รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

คำว่า "พื้นที่การเรียนรู้" (Learning Space) มีแนวคิดที่เป็นต้นกำเนิดจากศาสตร์ด้านการศึกษาและการสอน ซึ่งหมายถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพหรือเสมือนจริงที่มีกิจกรรมการเรียนการสอนเกิดขึ้น แนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่การเรียนรู้มีการพัฒนาไปตามกาลเวลาเพื่อสร้างหรือออกแบบพื้นที่และสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้ส่งเสริมแนวทางการศึกษาที่หลากหลายและเป็นพลวัต

ต้นกำเนิดของคำว่า “พื้นที่การเรียนรู้” สามารถย้อนกลับไปในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อนักการศึกษาและนักวิจัยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อมทางกายภาพในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อกล่าวถึงคำว่า “พื้นที่การเรียนรู้” จะเน้นว่าคือพื้นที่เฉพาะทางการศึกษาเท่านั้น ได้แก่ ห้องเรียน (Classrooms)  และห้องเล็กเชอร์ (Lecture Halls)

เมื่อแนวปฏิบัติด้านการศึกษาพัฒนาขึ้น แนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่การเรียนรู้ก็มีการพัฒนาขึ้นตามติดมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลและการเรียนรู้ออนไลน์ส่งผลให้คำว่า "พื้นที่การเรียนรู้" ขยายไปสู่สภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนและมีส่วนร่วมในกิจกรรมการทำงานร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนให้ผู้คนตระหนักรู้ว่าการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงสถานที่ทางกายภาพที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น แต่พื้นที่การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมและบริบทที่หลากหลายและแตกต่าง

ปัจจุบัน คำว่า "พื้นที่การเรียนรู้" นำมาใช้ในเชิงวาทกรรมทางการศึกษา เพื่อให้ครอบคลุมสภาพแวดล้อมทางกายภาพและดิจิทัลที่หลากหลาย รวมถึงห้องเรียนแบบดั้งเดิม ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ แพลตฟอร์มออนไลน์ พื้นที่ทำงานร่วมกัน และอื่น ๆ โดยเน้นย้ำแนวคิดที่ว่าการออกแบบและลักษณะของพื้นที่สามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประสบการณ์การเรียนรู้และผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Experience and Outcomes)

การสร้างหรือพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ทางกายภาพ (Physical Learning Space) ภายในมหาวิทยาลัย อาจกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมชื่อเสียงที่ดีให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนอย่างรอบคอบ ความใส่ใจในรายละเอียด และความมุ่งมั่นในการส่งมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

แนวทางเบื้องต้นในการสร้างหรือพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ทางกายภาพเพื่อส่งภาพลักษณ์เชิงบวกและชื่อเสียงที่ดีของมหาวิทยาลัย
อาจดำเนินการเป็นขั้นตอนตั้งแต่การระบุเป้าหมายและวัตถุประสงค์เฉพาะที่ต้องการบรรลุบนพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ การประเมินความต้องการด้านความประพฤติและความชอบของผู้เรียนและคณาจารย์ การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้โดยการทำงานร่วมกับสถาปนิกและนักออกแบบเพื่อสร้างพื้นที่ที่สะท้อนถึงพันธกิจค่านิยม และอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย การบูรณาการเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ล้ำสมัยเพื่อสนับสนุนวิธีการสอนที่หลากหลาย เช่น การแสดงผลแบบโต้ตอบ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับการเรียนรู้ออนไลน์และการเรียนรู้แบบผสมผสาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการสร้างหรือพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ทางกายภาพของมหาวิทยาลัย ควรมีการประเมินผลแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิผลของการใช้พื้นที่การเรียนรู้ผ่านการสำรวจความคิดเห็น  และการให้ข้อเสนอแนะ  ตลอดจนการติดตามผลกระทบด้านชื่อเสียงว่าพื้นที่การเรียนรู้ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง โดยการรับฟังความคิดเห็น คำชม คำวิพากษ์วิจารณ์ และ
การประเมินผลความพึงพอใจของผู้ใช้พื้นที่การเรียนรู้กลุ่มต่าง ๆ เช่น ผู้เรียน คณาจารย์ บุคลากร ฯลฯ

ตัวอย่างห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้สมัยใหม่ และเพิ่งเปิดบริการให้กับนักศึกษาเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา “Stephen S. Clark Commons” : The Learning Commons at the University of Michigan (อ่านเพิ่มเติม - https://www.lib.umich.edu/about-us/news/clark-commons-opens)

“The Clark Commons” หรือ "The Learning Commons" นี้ ตั้งอยู่บริเวณชั้น 3 ของ “Shapiro Library” ซึ่งเป็นห้องสมุดระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ขนาด 37,000 ตารางฟุต เป็นพื้นที่การเรียนรู้เชิงนวัตกรรมที่ปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยเข้ากับ
บริบทใหม่ทางการศึกษาและผู้ใช้บริการ  การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้เน้นให้นักศึกษาได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่นบนพื้นที่การทำงานร่วมกันที่ครอบคลุมไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Wi-Fi ความเร็วสูง หน้าจอสัมผัสแบบโต้ตอบ และจอแสดงผลดิจิทัลรองรับรูปแบบ
การเรียนรู้และความต้องการที่แตกต่าง ทั้งนี้นักศึกษาและผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ของตนเองได้สะดวก พร้อมเข้าถึงแหล่งข้อมูลดิจิทัลมากมายได้ง่าย ๆ

คุณสมบัติและจุดเด่นของ “The Clark Commons” มีหลายประการ อาทิ พื้นที่ใช้งานที่ยืดหยุ่นใช้งานได้แบบอเนกประสงค์ ประกอบด้วยพื้นที่อ่านหนังสือที่เงียบสงบ “Peaceful Space” ขนาด 200 ที่นั่ง โซนการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มบนพื้นที่เปิดโล่งพร้อมเฟอร์นิเจอร์ที่เคลื่อนย้ายได้ ผนังที่เขียนได้ และหน้าจอขนาดใหญ่สำหรับการทำงานกลุ่ม การระดมความคิด การทำงานร่วมกัน และการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

นอกจากนี้ยังมีสตูดิโอผลิตสื่อมัลติมีเดียให้กับนักศึกษาใช้สร้างและแก้ไขเนื้อหาหรือข้อมูลเสียง ภาพแอนิเมชัน หรือวิดีโอ เพื่อรองรับ
โปรเจกต์และการทำงานที่ต้องใช้องค์ประกอบมัลติมีเดีย พื้นที่จัดกิจกรรม เวิร์กช็อป และการสัมมนาในหัวข้อเกี่ยวกับความรู้ดิจิทัล
ทักษะการวิจัย และเทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อช่วยยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ บริเวณคาเฟ่และเลานจ์ มีพื้นที่นั่งที่สะดวกสบาย
เป็นโซนสบาย ผ่อนคลาย คลายเครียด และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการซึ่งผู้ใช้บริการสามารถพักผ่อนและพูดคุยกับเพื่อน

“The Learning Commons” เป็นผลงานที่ดีเยี่ยมของมหาวิทยาลัยมิชิแกนบนความคิดและความร่วมมือของทีมผู้บริหาร
นักเทคโนโลยีด้านการศึกษา บรรณารักษ์ และนักออกแบบการเรียนรู้ทั้งแบบดิจิทัลและแบบดั้งเดิม และเป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่
การเรียนรู้สมัยใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกการเรียนรู้ยุคดิจิทัล “ยืดหยุ่น ทำงานร่วมกัน ไม่แบ่งแยก และบูรณาการเทคโนโลยี” เพื่อยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของมนุษย์และสังคมดิจิทัล