ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

บำเหน็จแห่งการทำงาน

2. “เหมืองแร่” สู่จอเงิน

40 ปีกับการพิมพ์เรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ มีนักอ่านหลายต่อหลายคนที่ติดตามอ่านเรื่องสั้นชุดนี้ด้วยความหลงใหลในเสน่ห์ของเรื่องราวและสำนวนภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอาจินต์ ปัญจพรรค์ นอกจากนี้ยังได้รับการกล่าวถึงและยกย่องจากคนในวงการหนังสือหลายคน ขอยกมาเป็นตัวอย่าง... “เหมืองแร่ของพี่อาจินต์ คือครูเรื่องสั้นและหลักการใช้ภาษาของผม” (เชิด ทรงศรี ผู้กำกับภาพยนตร์มือทอง-ล่วงลับแล้ว)

“เรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ มีอิทธิพลต่อสังคม คือสร้างพลังใจและลบปมด้อย ของตนเองและนิสิตนักศึกษาที่ไม่ประสบความสำเร็จในหมาวิทยาลัย มีคำกล่าวของอาจินต์ว่า ข้าพเจ้าได้ฆ่าวิศวกรไปคนหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าได้สร้างนักเขียนขึ้นมาคนหนึ่งในประเทศไทย”(หยก บูรพา นักเขียนมือรางวัล ผู้เขียน “อยู่กับก๋ง”)

“ถ้าวัยรุ่นอยากอ่านวรรณกรรมรุ่นเก่า ก็อยากให้อ่านเรื่องนี้ จะได้เห็นว่า เรื่องสั้นดี ๆ มีวิธีปูเรื่องอย่างไร เขาจบหักมุมอย่างไร ใช้ภาษาอย่างไร ได้ทราบการทำเหมืองแร่และวัฒนธรรมปักษ์ ใต้ที่ได้สอดแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง”(สุภาพ คลี่ขจาย อดีตนักหนังสือพิมพ์และผู้บริหารไอทีวี)

“ผมอ่านตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ความรู้สึกที่จำได้คือ อ่านแล้วมันอินกับเรื่อง ประทับใจมากครับ เพราะเราไม่เคยคิดมาก่อนว่า สามารถเอาชีวิตจริงมาผูกเป็นเรื่องได้ คุณเด่นของคุณอาจินต์คือ ใช้ภาษาสั้น กระชับ ถือเป็นผลงานที่ใช้ศึกษาเขียนเรื่องสั้นได้”(วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์)

“จุดเด่นของอาจินต์คือ การเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอด เขาเล่าเรื่องอย่างธรรมดา ๆ ไม่ได้ใช้เทคนิคที่แปลกพิสดาร หรือใช้ภาษาสวิงสวยอะไรมากมายนัก แต่เรื่องที่เขาเล่า หนักแน่น ชัดเจน และมีพลัง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในงานของเขาคือ เขารู้จริงในเรื่องที่เขาเขียนถึงเสมอ จนบางครั้ง

รู้สึกว่า มันไม่ใช่แค่งานเขียน แต่เป็นชีวิตทั้งชีวิตที่หลั่งไหลออกมาบนหน้ากระดาษ”(จรูญพร ปกปักษ์ประลัย นักวิจารณ์รางวัลกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ)

“พ็อกเก็ตบุ้ค ‘โอเลี้ยง 5 แก้ว’ กับ ‘ฟ้าเมืองไทย ‘คือ โรงเรียนสอนการเขียนหนังสือ 2 โรงเรียนแรกของผม และทั้งสองโรงเรียนมีอาจารย์ใหญ่ท่านเดียวกัน ชื่อ พี่อาจินต์ ปัญจพรคค์”(พลโทบวร ชวาลศิลป์ นายทหารนักเขียน)

