นิตยสารบางกอกสแควร์ ในเครือบางกอกของวิชิต โรจนประภา มีศรี ชัยพฤกษ์ นามปากกา “อรชร”ผู้เขียนเรื่อง ร้อยป่า และอีกมากมาย เป็นที่ปรึกษา เขาเล่าด้วยสีหน้าเบิกบานว่า
“คุณวิชิต เป็นผู้ใหญ่กว่าผม เขามาขอเรื่องผมที่เป็นเด็กกว่า ผมถือว่าให้เกียรติผมมาก”
“จะเป็นนักเขียน ไม่ใช่เขียนเรื่องสั้นสอง-สามเรื่อง แล้วบอกว่าเป็นนักเขียน มันต้องเขียนทั้งชีวิตซีโว้ย จึงจะเป็นของแท้”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)