คนที่อ่านเรื่องชุดเหมืองแร่ นอกจากหลงใหลในเสน่ห์ของเรื่องราวแล้ว บางคนฮึดสู้ชีวิตขึ้นมาก็มีและมุ่งมั่นจะทำความฝันของตนเองให้สำเร็จเหมือนกับอาจินต์ ปัญจพรรค์ ในบรรดานักอ่านเหล่านี้ มีทั้งคนที่ได้รับอิทธิพลจากอ่านโดยตรงและโดยอ้อม บางคนได้อ่านจากหนังสือของพ่อที่เก็บสะสมไว้ บางคนเป็นหนังสือของพี่

ดังเช่นจิระ มะลิกุล ผู้กำกับและผู้เขียนบทภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง มีผลงานเด่นหลายเรื่องได้แก่ 15 ค่ำ เดือน 11 พรจากฟ้า รัก 7 ปี ดี 7 หน แฟนฉัน เป็นอาทิ เขาชื่นชอบงานเขียนชุด เหมืองแร่ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบ เพราะพ่อเป็นแฟนหนังสือของสำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว แม้จะไม่เข้าใจเรื่องราวอะไรนักตามประสาเด็ก

“ผมโตมาก็เห็นหนังสือชุดนี้ของพ่ออยู่เต็มบ้าน การอ่าน ‘เหมืองแร่’ครั้งแรก ผมก็แค่ได้รู้ว่า มีการทำเหมืองแร่ที่ภาคใต้”เขาสารภาพตามตรง “ได้ไอเดียว่าเขามีการทำเหมืองแร่ แต่ขบวนการทำเหมืองแร่ก็จะอ่านผ่าน ๆ ไป แล้วความสัมพันธ์แบบลูกผู้ชายก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ถ้าเป็นแอ็คชั่นก็พอจะเข้าใจ

แล้วผมก็มาเห็นอีกทีตอนเพิ่งจบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ประมาณปี 2525 ผมพบว่า ‘เหมืองแร่’ที่ผมเคยอ่านตอนเล็ก ๆ  ทำไมมันสว่างเข้ามาในความรู้สึกนึกคิดของผมเลยนะ เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง เข้าใจชีวิตของเด็กรีไทร์...”

เมื่อเขาผ่านการทำงานเป็นเวลาหลายปี เมื่อได้อ่านอีกครั้ง ความรู้สึกเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยอ่านครั้งแรก เขาพบว่า

“คุณอาจินต์บรรยายสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวหนังสือดีจริง ๆ จนทำให้ผมเห็นภาพ เหมือนกับว่าเคยเห็นภาพเหล่านั้นมาแล้ว มันชัดเจนมาก แอ็คชั่น-เหตุการณ์-ตัวละคร-บุคลิกของคน....เหมืองแร่เป็นเรื่องชองคนแท้ ๆ เลยครับ ทั้งหมดทุกตัวละครคือคนเลย ไม่ว่าบางเรื่องแอ็คชั่นจะโลดโผนยังไง แต่ในที่สุดแล้วก็กลับมาที่คน

ผมพบว่าทุก ๆ ตอนนั้นประกอบรวมกันขึ้นมาและเราพบสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ มนุษย์ในหนังสือเรื่องนี้กำลังพิสูจน์ตัวเองบางอย่าง พิสูจน์ว่าเขาเป็นคนกล้า พิสูจน์ว่าเขาเป็นคนดี....คือจะต้องมีอะไรบางอย่างในเป้าหมายชีวิต ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่า จริง ๆ แล้ว  มนุษย์เราเกิดมาเพื่อค้นหาและพิสูจน์ตนเองเป็นเป้า ผมจึงสรุปเป็น theme ในใจเลย...คือถ้าผมจะทำหนัง ธีมของหนังเรื่องนี้

จะบอกว่าเกียรติของคนนั้น ต้องขุดด้วยตัวเอง คำพูดนี้ไม่ได้มีในหนังสือ แต่ผมอ่านจบแล้ว ผมได้บทสรุปแบบนี้”

จิระมะลิกุลให้ความเห็นว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การต่อสู้เพื่อตนเองของเด็กรุ่นใหม่แทบจะไม่รับรู้ถึงการลงทุนด้วยความเหนื่อยยากหรือพิสูจน์ตัวเอง เพื่อค้นหาตัวตนภายใน...

“...ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ไม่มีเกียรติยศอะไรให้เราเลย ถ้าเราไม่ขุดเอง ผมพบว่าหนังสือ ‘เหมืองแร่’ซึ่งเขียนถึงเหตุการณ์ในปี 2492 ยังเป็นความเป็นจริงจนถึงปี 2547 มันแตกต่างกันในรายละเอียดของแฟชั่น เสื้อผ้า แล้วก็ความเป็นไปของโลก แต่ในตัวตนและความเป็นมนุษย์และการทำงาน ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรแตกต่างกัน เด็กคนหนึ่งก็ยังถูกรีไทร์ได้ เด็กคนหนึ่งยังรู้สึกเป็นผู้สูญเสียทุกอย่างในโลก แล้วต้องพิสูจน์ตัวเองขึ้นมาจากอะไรบางอย่าง...”

เขาจึงมีปณิธานอันมุ่งมั่นที่จะสร้างภาพยนตร์ให้คนรุ่นใหม่ดู ซี่งเขาจะรู้สึกดีใจมาก ถ้าเขาสามารถบรรลุพรมแดนของการสร้างภาพยนตร์ สามารถสร้างภาพยนตร์ให้คนรุ่นใหม่ดู ด้วยตัวเนื้อเรื่องของ “เหมืองแร่”เป็นการพูดถึงคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน...

“คนที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเข้าสู้สนามเพลาะ คือ ตัวละครเป็นวัยรุ่นที่เดินหนีออกจากมหาวิทยาลัย ผมรู้สึกว่าบรรดาความเป็นพีเรียด หรือความเก่าย้อนยุคนั้น เป็นแค่องค์ประกอบฉากเท่ ๆ เท่านั้น แต่ว่าในที่สุดของประเด็นแล้ว ผมอยากทำหนังให้คนรุ่นใหม่ดู...”

นี่คือส่วนหนึ่งของแรงจูงใจจากหนังสือชุด “เหมืองแร่”ที่ทำให้จิระ มะลิกุล สร้างภาพยนตร์เรื่องเรื่อง “มหา’ลัยเหมืองแร่” เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของเขา และเหตุผลสำคัญก็คือ เขาต้องการสร้างภาพยนตร์ให้คนรุ่นใหม่ได้ดู เพื่อซึบซับไว้เป็นบทเรียนชีวิตที่จะก้าวต่อไปในวันข้างหน้าอย่างมีศักดิ์ศรี

“มหา’ลัยเหมืองแร่” เป็นภาพยนตร์ระดับคุณภาพที่ออกฉายในปี 2548 ปี 2549 ได้รับรางวัลหลายรางวัลคือ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 15 ถึง 6 สาขา รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 14 รางวัลเฉลิมไทยครั้งที่ 3 รางวัลสตาร์ แอนด์ เดอะ เทนเม้นท์ ครั้งที่ 4 รางวัลสตร์พิคส์ ครั้งที่ 3 และรางวัลคมชัดลึก อะวอร์ด ครั้งที่ 3

นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทย มีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 78 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม และยังได้ฉายโชว์ในเทศกาลภาพยนตร์ “ปูซาน”ที่ประเทศเกาหลี ทั้งสองอย่างนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติยศสูงสุดของผู้กำกับหนุ่มที่ชื่อ จิระ มะลิกุล ผู้ที่มีความศรัทธาในหนังสือชุด เหมืองแร่ของอาจินต์ ปัญจพรรค์

 

 

“เขาอาจจะไม่ได้รับลาภผล,ชื่อเสียงโด่งดังนัก แต่เขาเป็นคนที่หากปรากฏขึ้นในห้วงมโนนึกของเพื่อนคนใด เพื่อนคนนั้นก็ปราศจากความรังเกียจ หากแต่นึกสบายใจ”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)